×

กกร. ชี้โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยพังล้านล้านบาท ฉุดส่งออกหด 5-10% จ่อหั่นจีดีพีเดือนหน้า

โดย efinanceThai
08.04.2020
  • LOADING...

กกร. ประเมินโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเสียหายหลักล้านล้านบาท-ย้ำครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย เล็งหั่นเป้าจีดีพีเดือนหน้า พร้อมหั่นส่งออกปีนี้ติดลบ 5-10% ส่วนเงินเฟ้อคาดติดลบ 1.5% 

   

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. ได้ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบโควิด-19 อาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน โดยมองว่าการแพร่ระบาดหากสามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สู่ภาวะปกติยังต้องใช้เวลา

   

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยองค์การระหว่างประเทศหลายสถาบันต่างทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหลักในโลกลง สำหรับเศรษฐกิจไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ และเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ

   

สำหรับภาพรวมตัวเลขจีดีพีประจำเดือนเมษายนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากรอประเมินผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาก่อน แต่การรายงานในเดือนพฤษภาคม 2563 คาดว่าจะออกมาติดลบแน่นอน ทั้งนี้ การคาดการณ์ในช่วงต้นมีนาคมที่ผ่านมา ประเมินจีดีพีโต 1.5-2% ด้านตัวเลขส่งออกปีนี้คาดว่าติดลบ 5-10% จากเดิมคาดหดตัว 2-0% ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้คาดติดลบ 1.5% จากเดิมคาด 0.8-1.5% หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและการบริโภคลดลง 

     

ทั้งนี้ กกร. เห็นชอบภาครัฐที่อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 เมื่อวานนี้ ทั้ง พ.ร.ก. กู้เงิน การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ให้ SMEs การจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วย SMEs เป็นต้น

   

นอกจากนี้ กกร. ยังเสนอมาตรการช่วยเหลือในหลายกลุ่ม ทั้งมาตรการด้านผู้ประกอบการ โดยขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น

    

รวมถึงขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าเป็น 5% ทั่วประเทศ จากเดิมที่รัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าแล้ว 3% เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันลดลงอย่างมาก ซึ่งค่า Ft น่าจะสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงเสนอเพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% รวมถึงให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 และอยากให้รัฐจัดสรรงบประมาณการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ในโควิด-19

    

ด้านมาตรการแรงงาน ขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แรงงาน ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้นควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

   

นอกจากนี้เสนอให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็นชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน (ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) รวมถึงลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33

   

พร้อมเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับเงินเดือน 75% และไม่ตกงาน รวมทั้งสามารถช่วยเหลือ โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และเสนอให้บริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงไวรัสระบาด

    

ด้านมาตรการโลจิสติกส์ ปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง กกร. จึงขอเสนอให้ ศบค. ประกาศมาตรการจากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ โดยขอให้ กกร. มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

รายงาน: ชุติมา อภิชัยสุขสกุล  

เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X