สถานการณ์ความผันผวนในตลาดทุนและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงในปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ออกใหม่ในปริมาณที่ลดลงจากปี 2562 ถึง 30% จากเดิมมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยหุ้นกู้กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (High Yield) ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมียอดการออกหุ้นกู้ใหม่ลดลงถึง 48% จากปี 2563
ในปีนี้ ทิศทางตลาดหุ้นกู้มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 2563 เป็นผลจากสถานการณ์ในตลาดทุนที่ปรับตัวกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงสำคัญ 2 ประการที่ตลาดหุ้นกู้ยังคงต้องเผชิญในปีนี้ นั่นคือ ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) แลความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิม (Rollover Risk)
โดยความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิม ล้วนเกี่ยวข้องกับต้นทุนภาระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล โดยขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การออกหุ้นกู้ใหม่ที่ล่าช้าย่อมส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยนั้นจำเป็นต้องปรับตัวสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย องค์กรธุรกิจควรเร่งออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นในปีนี้ เพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงินในระยะกลางถึงยาว
หลายครั้งการออกหุ้นกู้ใหม่มีสาเหตุมาจากการที่ธุรกิจจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อนำไปชำระหนี้ของหุ้นกู้เดิม (Roll Over) เมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยในการระดมทุนรอบใหม่ย่อมมีอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน ถือเป็นความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิมของธุรกิจต่อไป
ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทยแสดงให้เห็นว่า หุ้นกู้เรตติ้งต่ำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับลงทุน ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้เรตติ้งต่ำกว่า BBB และกลุ่มที่ไม่ได้จัดเรตติ้ง เป็นกลุ่มหลักที่จะเผชิญความเสี่ยงในปี 2564 นี้ เนื่องจากต้นทุนภาระดอกเบี้ยของหุ้นกู้เรตติ้งต่ำอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับลงทุนได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น และทิศทางของผลต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาลของหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) ที่มีอัตราเรตติ้งสูงกว่า BBB มีการปรับตัวลดลงเฉลี่ย 40 bps เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ขณะเดียวกัน หุ้นกู้กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment) ที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB นั้น กลับมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 bps ซึ่งสวนทางกับหุ้นกู้เรตติ้งดี
ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่สะท้อนต้นทุนภาระดอกเบี้ยตราสารหนี้ภาคเอกชนมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกันในหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน และหุ้นกู้กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน โดยช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่าผลตอบแทนของหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุนอยู่ใกล้เคียงในระดับเดิมที่ 3.1% ในทางตรงกันข้าม อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ต่ำกว่าระดับลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวสูงขึ้น 100 bps เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้กว่า 50 bps จากแนวโน้มของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับสูงขึ้นตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากต้นทุนการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นในกลุ่มหุ้นกู้ต่ำกว่าระดับลงทุน อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทดแทน (Refinancing Risk) ต่อธุรกิจที่จำเป็นต้องแสวงหาสภาพคล่องจากตลาดหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำ เนื่องจากต้องระดมทุนด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงกว่าเดิมเพื่อใช้ในการจ่ายดอกเบี้ยที่ครบกำหนด
เมื่อพิจารณาข้อมูลหุ้นกู้ในรายอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2564 มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระหนี้รวม 7.33 แสนล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน 5.79 แสนล้านบาท และกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่าระดับน่าลงทุนประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ไม่ได้จัดเรตติ้งอีกราว 8.4 หมื่นล้านบาท โดยมีธุรกิจการเงินและ อสังหาริมทรัพย์เป็นสองอุตสาหกรรมใหญ่ที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระหนี้หมดอายุในปริมาณมาก รวมมูลค่าประมาณ -3.75 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65% ของปริมาณหุ้นกู้ครบกำหนดชำระหนี้ทั้งหมดในปีนี้
หุ้นกู้ที่มีเรตติ้งต่ำทั้งในกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่าระดับน่าลงทุน และที่ไม่ได้จัดเรตติ้ง ธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังคงเป็นสองอุตสาหกรรมอันดับต้นที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระหนี้ โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีหุ้นกู้เรตติ้งต่ำที่ครบกำหนดชำระหนี้ 5.5 หมื่นล้านบาท และธุรกิจการเงินมีหุ้นกู้เรตติ้งต่ำกว่าระดับลงทุน 4.1 หมื่นล้านบาท จึงมีแนวโน้มที่ต้นทุนดอกเบี้ยของหุ้นกู้เรตติ้งต่ำในกลุ่มธุรกิจนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต การชะลอการออกหุ้นกู้ในธุรกิจเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยได้
หากพิจารณาด้วยสัดส่วนหุ้นกู้เรตติ้งต่ำต่อหุ้นกู้ที่ครบกำหนดทั้งหมด ธุรกิจบริการและท่องเที่ยวถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง เนื่องจากธุรกิจบริการมีหุ้นกู้ที่จะหมดอายุสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 15% ของหุ้นกู้อุตสาหกรรมบริการที่มีในตลาด และมีสัดส่วนหุ้นกู้กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุนค่อนข้างสูงที่ 30% ของหุ้นกู้อุตสาหกรรมบริการที่กำลังจะหมดอายุในปีนี้ทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจท่องเที่ยวมีภาระในการจ่ายหนี้ของหุ้นกู้ที่กำลังจะหมดอายุในปีนี้เกือบ 6.5 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 42% จากมูลค่าหุ้นกู้ในธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยในหุ้นกู้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังจะหมดอายุในปีนี้ มีหุ้นกู้กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุนอยู่ในสัดส่วนที่มากถึง 85%
ทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบต่อการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงในปี 2563 และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนกว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจนสามารถเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ หากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ อาจส่งผลให้ดีมานด์ของหุ้นกู้จากนักลงทุนลดลง การออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนอาจเป็นได้ไปอย่างจำกัด ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทดแทนได้ในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์