หลังจากประสบความสำเร็จจากโปรเจกต์ ‘ทีไทย ทีมันส์’ เมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้ Netflix ได้ฤกษ์ปล่อยซีรีส์เรื่องแรกของโปรเจกต์ประจำปีนี้ด้วย Ready, Set, Love เกมชนคนโสด งานกำกับของ ยรรยง คุรุอังกูร เจ้าของผลงานหนังวัยรุ่นไอเดียล้ำๆ ทั้ง App War แอปชนแอป และ เกมเมอร์ เกมแม่ ส่วนซีรีส์เรื่องล่าสุดก็ยังคงสไตล์การเลือกประเด็นน่าสนใจว่าด้วยประเทศไทยในอนาคตที่เกิดโรคประหลาดจนประชากรชายลดลงอย่างน่าใจหาย จนต้องจัดการแข่งขันให้หญิงผู้โชคดีได้แต่งงานกับชายในฝัน เรียกได้ว่าทันยุคทันสมัยในวันที่ประชากรในประเทศไทยลดน้อยลงทุกที แถมยังมีช่องทางให้พูดเรื่องเพศและความเหลื่อมล้ำได้อย่างหลากหลาย แต่น่าเสียดายที่ Ready, Set, Love กลับไปไม่ถึงเลยสักทาง
ในช่วงยุค 70 ทั่วโลกเกิดโรคประหลาดทำให้ผู้ชายหลายล้านคนเสียชีวิต หลังจากนั้นอัตราการเกิดประชากรเพศชายก็ลดลงจนเหลือเพียง 1% ทำให้รัฐบาลต้องเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติที่ The Farm ดินแดนที่พวกเขาจะได้รับการดูแลอย่างดี ในขณะที่ผู้หญิงต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในโลกภายนอก
ในทุกๆ ปีภาครัฐจะจัดรายการแข่งขันในชื่อ Ready, Set, Love ด้วยการคัดเลือกหญิงสาวจำนวนหนึ่งเข้ามาเดตกับเหล่าชายในฝัน หากใครเป็นผู้ชนะก็จะได้ไปใช้ชีวิตอยู่ใน The Family สถานที่ที่จะใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุขพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก โดยปีนี้มีความพิเศษก็คือการจับรางวัลลอตโต้หาผู้โชคดีเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย
เดย์ (เบลล์-เขมิศรา พลเดช) เป็นสาวสู้ชีวิตที่จับพลัดจับผลูได้เข้าร่วมรายการทั้งที่เธอไม่เคยสนใจจะเข้าร่วมเลย แต่เพราะอยากให้น้องสาวที่ป่วยมีชีวิตที่ดีกว่าจึงต้องร่วมอยู่ในเกม ที่นี่เธอได้พบกับ ซัน (บลู-พงศ์ทิวัตถ์ ตั้งวันเจริญ) หนุ่มสุดฮอตผู้เป็นที่หมายปองของ ชาแนล (ลิลลี่-ณิชภาลักษณ์ ทองคำ) คุณหนูผู้อยู่ใต้คำบัญชาตลอดเวลา นำไปสู่การขับเคี่ยวเพื่อเอาชนะใจชายหนุ่ม ในจังหวะเดียวกัน วา (เจน-เจติยา นัยวัฒนกุล) เพื่อนสนิทของเดย์แฝงตัวเข้ามาเป็นทีมงานเพื่อตามสืบหาพี่ชาย และเปิดโปงความฉ้อฉลของระบบกดขี่ที่ทำให้ทุกคนต้องยอมจำนนในสังคมที่ไม่เท่าเทียม
สิ่งแรกที่สะดุดตาและอาจเรียกว่าเป็นสไตล์เฉพาะตัวของผู้กำกับก็คือ การควบคุมอาร์ตไดเรกชันได้อย่างน่าสนใจแบบเดียวกับที่เขาทำในภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องมาแล้ว โดยในซีรีส์เรื่องนี้เน้นไปที่การใช้สี ใช้เส้น การเว้นพื้นที่ว่างเพื่อสื่อสารถึงโลกอนาคต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้เราคิดถึงซีรีส์เรื่อง Squid Game มากไปกว่านั้นการแข่งขันต่อสู้ในเกมภายใต้สังคมไม่เท่าเทียมก็พาให้นึกถึง The Hunger Games ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ใน Ready, Set, Love คือการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็นโสด และเหมือนว่าเนื้อหาก็โฟกัสไปที่จุดนั้นจนหลงลืมประเด็นที่เปิดไว้ระหว่างทาง
เปิดเรื่องด้วยชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรนของเดย์ที่ต้องทำงานหลายอาชีพเพื่อให้ชีวิตของเธอและน้องสาวอยู่รอด แต่โลกของเดย์ก็ยังคงสดใสตามสไตล์ซีรีส์คอเมดี้ และมีกลิ่นอายเกาหลีแบบจัดๆ ตั้งแต่ตัวอักษรภาษาเกาหลีในร้านสะดวกซื้อที่เดย์ทำงานอยู่ ไปจนถึงคาแรกเตอร์สาวกินจุ และเลิฟไลน์ความผูกพันวัยเด็กที่มักจะได้เห็นบ่อยๆ ในซีรีส์เกาหลี พร้อมกับการเปิดตัว วา-วาเลนไทน์ ที่เหมือนเป็นคีย์หลักพูดถึงความขบถ ความไม่เท่าเทียม ก่อนเรื่องจะค่อยๆ เฉลยว่าเธอเป็นสมาชิกกลุ่ม City Ground ที่กำลังต่อต้านระบบ และมีแม่ที่เคยเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายมาก่อน
เอาเข้าจริงตอนช่วงเปิดเรื่องมีการเล่นมุกเสียดสีพอให้หัวเราะกันกรุบกริบ จนคิดว่าเรื่องราวต่อจากนี้น่าจะมีการสอดแทรกประเด็นคมๆ เอาไว้ในเรื่องไม่มากก็น้อย แต่พอเดย์เข้าไปอยู่ในเกมเรื่องราวกลับโฟกัสไปที่เรื่องรักโรแมนติก ณ จุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ติดตรงที่ทุกอย่างดูไปคนละทิศคนละทาง เริ่มตั้งแต่ด่านต่างๆ ในเกม แม้จะมีชื่อเกี่ยวกับเรื่องความรักความสัมพันธ์ แต่ออกมาดันเหมือนเกมในรายการ โหด มัน ฮา ไปเสียอย่างนั้น จนนึกไม่ออกว่าทักษะที่ใช้ในเกมเกี่ยวอะไรกับการสร้างครอบครัว หรือชี้วัดความสามารถของผู้เข้าแข่งขัน แม้ของรางวัลจะเป็นการได้เลือกเดตกับคนที่สนใจ แต่ก็ไม่ได้ต่างจากรายการเกมเดตในสังคมปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ซีรีส์กำลังพูดถึงโลกอนาคตที่การแต่งงานเป็นยิ่งกว่าการพลิกชีวิต
ในขณะที่เรื่องพัฒนาความรักความสัมพันธ์ก็ยังขาดๆ เกินๆ โดยเฉพาะคู่ของเดย์และซัน ที่อดสงสัยไม่ได้ว่าไปรักกันตอนไหน ถ้าจะบอกว่าเป็นความผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็กก็น่าจะแค่ดึงดูดความสนใจ แต่ถึงขั้นน้อยอกน้อยใจกันตั้งแต่เพิ่งเริ่มเกมก็ดูจะเร็วไปหน่อย นอกจากนี้ในเรื่องก็ใช้งานเรื่องรักต่างชนชั้น และการยอมเสียสละความรักเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ความจริงก็ไม่ผิดเพียงแต่รู้สึกว่าอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะตัวซีรีส์ออกจะสไตล์ล้ำ แต่สุดท้ายความขัดแย้งเรื่องความรักกลับไม่ต่างจากละครไทย และถูกเล่าออกมาแบบทื่อๆ ไม่คมคายอีกต่างหาก
เพราะ Ready, Set, Love ว่าด้วยเรื่องความไม่สมดุลเรื่องเพศ แน่นอนว่าต้องมีเรื่องรักระหว่างเพศเดียวกันที่เหมือนจะแค่เปิดไว้เพื่อให้มีความหลากหลาย อย่างในกรณีคู่ของ เจนนี่ (จ๋า-ณัฐฐาวีรนุช ทองมี) ก็พอเข้าใจได้ว่าต้องการให้เห็นภาพชีวิตคู่ของคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์อะไร แต่การเพิ่มเรื่องรักแบบซีรีส์วายแล้วก็ทิ้งค้างคาเอาไว้ก่อนจะมาสรุปตอนท้าย นอกจากจะไม่ฟินแล้วยังแอบคิดว่าน่าจะเอาเวลาไปขยี้ประเด็นอื่นๆ ที่เปิดเอาไว้ดีกว่า
ในส่วนของเรื่องชนชั้นและการกดขี่ก็ถือว่าแสดงให้เห็นน้อยมาก ส่วนนี้เข้าใจได้ว่ามันอาจผิดขนบซีรีส์โรแมนติก-คอเมดี้ แต่ก็มีหลายฉากหลายบทสนทนาที่ย้ำประเด็นนี้ได้ในแนวตลกเสียดสี แถมตอนท้ายเรื่องยังแปลกประหลาดเช่นกลุ่มคนดูที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองถูกหลอกมาตลอด ยังคงรอให้รายการของคนที่หลอกตัวเองจบก่อนจะลุกขึ้นมาประท้วง เหมือนว่าที่ผ่านมาเรื่องการกดขี่เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องจิ้นเป็นเรื่องหลักเสียอย่างนั้น
ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับอาจถนัดการเล่าเรื่องสั้นๆ แบบภาพยนตร์มากกว่าหรือเปล่า จึงทำให้ Ready, Set, Love ค่อนข้างยืดยาวโดยไม่จำเป็น และเอาประเด็นสำคัญใส่ให้เข้มข้นแค่ตอนต้นกับตอนท้าย จนตอนกลางเรื่องคนดูอาจเผลอหลับ ไถโทรศัพท์มือถือ หรือถึงขั้นเทไปเลยก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ Ready, Set, Love จะมีบาดแผลมากมาย แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะใส่ประเด็นใหม่ๆ ให้กับวงการซีรีส์ไทย เพียงแต่การบ้านที่ต้องกลับไปทำอย่างหนักคือความเข้มข้นของบท โดยเฉพาะในซีซัน 2 ที่ซีรีส์เปิดท้ายเอาไว้ แต่จะมาเมื่อไร หรือจะได้ไปต่อหรือไม่คงต้องมาลุ้นกัน