2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของเชลซีในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือแย่ที่สุดนับตั้งแต่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการสโมสรเมื่อปี 2003
ไม่เพียงแต่ผลงานในสนามจะตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ทีมยังเต็มไปด้วยปัญหาสารพัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในสนาม นอกสนาม และที่แย่ที่สุดคือตัวของอบราโมวิชเองก็มีปัญหาหนักไม่แตกต่างกันจากปัญหาความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างอังกฤษและรัสเซีย (จากกรณีสายลับสองหน้า เซอร์เกย์ สกรีปอล ที่อังกฤษกล่าวหาว่ารัสเซียวางยาพิษ) จนทำให้เขาถูกปฏิเสธที่จะต่ออายุวีซ่าในการเข้ามาประกอบธุรกิจในสหราชอาณาจักร
ปัญหาส่วนตัวของอบราโมวิชทำให้ทุกอย่างของเชลซีชะงักงันตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในการซื้อผู้เล่นเข้ามาเสริมทัพ ซึ่งปกติแล้วทีมสิงห์บลูส์แห่งลอนดอนเป็นหนึ่งในทีมที่ ‘ทุ่ม’ มากที่สุด เมื่อมีปัญหางบประมาณต่างๆ ก็ลดทอนลงไป ไปจนถึงโครงการลงทุนสร้างสนามแข่งแห่งใหม่ที่สุดแสนอลังการเป็นอภิมหาโปรเจกต์ระดับพันล้านปอนด์ก็ถูกชะลอเอาไว้ก่อน
สัญญาณเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสถานการณ์ภายในสแตมฟอร์ดบริดจ์อย่างมากครับ โดยเฉพาะความกลัวว่าถ้าอบราโมวิชตัดสินใจจะทิ้งเชลซีขึ้นมา พวกเขาจะทำอย่างไร
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนสิ่งที่น่ากลัวนั้นยังไม่เกิดขึ้นในเวลานี้ครับ เพราะการจะขายสโมสรระดับนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เหมือนขายของตลาดนัดมือสอง เพราะมูลค่าของสโมสรนั้นสูงมหาศาล การจะค้นหากลุ่มทุนใดๆ ที่มีความพร้อมจะเข้ามาประกอบกิจการต่อยากเหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทร
อีกทั้งด้วย ‘แพสชัน’ ที่มีต่อเกมฟุตบอลทำให้ โรมัน อบราโมวิช ลังเลที่จะเสียสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ของเขาไป
ด้วยเหตุนี้ทำให้ Roman Empire จะยังคงอยู่ต่อไป อย่างน้อยก็ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้
เพียงแต่สโมสรเชลซีประสบปัญหาใหม่ที่เป็นปัญหาใหญ่เพิ่มอีกอย่าง เมื่อพวกเขาถูกตัดสินลงโทษห้ามซื้อผู้เล่นเป็นเวลา 2 รอบตลาดการซื้อขาย (ฤดูร้อน 2019 และฤดูหนาว 2020) จากความผิดฐานการละเมิดกฎในการซื้อผู้เล่นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และการที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่ 3 ในเรื่องของการเจรจาซื้อขายผู้เล่น
การถูกลงโทษแบนนั้นส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างร้ายกาจครับ โดยเฉพาะต่อแผนการปรับปรุงทีมที่เริ่มเห็นได้ชัดว่าถูกสองทีมที่ดีกว่าในเวลานี้อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล ทิ้งห่างออกไปพอสมควรในฤดูกาลที่ผ่านมา
2 รอบตลาดการซื้อขายนั้นไม่ได้มีความหมายแค่การถูกจับแช่แข็งเอาไว้แค่ปีเดียวครับ เพราะในเชิงฟุตบอลแล้วมันมีโอกาสที่เชลซีจะต้องใช้เวลามากกว่า 3-4 ปีในการจะไล่ตามคู่แข่งกลับมาทันอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของสโมสรอย่างอบราโมวิชไม่สามารถใช้อำนาจทางการเงินแก้ไขปัญหาได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วยความบ้าคลั่งของตลาดการซื้อขาย หรือการที่มีกฎ Financial Fair Play ที่สอดส่องให้ทุกสโมสรอยู่ในครรลองคลองธรรมเรื่องการใช้เงิน
เชลซีพยายามต่อสู้คดีมาครึ่งปีแล้วครับ โดยได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของฟีฟ่า แต่ถูกปฏิเสธคำร้องเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เวลานี้พวกเขาตัดสินใจยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS)
เป้าหมายคือหากจะไม่รอดจากการถูกลงโทษจริง อย่างน้อยก็ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองเลื่อนการลงโทษออกไปก่อนจนกว่าจะมีการตัดสิน ซึ่งนั่นหมายถึงเชลซีจะมีโอกาสและเวลาในการซื้อผู้เล่นในช่วงตลาดการซื้อขายรอบนี้ ซึ่งเหลือเวลาถึงแค่วันที่ 8 สิงหาคมเท่านั้นตามระยะเวลาทำการของตลาดนักเตะอังกฤษ หรือรอบหน้าในช่วงต้นปี
แต่สถานการณ์นี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าบทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และในเวลาแบบนี้ เป็นการดีกว่าหากประเมินสถานการณ์เอาไว้ ‘เลวร้ายที่สุด’ ก่อนหรือหมดสิทธิ์ซื้อผู้เล่นใหม่
ทางออกของเรื่องนี้ที่พวกเขาจะทำได้มีสองอย่างครับ
อย่างแรกคือรักษาผู้เล่นที่มีเอาไว้ให้ได้มากที่สุด และอย่างต่อมาคือหันมาผลักดันผู้เล่นเยาวชนของสโมสรเองที่มีอยู่มากมาย
นั่นนำไปสู่การแก้ไขโจทย์ต่อไปของเชลซี เมื่อพวกเขาจำเป็นต้องมองหาผู้จัดการทีมคนใหม่เพื่อแทนที่ เมาริซิโอ ซาร์รี กุนซือชาวอิตาลีที่สามารถพาทีมจบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมอันดับ 3 และได้แชมป์ยูโรปาลีกมาครอง
อันที่จริงความสำเร็จนั้นดีพอที่จะทำให้ซาร์รีได้ทำงานต่อในเดอะบริดจ์ครับ แต่จากสิ่งที่เจ้าตัวเผชิญตลอดฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับแฟนบอล ไปจนถึงความสัมพันธ์กับผู้เล่นในสนามที่ลุกลามร้ายแรงถึงขั้นที่เกิดเหตุไม่คาดคิดในนัดชิงลีกคัพกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ เกปา อาร์ริซาบาลากา ผู้รักษาประตูอายุน้อย ขัดขืนคำสั่งไม่ยอมถูกเปลี่ยนตัวออกจากสนาม ซึ่งเป็นจุดตกต่ำที่สุดของซาร์รีกับเชลซี
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ซาร์รีไม่ขออยู่ทำงานที่เชลซีต่อไป และโชคดีที่ได้โอกาสไปคุมทีมที่ใหญ่กว่าอย่างยูเวนตุส
เก้าอี้ที่ว่างลงตรงม้านั่งสำรองของเชลซีนั้นยังน่าหลงใหลครับ เพียงแต่จากสถานการณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกลงโทษแบนห้ามซื้อผู้เล่นที่ทำให้งานกอบกู้ยากกว่าเดิมหลายเท่า มาจนถึงเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงานที่สามารถถูกปลดจากตำแหน่งได้ง่ายๆ และทิศทางของสโมสรที่ยังคลุมเครือจากปัญหาส่วนตัวของอบราโมวิช ทั้งหมดทำให้ใครก็ตามที่คิดจะมารับงานที่นี่ต้องคิดหนัก
หนักที่สุดคือการที่พวกเขาเสีย เอเดน อาซาร์ ซูเปอร์สตาร์หมายเลขหนึ่งให้กับเรอัล มาดริด ด้วย
เรื่องจึงดำเนินมาถึงจุดที่ทีมอย่างเชลซีตัดสินใจทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน ด้วยการเสนองานให้กับ แฟรงค์ แลมพาร์ด อดีตรองกัปตันทีมที่เป็นนักเตะที่ได้รับความนิยมสูงสุดของสโมสรกลับมารับงานผู้จัดการทีมอีกครั้ง
ความจริงการดึงตัวอดีตผู้เล่นกลับมาทำทีมนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกของวงการฟุตบอลหรือวงการกีฬาครับ เพราะการเป็นศิษย์เก่าของที่ใดนั้นย่อมหมายถึงมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของสโมสร นั่นเป็นข้อได้เปรียบ ไม่นับเรื่องของการสนับสนุนจากทุกฝ่าย
แต่สำหรับเชลซีเป็นเรื่องแปลก เพราะตลอดเวลาที่อบราโมวิชเป็นเจ้าของสโมสร เขาเลือกใช้งานเฉพาะผู้จัดการทีมในระดับท็อปของวงการเท่านั้น และไม่เคยใช้งานผู้จัดการทีมชาวอังกฤษมาก่อนแม้แต่คนเดียว
คนที่อบราโมวิชเลือกใช้งานประกอบไปด้วยผู้จัดการทีมชาวอิตาลี 5 คน, โปรตุเกส 2 คน, บราซิล, ดัตช์, สเปน และอิสราเอล โดยคนที่มีข้อกังขามากที่สุดคือ อัฟราม แกรนท์ คนสนิทดั้งเดิมที่ได้โอกาสในการคุมทีมช่วงสั้นๆ ในปี 2008 และคนที่หนุ่มที่สุดคือ อังเดร วิลลาส-โบอาส กุนซือดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการเมื่อ 8 ปีก่อน แต่เขามีประสบการณ์ในการทำงานมา 2 ปีในโปรตุเกส และผ่านการคุมทีมปอร์โตเหมือน ‘เดอะ สเปเชียล วัน’ โฆเซ มูรินโญ มาแล้ว
สำหรับแลมพาร์ดนั้นแตกต่างจากทุกคน เพราะเพิ่งจะมีประสบการณ์ในการทำงานเพียงแค่ปีเดียว และเป็นทีมในลีกล่างอย่างดาร์บี เคาน์ตี
กระนั้นผลงานของกุนซือมือใหม่วัย 41 ปี (อายุเท่ากับวิลลาส-โบอาสพอดี) ถือว่าใช้ได้ครับ พาทีมเข้าถึงรอบเพลย์ออฟเดอะแชมเปียนชิพ แต่แพ้ต่อแอสตัน วิลล่า พลาดการเลื่อนชั้นหวุดหวิด และทีมแกะเขาเหล็กของเขาก็ถือว่าเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลได้สวยงามมีเสน่ห์พอสมควร
จุดแข็งของแลมพาร์ดยังอยู่ที่การดึงศักยภาพนักเตะดาวรุ่งมาใช้งานได้ดี ซึ่งในทีมดาร์บี เขาได้ แฮร์รี วิลสัน นักเตะเยาวชนตลอดกาลของลิเวอร์พูลมาร่วมทีม และสามารถทำให้วิลสันกลายเป็นสตาร์ของทีมได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงตัวที่ยืมจากเชลซีอย่าง เมสัน เมาท์ และฟิกาโย โทโมรี ก็เล่นได้เยี่ยม
คุณสมบัติตรงนี้เองที่เชลซีหวังพึ่งในตัวเขามากเป็นพิเศษครับ เพราะทีมถึงคราวต้องพึ่งดาวรุ่งอย่าง คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย (ที่พวกเขาต่อสู้อย่างหนักจนสามารถรั้งตัวเอาไว้ได้), รูเบน ลอฟตัส-ชีค หรือแทมมี อับราฮัม ในฤดูกาลที่จะถึงนี้ และแลมพาร์ดน่าจะเป็นคนที่ช่วยชี้นำนักเตะเหล่านี้ได้ ประคับประคองสถานการณ์ให้สโมสรไปก่อน
ความเป็น ‘ไอคอน’ ของสโมสรยังจะทำให้งานของเขาง่ายขึ้นครับ การต่อต้านที่เคยเกิดขึ้นในช่วงของซาร์รีจะไม่มีวันเกิดขึ้นในยุคของเขา ช่วง ‘ฮันนีมูน’ ในตำแหน่งจะกินระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น
เมื่อรวมกับความเข้าใจในสถานการณ์แล้ว เป็นไปได้ที่แลมพาร์ดอาจจะไม่เผชิญเสียงวิจารณ์เลยอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งฤดูกาล
และหากโชคดีมีชัย เขาอาจจะทำได้เหมือน ซีเนดีน ซีดาน กับเรอัล มาดริด ที่ไม่ได้มีประสบการณ์มากมาย แต่รู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อนำทีมไปสู่ความสำเร็จได้ เป็นเรื่องโรแมนติกลูกหนังที่แอบฝันได้เหมือนกัน
ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ โรมัน อบราโมวิช ตัดสินใจที่จะต่อสายหาแลมพาร์ดเพื่อพูดคุยด้วยตัวเองประสาคนคุ้นเคย พร้อมการันตีความปลอดภัยให้ว่าเขาจะมีเวลาในการทำงานอย่างน้อย 2 ปี
เช่นนั้นแลมพาร์ดจึงตอบตกลง
เพราะถึงจะดูเป็นความเสี่ยงสำหรับแลมพาร์ดว่าจะเป็นการรับงานใหญ่เกินตัวที่เร็วเกินไปหรือไม่ แต่อีกด้านสำหรับเชลซีและอบราโมวิช พวกเขาเองก็เสี่ยงไม่แพ้กัน
ไม่ต่างอะไรจากการเล่นเกม ‘รัสเซียนรูเล็ตต์’
กระสุนมีนัดเดียว ใครดวงแข็งกว่าคนนั้นรอด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- ครั้งเป็นผู้เล่น แลมพาร์ดเป็นผู้เล่นที่ทำประตูสูงสุดให้เชลซีตลอดกาลด้วยจำนวน 211 ประตู (147 ประตูในพรีเมียร์ลีก) และลงเล่นในพรีเมียร์ลีกให้ทีมสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก จอห์น เทอร์รี คนเดียว
- แลมพาร์ดเป็นกัปตันทีมที่พาเชลซีพิชิตบาเยิร์น มิวนิก คว้าแชมเปียนส์ลีกมาครองได้ในปี 2012 (เทอร์รีติดโทษแบน แต่เปลี่ยนชุดเต็มยศลงมาถ่ายรูปกับเพื่อนๆ ในช่วงการฉลองแชมป์)
- เทอร์รีเชื่อว่าแลมพาร์ดคือตัวเลือกที่ดีที่สุดของเชลซีแล้ว
- ผลงานของแลมพาร์ดกับดาร์บีเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ลงเล่น 57 ชนะ 24 เสมอ 17 และแพ้ 16 ยิงได้ 90 เสีย 70
- แต่เอาเข้าจริงสถิติการคุมทีมของแลมพาร์ดกับดาร์บีไม่ได้ดีไปกว่าผู้จัดการทีมคนก่อนหน้าอย่าง แกรี โรเว็ตต์ โดยทั้งคู่ทำทีมจบอันดับ 6 เหมือนกัน และโรเว็ตต์มีผลงานรวมดีกว่า ชนะ 43.1% จาก 51 นัด ขณะที่แลมพาร์ดชนะ 42.1% จาก 58 นัด รวมถึงเก็บแต้มได้เยอะกว่า (75 ต่อ 74)
- นอกจากแลมพาร์ดแล้ว เชลซีจะได้ โจดี มอร์ริส อดีตเด็กฝึกหัดของสโมสรที่เป็นมือขวาของแลมพาร์ดในทีมดาร์บีกลับมาด้วย นอกจากนี้ยังมี ปีเตอร์ เช็ก อดีตผู้รักษาประตูก็กลับมารับบทผู้อำนวยการสโมสรด้วย
- ไม่มีใครทราบกำหนดที่แน่ชัดในกระบวนการพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการกีฬา คาดกันแค่ว่าจะใช้ระยะเวลาหลายเดือน