×

6 รอบ 72 พรรษา: เฉลิมพระเกียรติไว้ในแผ่นดิน

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2024
  • LOADING...

ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม รัฐบาลได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวาระนี้อย่างพร้อมเพรียงกันทั้งแผ่นดิน

 

ในระดับชาติ มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รวม 7 คณะ เพื่อจัดเตรียมงานพระราชพิธี งานพิธีการ โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ

 

 

องค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีรองนายกฯ รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการโดยตำแหน่ง ร่วมเป็นกรรมการ และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ

 

ทั้งนี้ ยังมีบุคคลสำคัญและผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และ รศ. ดร.ชัชพล ไชยพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

10 โครงการเฉลิมพระเกียรติขนาดใหญ่ 

 

 

โครงการ 1: ยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอน และ Pocket Park 72 แห่ง โดยกรุงเทพมหานคร

 

พัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ สวนหลวง ร.9 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ และสวนสาธารณะบึงหนองบอน ให้เป็นสวนสาธารณะระดับมหานครที่มีพื้นที่รวมกันกว่า 1,144 ไร่ ทั้งนี้ รัฐบาลจะขอพระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า ‘สวนหลวง ร.10’ ต่อไป

 

 

โครงการ 2: 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่า โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ตั้งเป้าหมายในการปลูกป่าและบำรุงรักษาต้นไม้ทั่วประเทศ จำนวน 72 ล้านต้น เพื่อฟื้นฟูและรักษาสภาพป่าต้นน้ำ คืนสภาพโครงสร้างของระบบนิเวศให้กับผืนป่าทั่วประเทศ และคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน

 

 

โครงการ 3: แหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่ง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ขยายผลจากโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 47 แห่ง ใน 25 จังหวัด โดยเพิ่มเติมอีก 25 แห่ง รวมเป็น 72 แห่ง ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค

 

 

โครงการ 4: 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข โดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร

 

ดำเนินการขุดลอกคูคลอง ปรับภูมิทัศน์ และทัศนียภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตลอดสองฝั่งคลอง เพื่อเป็นการสืบสานและขยายผลต่อยอดพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ ที่เสื่อมโทรม ทั้ง 10 คลองสวย ประกอบด้วย คลองโอ่งอ่าง-คลองบางลำพู กทม., ลำน้ำโจ้ จังหวัดเชียงใหม่, คลองแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา, ลำน้ำแม่ลำพัน จังหวัดสุโขทัย, คลองบางพระ จังหวัดตราด, คลองลัดพลี จังหวัดราชบุรี, ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา, ลำห้วยพระคือ จังหวัดขอนแก่น, คลองปากบาง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และคลองหาดส้มแป้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

 

 

โครงการ 5: พัฒนา 72 สายน้ำอย่างยั่งยืน ดำเนินการขุดลอกคลองและอ่างเก็บน้ำ 72 แห่ง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ดำเนินโครงการขุดลอกคลองส่งน้ำ จำนวน 30 แห่ง โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ จำนวน 14 แห่ง และโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ อาทิ ฝายทดน้ำและระบบส่งน้ำ เพื่อชุมชนและพื้นที่ห่างไกล อีกจำนวน 28 แห่ง รวมพื้นที่ดำเนินโครงการทั้งสิ้น 72 แห่ง ครอบคลุม 47 จังหวัดทั่วประเทศ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 202,630 ไร่ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 18.14 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 17,496 ครัวเรือน

 

 

โครงการ 6: ยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช, โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง โดยกระทรวงสาธารณสุข

 

ยกระดับการขยายบริการทางการแพทย์ และขยายศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางที่มีความซ้ำซ้อน และลดการส่งต่อผู้ป่วย โดยดำเนินการทั้งสิ้น 72 แห่ง แบ่งเป็น

 

  1. การยกระดับคุณภาพการบริการของโรงพยาบาล 36 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง, โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 11 แห่ง และโรงพยาบาลชัยพัฒน์ 4 แห่ง
  2. การยกระดับการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยเป็นการจัดสร้างชุดอาคารศูนย์สุขภาพชุมชน 36 แห่งทั่วประเทศ

 

โครงการ 7: พัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย โดยกระทรวงกลาโหม

 

จัดหาที่ดินที่เป็นพื้นที่ของเหล่าทัพทั่วประเทศ รวมจำนวน 72,000 ไร่ เพื่อจัดสรรให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการเป็นที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย รวมถึงได้รับเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัยสำหรับคนพิการ จำนวน 720 หลัง และผู้ด้อยโอกาส จำนวน 720 หลัง

 

 

โครงการ 8: บริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี

 

เชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมบริจาคโลหิต เพื่อมอบให้แก่สภากาชาดไทยสำหรับใช้เป็นโลหิตสำรองให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม 2567 ตั้งเป้าการรับบริจาคโลหิตจำนวน 10,000,000 ซีซี ภายในเดือนธันวาคม 2567

 

 

โครงการ 9: จัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 72,000 ชุด โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

จัดหากายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการ จำนวน 72,000 ชุด สำหรับช่วยเหลือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย หรือผู้มีแนวโน้มจะเป็นคนพิการที่มีรายได้น้อย ที่เข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการ ให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวัน เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างเท่าเทียม และดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างอิสระ

 

 

โครงการ 10: หลอมรวมใจ มอบน้ำใสสะอาดให้โรงเรียน โดยกระทรวงมหาดไทย

 

ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาในโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ จัดให้มีการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั้งด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย ตามวิธีการมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง เด็กๆ มีน้ำประปาที่สะอาดและมีคุณภาพเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

นายกรัฐมนตรีเล่าถึงแนวคิดในการดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวาระนี้ไว้ว่าเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข และตัวนายกรัฐมนตรีเองได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติด้วยตัวเอง ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

 

 

เชิญธงตราสัญลักษณ์จาก 76 จังหวัดสู่กรุงเทพฯ

 

กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 โดยได้เชิญธงตราสัญลักษณ์ จำนวน 720 ผืน มอบให้กับจังหวัดต้นสาย แบ่งเป็น 10 สาย ร่วมแรงร่วมใจ เดิน วิ่ง ปั่น มาสู่จังหวัดปลายสาย และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ 

 

ในทุกจังหวัด พี่น้องประชาชนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ตลอดระยะเวลาของการจัดกิจกรรม ทั้งเดิน วิ่ง ปั่น มีระยะทางรวมกันกว่า 10,000 กิโลเมตร และมีผู้เข้าร่วมมากถึง 545,880 คน

 

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

 

ในสัปดาห์หน้า ยาวไปจนถึงปลายปี 2567 พสกนิกรชาวไทยจะได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระสำคัญของแผ่นดิน ทั้งพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน, เสด็จออกมหาสมาคมทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง, คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศ เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง 

 

ขณะที่ในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลยังได้ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ตามด้วยพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ และในช่วงเย็นจะมีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องสนามหลวง และศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด 

 

ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

 

และในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะทรงนำทหารจากหน่วยราชวัลลภรักษาพระองค์ จำนวน 12 กองพัน สวนสนามเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X