วันนี้ (17 กรกฎาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าสมาชิกภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปนั้น
เรืองไกรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวย่อมส่งผลถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะเป็นบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2)
เรืองไกรกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง บัญญัติบังคับไว้ว่า “การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น”
เรืองไกรกล่าวตามมาว่า กรณีดังกล่าวจึงมีเหตุให้ต้องส่งหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
- เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 กกต. ได้เผยแพร่ข่าวที่ 269/2566 หัวข้อ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง โดยมีความดังนี้
“ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีหลักฐานปรากฏว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ในวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566
“วันนี้ (12 กรกฎาคม 2566) คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อจากการประชุมคราวที่แล้ว เห็นว่าสมาชิกภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป”
- กรณีที่ กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นั้น ย่อมมีผลทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (6) ตามมาด้วยซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นบุคคลผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง จึงบัญญัติบังคับตามมาว่า “การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น”
- โดยผลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง จึงต้องถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามความในมาตรา 88 วรรคหนึ่ง เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ตามความในมาตรา 272
- ดังนั้น การที่ประธานรัฐสภาออกระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 โดยมีเรื่องที่เสนอใหม่คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไปแล้วนั้น ในวันดังกล่าวประธานรัฐสภาย่อมไม่อาจปล่อยให้สมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้อีกต่อไป
- กรณีนี้จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ที่จะต้องตรวจสอบว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใช่หรือไม่
เรืองไกรระบุตอนท้ายว่า จึงเรียนมาเพื่อขอให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ใช่หรือไม่