×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : ล้างแค้นหรือจับมือ? อิหร่านจะเลือกทางไหนถ้าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

26.07.2024
  • LOADING...

กรณี CNN รายงานข่าวกรองว่าอิหร่านวางแผนลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ช่วงก่อนที่ทรัมป์จะถูกลอบยิงระหว่างปราศรัยหาเสียงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา จุดชนวนความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากทรัมป์ถือเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่อิหร่านเคยประกาศจะล้างแค้น จากการที่เคยสั่งการให้สังหาร พล.อ. กอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่าน

 

ซึ่งแม้ว่าอิหร่านจะออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่น แต่ข่าวกรองดังกล่าวยังคงสะท้อนความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับอดีตผู้นำสหรัฐฯ

 

หลายฝ่ายจับตามองว่ารัฐบาลอิหร่านจะมีท่าทีอย่างไรหากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้กลายเป็นทรัมป์ที่คว้าชัยชนะและได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง

 

อนาคตความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะยิ่งเลวร้ายลงแบบกู่ไม่กลับ หรือมีโอกาสเกิดสัญญาณบวกที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

 

ลอบสังหารทรัมป์ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

 

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่เคยพัฒนาดีขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถูกกลบทิ้งไปแบบไม่ไยดีในยุครัฐบาลแรกของทรัมป์ เขาถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็น 1 ใน 6 ชาติมหาอำนาจที่ทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ในขณะที่เดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างหนัก อีกทั้งยังใช้อำนาจสั่งปลิดชีพผู้บัญชาการ IRGC จุดชนวนความแค้นชนิดที่อิหร่านประกาศกร้าวว่าจะต้องตอบโต้

 

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ด้วยการลอบสังหารทรัมป์ตามที่ปรากฏในข่าวกรองนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักของอิหร่าน

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นต่อข่าวอิหร่านวางแผนลอบสังหารทรัมป์ว่ามีมุมมองที่น่าสนใจในหลายประการ

 

ประการแรกคือกรณีที่ทรัมป์สั่งปลิดชีวิต พล.อ. สุไลมานี ทางอิหร่านเคยประกาศว่าจะล้างแค้นทรัมป์มานานแล้ว แต่การดำเนินการนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต่อให้ไม่ประกาศล้างแค้น รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีเหตุผลที่จะป้องกันหรือรับมือภัยคุกคามต่ออดีตผู้นำของตนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในประเด็นอิหร่านวางแผนลอบสังหารทรัมป์จะมีหรือไม่มีข่าวกรองเรื่อง ทางการสหรัฐฯ ก็ย่อมมีการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับทรัมป์อยู่แล้ว

 

ส่วนประการที่สอง หากมองในมุมของอิหร่านก็ถือว่าทางการอิหร่านได้มีการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมและตัดสินให้ทรัมป์เป็นฆาตกรหรือผู้ก่อการร้ายไปแล้ว ซึ่งอิหร่านยังได้มีการส่งเรื่องไปยังตำรวจสากลหรือ INTERPOL ในการดำเนินการจับกุมทรัมป์ แต่ INTERPOL ไม่มีการตอบรับข้อเรียกร้องของอิหร่านแต่อย่างใด

 

ที่ผ่านมาอิหร่านเคยเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีทรัมป์ภายในดินแดนสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯ ก็เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว

 

ขณะที่พันธมิตรอิหร่าน เช่น อิรัก ก็มีการดำเนินคดีและออกหมายจับทรัมป์เช่นกัน โดยอิหร่านยังเคยส่งสัญญาณเตือนไปยังสหรัฐฯ ว่าหากไม่มีการดำเนินคดีต่อทรัมป์ ก็จงระวังว่าอาจจะเผชิญการแก้แค้น

 

ด้าน นาสเซอร์ คานาอานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ปฏิเสธข่าวอิหร่านวางแผนสังหารทรัมป์ โดยชี้ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่มี “เจตนาและวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่เป็นอันตราย” พร้อมยืนยันว่าอิหร่านยังคงตั้งใจที่จะดำเนินคดีทรัมป์เรื่องการสังหาร พล.อ. สุไลมานี

 

ทั้งนี้ ผศ. ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า กรณีของทรัมป์อาจเปรียบเทียบได้กับกรณีของ ซัลมาน รัชดี นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษ ที่เคยเขียนหนังสืออื้อฉาวซึ่งมีเนื้อหาดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัด และเผยแพร่ในปี 1988 และถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวมุสลิม ถึงขั้นถูกอดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่านประกาศฟัตวาให้ชาวมุสลิมที่พบเจอเขาลงโทษด้วยการสังหารได้ทันทีและไม่ต้องมีการสอบสวนใดๆ ทำให้เขาต้องหลบซ่อนตัวนานถึง 9 ปี ก่อนที่ในปี 2022 เขาจะถูกคนร้ายใช้อาวุธแทงคอขณะขึ้นเวทีบรรยายในนครนิวยอร์ก ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่ก็ยังรอดชีวิตมาได้

 

ในกรณีทรัมป์ เขาก็ถูกผู้นำสูงสุดของอิหร่านสั่งลงโทษโดยไม่ต้องมีการสอบสวนเช่นกัน แม้จะมีกระบวนการตามกฎหมายในการดำเนินการ ทั้งการตรวจสอบ จับกุม และลงโทษ

 

เบี่ยงประเด็นความสนใจ?

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ทรัมป์ถูกลอบยิงระหว่างปราศรัยหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนียนั้นยังไม่พบหลักฐานหรือพยานใดๆ ที่จะชี้ได้ว่ามือปืนหนุ่มที่ก่อเหตุมีความเชื่อมโยงไปถึงอิหร่าน

 

โดย ผศ. ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า หากมองในแง่ของการข่าวและการเมืองภายในของสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจมองได้ว่าข่าวอิหร่านวางแผนลอบสังหารทรัมป์ที่ปรากฏขึ้น อาจเป็นเพียงการเบี่ยงประเด็นความสนใจ โดยเฉพาะจากกรณีลอบยิงทรัมป์ ให้กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

 

“การลอบสังหารที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ค่อนข้างเสียหาย เนื่องจากการลอบสังหารผู้นำที่ผ่านมาจะเป็นการลอบสังหารที่ส่วนมากแล้วกระทำโดยฝ่ายขวา และต่อต้านนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม แต่ในกรณีของทรัมป์นั้นถือเป็นผู้นำฝ่ายขวา ทำให้การนิยามแนวคิดการเมืองของผู้ก่อเหตุยังคงเป็นคำถาม”

 

ทั้งนี้ ผศ. ดร.มาโนชญ์ ยังเชื่อว่า ในอนาคตเมื่อเกิดข่าวแบบนี้ขึ้นมาอีก อิหร่านก็จะตกเป็นจำเลยแรกที่ต้องถูกจับตามอง และจะยิ่งฉุดให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้นอีก

 

ทรัมป์พร้อมตกลงอิหร่านแบบไร้ Nuke

 

ถึงแม้ท่าทีของทรัมป์ในยุครัฐบาลแรกจะมุ่งคว่ำบาตรและกดดันอิหร่านอย่างจริงจัง แต่สำหรับในรัฐบาลถัดไปที่เขามีสิทธิ์ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ทรัมป์แสดงความพร้อมที่จะพูดคุยและทำข้อตกลงกับอิหร่าน

 

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ในรายการพอดแคสต์ เผยว่าเขาพร้อมที่จะทำข้อตกลงที่เป็นธรรมกับอิหร่าน ภายใต้เงื่อนไขหลักคือ ‘อิหร่านต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์’

 

“อิหร่านนั้นถังแตก พวกเขาไม่มีเงิน ผมคว่ำบาตรประเทศที่ต้องการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน และผมจะได้ทำข้อตกลงที่ยุติธรรมกับอิหร่าน ผมจะเข้ากับอิหร่านได้ ข้อตกลงนั้นง่ายมาก อิหร่านไม่สามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ได้ ไม่สามารถมีศักยภาพด้านนิวเคลียร์ได้ นอกนั้นเราคุยกันได้ทุกเรื่อง พวกเขาคงจะมีความสุขมาก”

 

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกสมาชิกพรรครีพับลิกันวิจารณ์ว่าล้มเหลวในการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยเฉพาะการคว่ำบาตรน้ำมัน ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รายได้จากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยมีลูกค้าหลักคือคู่แข่งอย่างจีน

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า หากทรัมป์เอาชนะการเลือกตั้งและได้คุมอำนาจประธานาธิบดีอีกสมัย แนวนโยบายของเขาในการรับมือกับอิหร่านจะเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน โดยมีปัจจัยจาก 2 สงครามใหญ่ที่โลกเผชิญอยู่

 

“ในวันนี้มีสงครามที่สำคัญ 2 สงคราม ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งขณะนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธของอิหร่านในภูมิภาคนี้ ขณะที่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านยังมีการพัฒนาอย่างมากในยุครัฐบาลไบเดน” Azadeh Eftekhari นักวิเคราะห์การเมืองของ Independent Persian กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่าท่าทีของผู้นำเองก็มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน

 

โดยหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ปัจจุบันอิหร่านมีประธานาธิบดีรักษาการคือ โมฮัมหมัด มอกห์เบอร์ ซึ่งเป็นผู้นำสายปฏิรูปที่มีความประนีประนอมมากขึ้น โดยเขามองว่าหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้จริง การพูดคุยกับผู้นำใหม่ของอิหร่านก็อาจทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising