วานนี้ (30 สิงหาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ถึงแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
เรืองไกรกล่าวว่า การทำหนังสือมีเหตุมาจากที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ระบุว่าลาออกจากกรรมการบริษัทในเครือชินวัตรจำนวน 21 บริษัทนั้น แพทองธารลงนามในหนังสือลาออกจริงหรือไม่ มีสำเนาใบลาออกที่ลงรับรองโดยแต่ละบริษัทถูกต้องตามวันและเวลาหรือไม่
เรืองไกรกล่าวอีกว่า ตนจึงขอคัดเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจดู พบว่าแพทองธารลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ รวม 20 บริษัท ซึ่งทั้งหมดไปจดทะเบียนวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ระบุตรงกันว่า ให้แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการของบริษัทเป็นดังนี้ กรรมการออกจากตำแหน่ง 1 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร และในแบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ระบุว่า มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 บริษัทได้รับเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567
เรืองไกรกล่าวว่า บริษัททั้ง 20 แห่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ต่างกัน คือมี 14 บริษัทตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร, มี 2 บริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี, มี 1 บริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และมี 3 บริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน
เรืองไกรกล่าวว่า การไปจดทะเบียนว่าบริษัททั้ง 20 แห่งได้รับหนังสือลาออกในวันเดียวกัน คือวันที่ 15 สิงหาคมนั้นน่าสงสัยว่า หนังสือลาออกที่แต่ละบริษัทระบุว่าได้รับเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จริงหรือไม่ เหตุใดจึงไปจดทะเบียนวันที่ 19 สิงหาคม 2567 จึงขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทีมกฎหมายนำเอกสารออกมาโชว์หรือแสดงต่อสาธารณะ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการลาออกจริงตามวันเวลาดังกล่าว และสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามที่ได้มีการยื่นตรวจสอบไปแล้วด้วย
หากการลาออกถูกต้องตามวันเวลาดังกล่าวจริง ก็ไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่หากการลาออกมีการทำเอกสารย้อนหลัง หรือลาออกจริงหลังจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็อาจมีประเด็นให้ กกต. ตรวจสอบว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
‘ศักดิ์สยาม’ หลุดจากตำแหน่ง เพราะถือครองหุ้นบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะนั้น สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 จากกรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน เป็นผู้ถือหุ้น และเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี มาตรา 4 (1)