×

ประวัติศาสตร์กระสุนยาง: อาวุธที่ไม่ได้หมายมั่นให้ใครตาย (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น)

27.09.2021
  • LOADING...
กระสุนยาง

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • กระสุนยางใครเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แล้วมันคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร เพื่อใช้ทำอะไรกันเล่า
  • กระสุนยางที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาโดยกระทรวงป้องกันประเทศของอังกฤษ (British Ministry of Defence) เพื่อใช้ต่อกรกับผู้ประท้วงโดยสงบในไอร์แลนด์เหนือ กับเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Troubles โดยมีการใช้ครั้งแรกในปี 1970 มีรายงานว่าในช่วงของ The Troubles นับตั้งแต่ปี 1970-1998 (คือเกือบ 30 ปี) มีการใช้กระสุนยางไปมากกว่า 120,000 นัด
  • คนแรกในโลกที่มีรายงานว่าตายเพราะโดนกระสุนยาง ก็คือเด็กวัยแค่ 11 ขวบ ชื่อ ฟรานซิส โรว์นทรี (Francis Rowntree) โดย The Irish Times ได้รายงานเอาไว้ในวันที่ 11 มิถุนายน 1997 ว่า ตลอดช่วง The Troubles นั้น มีคนที่ถูกกระสุนยางยิงแล้วเสียชีวิตรวมทั้งหมดถึง 17 คน และ 8 คนเป็นเด็กหรือวัยรุ่น
  • ที่จริงแล้วกระสุนยางได้รับการออกแบบให้ ‘ต้องยิง’ ลงไปในที่ต่ำ เช่น ยิงลงถนน แล้วค่อยกระดอนขึ้นไปโดนบริเวณขาในระดับหัวเข่า แต่กระนั้น การใช้กระสุนยางก็พิสูจน์แล้วว่าควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยโทสะอารมณ์ของผู้ใช้ หรือแม้แต่จากความไม่แม่นยำของตัวกระสุนเองก็ตาม

กระสุนยางหรือ Rubber Bullets นั้น ถือเป็นยุทโธปกรณ์ประเภทที่เรียกว่า Nonlethal คือใช้แล้วไม่ได้ร้ายแรงทำให้ใครถึงตาย หรืออย่างน้อยก็มีจุดมุ่งหมายที่จะไม่ได้ ‘สังหาร’ ใคร

 

อย่างไรก็ตาม การบอกว่ากระสุนยางคือกระสุนยางนี่ ชื่อก็ผิดแล้วนะครับ เพราะในบรรดากระสุนยางที่มีการผลิตกันออกมาทั้งหมด (ประมาณว่ามีอยู่ด้วยกัน 75 แบบ) มีน้อยเจ้ามากที่ผลิตขึ้นจาก ‘ยาง’ จริงๆ 

 

บางเจ้าก็จะใช้ก้อนตะกั่ว (Lead Pellets) บางเจ้าก็ใช้ชิ้นส่วนโลหะแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะฟังดูเหมือนอันตราย แต่ที่จริงแล้วมันถูกสร้างขึ้นมาให้เกิด ‘แรงปะทะ’ แบบที่ไม่ได้ ‘เจาะทะลุ’ เหมือนกระสุนทั่วไปที่มีอานุภาพรุนแรงกว่ามาก

 

แต่นั่นไม่ได้แปลว่ากระสุนยางจะเป็นเหมือนปุยนุ่น เพราะมันอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหนัก ไม่ว่าจะเป็นตาบอด เกิดความพิการถาวร หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ด้วย

 

มีข้อมูลบอกว่า อัตราการใช้กระสุนยางที่ทำให้เสียชีวิต (Fatality Rate) นั้น อยู่ที่ราว 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด (เป็นสถิติแบบทั่วโลกหรือ Worldwide) ที่อยู่ที่ 2% เสียอีก

 

พูดง่ายๆ ก็คือ โดยสถิติเชิงประจักษ์ คนเราสามารถตายเพราะกระสุนยางได้ง่ายกว่าตายเพราะโควิด!

 

คำถามก็คือ แล้วกระสุนยางนี่ ใครเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แล้วมันคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร เพื่อใช้ทำอะไรกันเล่า

 

กระสุนยางในรูปแบบกระสุนยางที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาโดยกระทรวงป้องกันประเทศของอังกฤษ (British Ministry of Defence) เพื่อใช้ต่อกรกับผู้ประท้วงโดยสงบในไอร์แลนด์เหนือ กับเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Troubles โดยมีการใช้ครั้งแรกในปี 1970

 

The Troubles ก็คือเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษ ซึ่งจริงๆ กินเวลายาวนานถึงราว 30 ปี ตั้งแต่ทศวรรษ 60 มาจนถึงปี 1998 ความขัดแย้งนี้มีหลายระดับ ทั้งระดับที่ใช้ความรุนแรง มีการก่อการร้าย จนถึงระดับที่มีการประท้วงอย่างสันติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่กระนั้น ในบางกรณีตำรวจก็ยังเห็นว่าจำเป็นต้องหาวิธี ‘ควบคุมฝูงชน’ ให้ได้ ซึ่งกระสุนยางก็เป็นวิธีการหนึ่ง มีรายงานว่าในช่วงของ The Troubles นับตั้งแต่ปี 1970-1998 (คือเกือบ 30 ปี) มีการใช้กระสุนยางไปมากกว่า 120,000 นัด

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูประวัติศาสตร์ของสิ่งที่ ‘คล้ายๆ’ กระสุนยาง คือการสร้างความพยายามจะควบคุมฝูงชนด้วยอาวุธประเภท Nonlethal คือไม่ทำให้ถึงตายแล้วล่ะก็ ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ย้อนกลับไปได้นานมากกว่าร้อยปีเลยทีเดียว เพราะแม้แต่ ‘กระบอง’ ของตำรวจในยุควิกตอเรียนของอังกฤษ ก็ถือว่าเป็นอาวุธประเภท Nonlethal เหมือนกัน แต่ถ้าจะนับอาวุธประเภทที่มีการ ‘ยิง’ หรือเป็นการปล่อยอาวุธออกมาในวิถีโค้ง (เรียกว่าเป็น Nonlethal Projectiles) หรือบางทีก็เรียกว่า Kinetic Impact Projectiles (เรียกย่อๆ ว่า KIPs) ก็อาจจะใหม่กว่านั้นขึ้นมาหน่อย

 

มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในอังกฤษ รวมถึงในดินแดนอาณานิคมอย่างสิงคโปร์ เคยใช้ ‘กระสุนไม้’ ในการควบคุมฝูงชนมาก่อนในทศวรรษ 1880 โดยใช้ด้ามไม้กวาดนำมาตัดเป็นชิ้นๆ แล้วเอามายิง แม้วัตถุประสงค์คือจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่ไม่เจาะทะลวง แต่ปรากฏว่ากระสุนไม้พวกนี้ร้ายกาจมาก เพราะไม้จะแตกเป็นเสี้ยนชิ้นเล็กๆ แล้วฝังเข้าไปในเนื้อมนุษย์ตามที่ต่างๆ จึงอันตรายเอามากๆ

 

แต่กระสุนยางยุคใหม่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยไร้อันตราย คนแรกในโลกที่มีรายงานว่าตายเพราะโดนกระสุนยาง ก็คือเด็กวัยแค่ 11 ขวบ ชื่อ ฟรานซิส โรว์นทรี (Francis Rowntree) โดย The Irish Times ได้รายงานเอาไว้ในวันที่ 11 มิถุนายน 1997 ว่า ตลอดช่วง The Troubles นั้น มีคนที่ถูกกระสุนยางยิงแล้วเสียชีวิตรวมทั้งหมดถึง 17 คน และ 8 คนเป็นเด็กหรือวัยรุ่น

 

ที่จริงแล้วกระสุนยางได้รับการออกแบบให้ ‘ต้องยิง’ ลงไปในที่ต่ำ เช่น ยิงลงถนน แล้วค่อยกระดอนขึ้นไปโดนบริเวณขาในระดับหัวเข่า แต่กระนั้น การใช้กระสุนยางก็พิสูจน์แล้วว่าควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยโทสะอารมณ์ของผู้ใช้ หรือแม้แต่จากความไม่แม่นยำของตัวกระสุนเองก็ตาม เคยมีการศึกษาพบว่า ปืนที่ใช้ยิงกระสุนยางในยุคแรกนั้นมีความไม่แม่นยำในระดับที่รับไม่ได้ คืออาจพลาดเป้าไปได้ถึงราวหนึ่งฟุตที่ระยะไกลไม่ถึง 30 หลา นั่นทำให้เกิดอาการบาดเจ็บในระดับ ‘สาหัส’ ได้มาก เช่น บางคนมีอาการอัมพาต บางคนก็กะโหลกร้าว บางคนก็ตาบอด และบางคนก็ถึงตาย

 

ฟรานซิส โรว์นทรี เป็นคนแรกที่เสียชีวิต โดยเสียชีวิตในเดือนเมษายน ปี 1972 ส่วนคนสุดท้ายที่เสียชีวิต คือ ซีมุส ดัฟฟี (Seamus Duffy) ซึ่งมีอายุแค่ 15 ปี เสียชีวิตในเดือนสิงหาคม 1989

 

แม้แต่ในอเมริกา การใช้กระสุนยางก็เป็นปัญหาอย่างมาก กระทั่งในปี 2020 คือปีที่มีการประท้วงหนักในหลายเรื่อง มีหลายคนที่ถูกกระสุนยางจนบาดเจ็บร้ายแรง เช่น ช่างภาพอย่าง ลินดา ทิราโด (Linda Tirado) ก็สูญเสียการมองเห็นกับดวงตาไปหนึ่งข้างอย่างถาวร เพราะถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณศีรษะ รวมทั้งมีรายงานว่าผู้สูงอายุคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนียชื่อ เลสลี ต้องเข้า ICU หลังถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะเหมือนกัน ทั้งที่เธอประท้วงอย่างสงบ และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

ไม่ใช่แค่นี้ แต่ในหลายประเทศ ทั้งบราซิล จีน อินเดีย ตุรกี เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ ต่างก็มีสถานการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้น เคยมีรายงานว่าตำรวจแอฟริกาใต้ใช้ถ่าน (แบตเตอรี่) ยัดเข้าไปเป็นไส้ของกระสุนยาง เพื่อทำให้มันอันตรายร้ายแรงมากขึ้น หรือในเหตุการณ์อาหรับสปริง ตำรวจอียิปต์ก็สังหารผู้มาประท้วงไปหลายคนโดยใช้กระสุนยางนี่เอง

 

ในระยะหลัง กระสุนยางยิ่งได้รับการออกแบบให้ร้ายแรงขึ้น บางชนิดมีเปลือกแข็งขึ้น บางชนิดมีสเปรย์พริกไทยหรือแม้แต่แก๊สน้ำตาบรรจุอยู่ภายใน นั่นทำให้องค์กรอย่าง Human Rights Watch พยายามผลักดันให้มีการแบนการใช้กระสุนยางอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็ทำสำเร็จในบางประเทศ เช่น อิสราเอลได้สั่งแบนการใช้กระสุนยางเพื่อควบคุมฝูงชนมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว

 

จะเห็นว่าอาวุธที่ตั้งเป้าจะเป็น Nonlethal Projectiles นั้น เมื่อนำมาใช้จริงกลับมีปัญหา เพราะเฉพาะตัวอาวุธเองก็ต้องบอกว่ามันไม่ ‘Non’ Lethal จริงๆ แต่กลับทำให้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

 

และนี่ยังไม่นับ ‘เจตนา’ ของผู้ใช้งานด้วยซ้ำ!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X