วันนี้ (16 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสข่าวกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจมาช่วยงานรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลังพ้นโทษ โดยระบุว่า สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่เชื่อว่าในทางการเมืองจะมีฝ่ายที่คัดค้านอยู่แล้ว ต้องดูรายละเอียดว่าทักษิณทำได้มากน้อยแค่ไหน และฝ่ายตรวจสอบก็พร้อมจะทำหน้าที่
รังสิมันต์ชี้ว่า เรื่องที่ควรมองคือบทบาทของทักษิณที่เมื่อลงพื้นที่แล้วมีรัฐมนตรีหลายคนเดินตาม ทำให้เกิดคำถามไม่รู้กี่รอบ และยังไม่ได้คำตอบชัดเจนจากรัฐบาลว่า ใครคือนายกรัฐมนตรี บทบาทนี้จะทำให้ภาวะความเป็นผู้นำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลดลงเรื่อยๆ การที่รัฐมนตรีเดินตามทักษิณไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐา
“สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดในฐานะ สส. คือถ้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ตกลงต้องคุยกับใคร หากเราใช้นายกฯ 2 คน อีกคนเป็นตัวจริง อีกคนเป็นตัวปลอม ประเทศชาติจะมีปัญหาเรื่องของการบริหารราชการอย่างแน่นอน”
รังสิมันต์มองว่า หากรัฐบาลให้ตำแหน่งทักษิณจริงอย่างเป็นทางการก็เป็นเรื่องดี เพราะทักษิณจะอยู่ภายใต้การตรวจสอบ แต่คำถามสำคัญของสังคมไทยคือ เศรษฐาหรือทักษิณ ใครมีอำนาจมากกว่ากัน
หวังนายกฯ มาตอบกระทู้เอง เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ
นอกจากนี้ รังสิมันต์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีเตรียมตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเรื่องธนาคารของไทยเชื่อมโยงกับสงครามเมียนมา โดยระบุว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับที่ตนเอง ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สัปดาห์ที่ผ่านมาพิจารณาเรื่องนี้ โดยได้พูดคุยกับหน่วยงานผู้ปฏิบัติ
“สิ่งหนึ่งที่ยังไม่รู้คือแนวทางของรัฐบาล การตรวจสอบและป้องกัน ซึ่งต้องเกิดความร่วมมือ เพื่อไม่ให้ระบบธนาคารไปเกี่ยวข้องกับเงินเปื้อนเลือดในเมียนมา” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ระบุว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ เราเห็นสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคาร เราเห็นสัญญาณจาก ปปง. เราจึงอยากรู้สัญญาณจากรัฐบาล เป็นคำถามที่ตอบไม่ยาก
“เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ถ้านายกรัฐมนตรีมาตอบเองได้จะเป็นเรื่องดีที่สุด สัปดาห์ที่ผ่านมามีการกดดันมากมาย จนสุดท้ายนายกรัฐมนตรีตัดสินใจมาด้วยตนเอง แต่ปกติจะเห็นการมอบหมายกระทรวงต่างๆ มาตอบ แต่คนที่ตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศไทย คือนายกรัฐมนตรี”
รังสิมันต์ระบุด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรีเป็นคนพูดเองจะส่งผลดีต่อรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา เป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของประเทศไทยกับการสร้างสันติสุขในเมียนมา แต่หากมอบหมายผู้อื่นมาตอบ น้ำหนักก็จะน้อยลง
รังสิมันต์ยืนยันว่า ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเกี่ยวกับการเงินให้คณะกรรมาธิการภายใน 30 วัน และต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอความชัดเจน เพื่อตรวจสอบและป้องกันการคลังของประเทศไทยไม่ให้เกี่ยวข้องกับเงินเปื้อนเลือด