×

พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างบางประเภท 90% มีผลบังคับใช้แล้ว บรรเทาพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
12.06.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (11 มิถุนายน) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 โดยระบุเหตุผลในการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า

 

โดยที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้จัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 แต่โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง สมควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม 

 

ประกอบกับมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 บัญญัติว่า การลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

สำหรับรายละเอียดที่สำคัญคือมาตรา 3 ให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละเก้าสิบ ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2563 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังต่อไปนี้

 

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

 

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

 

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากตาม 1 และ 2

 

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

 

มาตรา 4 การลดจำนวนภาษีตามมาตรา 3 ไม่กระทบสิทธิในการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 

 

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

สำหรับพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ถือว่ามีผลบังคับใช้แล้ว นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุบกษา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X