วานนี้ (16 ธันวาคม) องค์การนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontieres หรือ Reporters Without Borders) เปิดเผยข้อมูลสรุปตัวเลขนักข่าวที่ถูกสังหาร, กักขัง และจับเป็นตัวประกันทั่วโลกประจำปี 2019 โดยพบว่า ตลอดปีที่ผ่านมา มีนักข่าวที่ถูกสังหารอันเนื่องมาจากผลของการทำงานเป็นจำนวนทั้งหมด 49 คน ซึ่งต่ำสุดในรอบ 16 ปี และลดลงจากปี 2018 ที่มีนักข่าวถูกสังหารไป 80 คน โดยถือเป็นตัวเลขที่น้อยเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักข่าวที่ถูกสังหารช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเฉลี่ยปีละประมาณ 80 คน
ขณะที่พื้นที่สงคราม หรือ War Zone เป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่มีนักข่าวเสียชีวิตมากที่สุด โดยปีนี้มีนักข่าวเสียชีวิตในพื้นที่ทำสงครามอย่างซีเรีย, เยเมน หรืออัฟกานิสถาน รวมกันทั้งหมด 17 คน น้อยกว่าปี 2018 ถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่สงบสุข กลับพบว่า จำนวนนักข่าวที่ถูกสังหารนั้นมีมากกว่าพื้นที่สงครามถึง 59% ในจำนวนนี้คือ เม็กซิโก ที่มีนักข่าวถูกสังหารในปีนี้ 10 คน เท่ากับในปี 2018 ทำให้ทวีปลาตินอเมริกามีนักข่าวถูกสังหารรวม 14 คน ถือเป็นดินแดนอันตรายต่อชีวิตนักข่าว ไม่แพ้พื้นที่สงครามในตะวันออกกลาง
ข้อมูลจาก RSF ยืนยันให้เห็นว่า อาชีพนักข่าวยังคงเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตราย นอกจากถูกสังหารแล้ว พบว่า มีนักข่าวจำนวน 389 คน ที่ตอนนี้ยังถูกกักขังในเรือนจำทั่วโลก จากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งมากกว่าปี 2018 ถึง 12% และนักข่าวอีกอย่างน้อย 57 คน ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ในจำนวนเหล่านี้ เกือบครึ่งหนึ่งถูกกักขังใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน, อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย และ 1 ใน 3 ถูกกักขังหลังการปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงในชุมชนชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งมากกว่า 40% ของนักข่าวที่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำคุกในเรือนจำ คือนักข่าวสมัครเล่นที่พยายามตีแผ่การกระทำของทางการจีนจากกรณีควบคุมชาวอุยกูร์อย่างเข้มงวด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: