×

รอมแพง หญิงสาวผู้คลั่งไคล้สวนอักษร และต้องอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละเล่ม

29.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รอมแพง มีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากนิทานอีสป หนังสือเรียน ไปจนถึงนิยายเรื่องในฝัน ของโรสลาเรน ที่เปิดโลกการอ่านของเธอให้กว้างยิ่งขึ้น
  • รอมแพง ชอบอ่านหนังสือทุกประเภท แต่จะพยายามหลีกเลี่ยงหนังสือที่อ่านแล้วเศร้าหรือหดหู่ให้ได้มากที่สุด
  • รอมแพง ต้องอ่านหนังสือทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 เล่ม โดยทำสถิติมากที่สุดคือ สามารถอ่านได้มากถึง 4 เล่มใน 1 วัน

ถ้าคำพูดที่ว่า ‘นักเขียนที่ดี ต้องมีพื้นฐานของนักอ่านที่ดีมาก่อน’ อุ้ย-จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกาผู้เขียนหนังสือเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ถูกสร้างจนกลายเป็นละครที่ฮิตที่สุดในเวลานี้ คือหนึ่งในคนที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด

 

ถึงแม้จะไม่เคยอยากเป็นนักเขียนมาก่อน แต่เธอเริ่มต้นอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเริ่มอ่านหนังสือทุกประเภทตั้งแต่นิทานอีสป หนังสือเรียน เรื่องสั้น นวนิยาย ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ชนิดที่ว่าความกว้างของห้องสมุดประชาชนก็ยังไม่เพียงพอต่อความรักในการอ่านของเธอ

 

เรื่องราวในวัยเด็กและหนังสือนับพันนับหมื่นเล่มที่เคยผ่านตาที่เธอเปิดเผยกับ THE STANDARD ในวันนี้ ก็ทำให้เรารู้ได้ในทันทีว่า จินตนาการไร้ขีดจำกัดของเธอนั้นถูกบ่มเพาะมาอย่างยาวนานจริงๆ

 

Photo: www.amandahall-illustration.com

 

จุดเริ่มต้นที่บ่มเพาะนิสัยรักการอ่าน

จำไม่ได้เลย แต่คิดว่าอาจจะเริ่มมาจากที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาเพราะว่าต้องทำงานหนัก และคุณพ่อเป็นคุณครูที่ดุมาก จะไม่ค่อยได้สอนอะไรเราเท่าไร ถ้าสอนทีไรต้องมีน้ำตาแน่นอน เราไม่อยากร้องไห้ก็เลยไม่ค่อยให้คุณพ่อสอน (หัวเราะ) เลยเริ่มไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากหนังสือตั้งแต่ตอนนั้น

 

เริ่มต้นจากหนังสือประเภทไหนบ้าง

จากนิทานอีสปที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนเด็กๆ ทั่วไป แล้วเราอาจจะมีนิสัยแปลกๆ อย่างหนึ่ง คืออ่านหนังสือแล้วจะเห็นภาพตามตัวอักษรที่อ่าน มันเลยกลายเป็นว่าเราไม่ได้อ่านอย่างเดียว แต่เราได้จินตนาการและมองเห็นภาพนั้นๆ ตามความคิดของเราไปด้วย ไม่ใช่แค่นิทานอย่างเดียว กับหนังสือเรียนก็เห็นภาพด้วยนะ เลยชอบอ่านหนังสือเรียนไปด้วย ก่อนเปิดเทอมเวลาได้หนังสือมาใหม่ เราจะรีบอ่านทันทีเลย ทุกเล่ม ทุกวิชาเลยนะ แต่จะสนุกแค่รอบแรก แล้วก็ทิ้งเอาไว้แล้วค่อยเอามาอ่านอีกทีตอนสอบ พออ่านไปก็ชอบอ่านหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ถ้านับรวมๆ ทั้งหมดน่าจะเคยอ่านหนังสือมาประมาณกี่เล่มแล้ว

โห นึกไม่ออกเลย เพราะว่าอ่านเยอะมาก ถ้าคิดง่ายๆ คือ อย่างน้อยต้องอ่านวันละหนึ่งเล่มมาตั้งแต่เด็ก บางวันก็อาจจะสองหรือสามเล่ม สถิติมากที่สุดที่เคยทำเอาไว้คืออ่านได้ 4 เล่ม ต่อ 1 วัน โชคดีที่เป็นคนอ่านหนังสือเร็ว

 

ส่วนใหญ่อ่านหนังสือจากที่ไหนบ้าง

ทุกที่เลย แต่เริ่มจากห้องสมุดของโรงเรียน ที่ตอนนั้นเขาจะไม่ให้นักเรียนยืมหนังสือกลับบ้าน แต่คุณครูเห็นว่าเราชอบอ่านหนังสือจริงๆ ก็เลยให้ยืมกลับไปอ่านในวันเสาร์วันอาทิตย์ได้ แล้วก็อ่านจนหมดห้องสมุด จนไม่เหลืออะไรให้อ่าน ก็ไปที่ห้องสมุดประชาชน ก็ไปอ่านจนไม่มีอะไรให้อ่านอีกเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นที่ไหนมีหนังสือให้อ่าน เราอ่านได้หมด

 

ชอบอ่านหนังสือมากถึงขนาดที่ตอนเด็กๆ เคยมีความฝันเลยนะ ว่าอยากให้ใครจับเราไปขังไว้ในห้องสมุดใหญ่ๆ ที่มีหนังสือเต็มห้องและมีการเปลี่ยนหนังสือตลอดเวลา ไม่ขออะไรเลยแค่มีห้องน้ำในตัว มีช่องเล็กๆ เอาไว้เปิดให้คนยื่นอาหารมาให้ แล้วจะยอมโดนขังอยู่ในนั้นทั้งวันไม่ออกไปไหน ไม่ต้องออกไปเจอใครก็ได้ เพราะที่นั่นน่าจะเป็นเหมือนสวรรค์ที่สุดของเราแล้ว

 

 

จำได้ไหมว่าหนังสือเรื่องแรกที่อ่านจบคือเรื่องอะไร

ไม่นับพวกหนังสือเรียนกับนิทานอีสปนะ ถ้านิยายเล่มหนาๆ เล่มแรกที่อ่านคือเรื่องในฝัน ของ โรสลาเรน ตอนอายุประมาณ 8 ขวบ รู้สึกว่าเขาใช้คำได้สวยมาก แต่ก็เศร้า ร้องไห้อยู่นานมาก นั่นเป็นจุดเปลี่ยนในการอ่านหนังสือของเราเหมือนกันนะ ทำให้เราพยายามที่จะไม่อ่านเรื่องเศร้าอีกเลย ก่อนอ่านเรื่องไหนต้องเปิดด้านหลังดูก่อนว่ามีคนตายหรือเปล่า มีแนวโน้มว่าจะเศร้าไหม ถ้าเศร้าจะไม่อ่านเลย

 

แล้วก็จะพยายามหลีกเลี่ยงนามปากกาที่จะมาแนวเศร้าไว้ก่อนเลย อย่างโรสลาเรนพอรู้ว่ามาทางนั้น เราก็หันไปทางลักษณาวดี หรือทมยันตี ที่เป็นคนเดียวกันคือ คุณวิมล เจียมเจริญ แต่เปลี่ยนนามปากกาแทน แต่ทมยันตีก็ไปเจอเศร้าหนักๆ จากเรื่องคู่กรรม อยู่ดี (หัวเราะ) หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ต้องอ่าน เพราะว่าชอบการอ่านหนังสือไปแล้ว

 

เท่าที่ติดตามมา คุณจะพูดถึงทมยันตีบ่อยมาก นามปากกานี้มีผลกับชีวิตและงานเขียนของคุณอย่างไรบ้าง

มีผลนะ อย่างแรกคือนามปากกา รอมแพง ก็ได้มาจากตัวละครในเรื่องเวียงกุมกามของทมยันตี แล้วอาจจะเรียกว่าเราเติบโตขึ้นมาแบบถูกเลี้ยงดูมาด้วยคำในนิยาย ที่ชัดอีกอย่างก็คือทำให้เราไม่มีแฟน (หัวเราะ) เพราะจะมีสเปกของผู้ชายที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งในแบบที่เคยอ่านจากในนิยาย มันจะมีคำที่ทมยันตีชอบใช้ ประมาณว่า ถ้าไม่ใช่คนคนนั้นก็จะรังเกียจ ไม่อยากให้มาแตะเนื้อต้องตัว แล้วเรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ มันฝังหัวมาก ทำให้เป็นคนที่ค่อนข้างหวงเนื้อหวงตัว

 

 

คุณเริ่มต้นเขียนหนังสือจากการเล่นเกมมังกรหยก แล้วหนังสือเรื่องมังกรหยก เป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือของคุณด้วยหรือเปล่า

พูดได้ว่าไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ทำให้เราอยากเขียนหนังสือเลย แต่หนังสือมังกรหยกถือว่าส่งผลกับงานเขียนของเราในตอนหลัง เพราะอ่านภาคแรกแล้วชอบตัวละครอึ้งย้งมาก อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่าชอบผู้หญิงที่เก่ง แล้วก็พยายามเขียนตัวละครผู้หญิงให้เก่ง มีความสามารถแบบที่เห็นในผลงานหลายๆ เรื่อง

 

ชอบภาคแรกมากนะ แต่ภาคสองนี่ไม่ชอบเลย เพราะเหตุผลเดิมคืออ่านแล้วเศร้า มันมีฉากที่เซียวเหล่งนึ่งโดนขืนใจ ไม่ชอบเลยจริงๆ เวลาอ่านอะไรที่สะเทือนใจแบบหดหู่ ถ้าเป็นสะเทือนใจแบบซาบซึ้งนี่ชอบนะ แต่ถ้าหดหู่นี่ไม่ได้เลย ทุกวันนี้ก็ยังทำใจให้ชอบไม่ได้อยู่ดี

 

 

หนังสือของต่างประเทศที่ชอบมากที่สุดคือเรื่องอะไร

พวก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ชอบนะ แต่ถ้าให้เลือกคงเป็นเทวากับซาตาน ของ แดน บราวน์ รู้สึกว่ามีอะไรหลายๆ อย่างน่าสนใจ แล้วงานเขียนเล่มแรกของเขามันสดมากๆ พอหลังๆ พล็อตมันเริ่มคล้ายๆ กัน เหมือนเปลี่ยนแค่สถานที่ เราเลยไม่ได้รู้สึกทึ่งเท่าเล่มแรกที่สนุกมาก ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงอ่านรวดเดียวจบเลย

 

อยากให้ช่วยแนะนำหนังสือประวัติศาสตร์ให้กับคนอ่านสักหนึ่งเล่ม

ถ้าให้แนะนำน่าจะยาก เพราะสิ่งที่ชอบไม่เหมือนใคร แต่ถ้าให้เลือกที่ชอบก็คงเป็น ประวัติการค้าไทยของพระยาพระคลังหน เป็นหนังสือแนวประวัติศาสตร์จริงๆ ที่ไม่ใช่อัตชีวประวัติเล่มแรกที่ได้อ่าน แล้วอ่านตั้งแต่ตอนเย็นจนรุ่งเช้าของอีกวันแบบไม่นอน ชอบที่ได้จินตนาการถึงภาพการค้าของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ว่าเป็นอย่างไร แล้วเป็นการจุดประกายอย่างหนึ่งว่าอยากเผยแพร่สิ่งที่เราได้อ่าน ให้คนอ่านได้สนุกไปกับประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้มาด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising