ถึงตอนนี้ตัวเลขผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ ‘หนีตาย’ ออกจากทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด UNHCR ประเมินว่าน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 123,000 คนเป็นอย่างน้อย โดยจุดหมายปลายทางที่พวกเขาเลือกไปเป็นที่แรกคือ ประเทศบังกลาเทศ
ขณะที่สถานการณ์ภายในรัฐยะไข่ตอนนี้ ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลเมียนมาจะหยุดยั้งปฏิบัติการใช้กำลังทหารปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาแต่อย่างใด หลายฝ่ายมองว่าเหตุการณ์นี้คือความพยายาม ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ และนำภูมิภาคอาเซียนเข้าสู่วิกฤตผู้อพยพระลอกใหม่อีกครั้ง
เมื่อคนนับแสนคนต้องเร่ร่อนจากถิ่นฐานที่เคยอยู่อาศัยซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากชายแดนประเทศไทย แม้ปลายทางจะอยู่ไกลถึงบังกลาเทศ แต่ก็น่าคิดว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากน้อยแค่ไหน
นี่อาจเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยควรจะทบทวนบทเรียนในอดีต และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คำเตือนถึงรัฐบาลไทย ผู้ลี้ภัยโรฮีนจากำลังจะมาเยือนอีกครั้ง
จากการปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮีนจากับกองกำลังทหารเมียนมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนอ้างในคำแถลงการณ์ว่า “กลุ่มติดอาวุธชาวบังกลาเทศบุกโจมตีสถานีตำรวจเมืองมองดอว์ในรัฐยะไข่ด้วยระเบิดที่ประกอบขึ้นเอง พร้อมกับร่วมกันโจมตีด่านตำรวจอีกหลายแห่ง”
เหตุการณ์นี้กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปฏิบัติการเข้าปราบปรามกลุ่มมุสลิมโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่อย่างหนักหน่วง จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮีนจาเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 400 คน และอีกนับแสนต้องอพยพหนีตายออกจากพื้นที่
ซึ่งในมุมมองของผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์การฟอร์ติฟายไรท์ ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เข้าขั้น ‘วิกฤตที่สุด’ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปี 2012 ที่มีการปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมโรฮีนจาและชาวพุทธในรัฐยะไข่
จากข้อมูลของทีมงานของฟอร์ติฟายไรท์ที่ทำงานในพื้นที่ ระบุว่ามีชาวมุสลิมโรฮีนจาอพยพออกจากพื้นที่วันละไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ใกล้เคียงกับการประเมินของ UNHCR ที่พุทธณีให้ความเห็นว่า “มักจะน้อยกว่าความเป็นจริงเสมอ” นั่นเป็นการสะท้อนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างแท้จริง
แล้วในเมื่อวิกฤตครั้งนี้รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา แต่ทำไมภาพผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ล่องเรือมาสู่น่านน้ำประเทศไทยถึงยังไม่เกิดขึ้น
พุทธณีให้คำอธิบายว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เมื่อผู้อพยพกำลังตกอยู่ในสภาพ ‘หนีตาย’ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากจะเดินทางไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่ใกล้ที่สุด นั่นคือประเทศบังกลาเทศ ที่มีแม่น้ำเพียงสายเดียวเป็นชายแดนกั้นกลางอยู่
“ถ้าเราดูจากบทเรียนครั้งที่แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังไม่มาถึงประเทศไทยภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นสักระยะ ซึ่งเมื่อไปถึงที่บังกลาเทศแล้ว ก็ต้องดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เพราะศักยภาพในการรองรับผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศก็มีไม่มากนัก และด้วยสภาพภูมิประเทศเองก็ถือว่าค่อนข้างลำบาก”
เมื่อถามว่าไทยควรเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร พุทธณีให้คำตอบว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ตามหลักสากลจะต้องถือว่าชาวโรฮีนจามีสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย เพราะเป็นการหนีภัยประหัตประหาร ดังนั้น แค่นโยบายมนุษยธรรมที่ไทยยึดถือมาโดยตลอดอาจไม่เพียงพอกับการคลี่คลายปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการ ‘ให้ข้าว ให้น้ำ’ แล้วผลักดันกลับสู่ทะเลอีกครั้งของรัฐบาลไทยถูกหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ในขณะเดียวกันยังเป็นการขัดกับหลักการระหว่างประเทศ Non-refoulement หรือการห้ามส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังรัฐที่ไม่ปลอดภัย ที่ชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขาอาจถูกคุกคาม ซึ่งแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่การไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยเป็นกฎหมายเชิงจารีตที่ทุกประเทศล้วนต้องปฏิบัติตาม
“ถามว่าครั้งนี้ไทยควรรับมืออย่างไร เราก็มีความหวังว่าไทยจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กติกาสากลระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากกว่าที่เคยเป็นมา”
วิกฤตครั้งใหม่ที่ไทยต้องเผชิญลำพัง
เช่นเดียวกับ ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ เจ้าของงานวิจัย ‘โรฮิงยา: คนไร้รัฐในรัฐต่างแดน’ ที่มองว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ‘น่ากลัว’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลเมียนมาประกาศให้พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ 3 เมืองเป็นเขตปฏิบัติการทางการทหาร และให้อำนาจกองทัพเมียนมาทำการปราบปรามกลุ่มมุสลิมโรฮีนจาได้อย่างเต็มที่ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ยังจะมีผู้ลี้ภัยอีกเป็นจำนวนมากที่หนีตายออกจากประเทศต้นทาง
“โจทย์ตอนนี้คือ เรามีคนกลุ่มใหม่ที่กำลังทะลักเข้าไปในประเทศบังกลาเทศ แต่อีกกลุ่มที่สำนักข่าวต่างๆ ยังไม่ได้โฟกัสมากนักคือชาวโรฮีนจาดั้งเดิมที่สูญเสียบ้านไปตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2012 ที่ต้องอาศัยอยู่ในแคมป์ทางตอนกลางของรัฐยะไข่ จำนวนกว่า 150,000-200,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาเขาต้องพึ่งพาอาหารจากหน่วยงานภายนอกมาโดยตลอด แต่ตอนนี้หน่วยงานภายนอกไม่สามารถขนอาหารไปให้พวกเขาในแคมป์ได้…
“ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะอดทนอยู่ในแคมป์ได้นานแค่ไหน” ศิววงศ์แสดงความกังวลกับ THE STANDARD
ความกังวลดังกล่าวยังไม่นับรวมผู้ลี้ภัยที่หนีเข้าประเทศบังกลาเทศ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ศิววงศ์ มองว่าเมื่อมีการจัดตั้งค่ายที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเรียบร้อยแล้ว ในระยะยาวด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก อาจบีบบังคับให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากต้องหลบหนีเอาชีวิตรอดอีกครั้ง
“หลังจากนี้ 3-6 เดือน ผมคิดว่าเราคงต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ UN ที่อยู่ในพื้นที่ว่ามีผู้ลี้ภัยหลบหนีจากค่ายเยอะแค่ไหน ซึ่งเมื่อหลบหนีออกมาแล้ว เป้าหมายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือการอพยพไปยังมาเลเซีย ฉะนั้น เส้นทางหลบหนีน่าจะเป็นเส้นทางเดิม คือต้องผ่านประเทศไทยในท้ายที่สุด”
ที่สำคัญคือคราวนี้ประเทศไทยต้องรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้เพียงลำพัง ต่างจากครั้งที่แล้วที่มีประเทศอย่างสหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
“ที่ผ่านมาเราได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกาในการรับคนบางส่วนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 แต่ในอนาคตคงไม่น่าจะมีแล้ว เพราะเมื่อปี 2012 อเมริกามีรัฐบาลเป็นพรรคเดโมแครต ซึ่งมีทีท่าด้านบวกในการช่วยเหลือผู้อพยพ แต่ในวันนี้เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ผมไม่กล้าคิดว่าถ้าเกิดมีผู้อพยพเข้ามาในไทยจริงๆ แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่คงไม่ง่ายที่เราจะจัดการกับปัญหานี้”
ท่าทีรัฐบาลไทย กุญแจสำคัญสู่การคลี่คลายวิกฤตโรฮีนจา
นอกจากปัจจัยภายนอกจากประเทศต้นทางอย่างเมียนมาที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งปฏิบัติการทางทหารในเร็ววัน เมื่อย้อนกลับมาดูปัจจัยภายในประเทศแล้ว ทีท่าของรัฐบาลไทยที่มีต่อปัญหานี้ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน
โดยภายหลังจากที่มีการอพยพหนีตายของชาวโรฮีนจา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการรับมือกับปัญหาดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็ย้ำกับทุกฝ่ายว่า “อย่าตื่นเต้น” และต้องให้เวลาเมียนมาในการแก้ไขปัญหาและไม่ควรยุ่งกับกิจการภายในของเขา
ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง ไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกผู้อพยพจากความขัดแย้งในรัฐยะไข่เป็น ‘เบงกาลี’ แทน ‘โรฮีนจา’ ซึ่งถือเป็นเหตุผลของทางเมียนมา ส่วนการเตรียมรับมือที่ชาวเบงกาลีอาจทะลักเข้ามายังประเทศไทยนั้น พล.อ. ประวิตร ให้คำตอบว่า “ไม่มีการทะลักเข้ามาแล้ว เพราะส่วนใหญ่ไปทางประเทศบังกลาเทศหมดแล้ว”
ด้าน พุทธณี แสดงความเห็นต่อท่าทีของรัฐบาลไทยว่า เมื่อฟังจากคำให้สัมภาษณ์แล้วคิดว่า รัฐบาลไทยมีความเกรงใจรัฐบาลเมียนมาค่อนข้างมาก ทั้งที่ไทยควรจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสียงที่แข็งแรงไปยังเมียนมาให้แก้ไขปัญหานี้โดยด่วน
“ปัจจุบันที่เราเห็นต้องบอกว่าท่าทีของแทบทุกประเทศในอาเซียนก็เงียบสงัดกันหมด ถึงแม้ว่าภาคประชาสังคมในบางประเทศจะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวก็ตาม แต่ในมุมมองส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ค่อนข้างเกรงใจรัฐบาลเมียนมา
“เราอยากเห็นรัฐบาลไทยมีบทบาทในเชิงรุกมากกว่านี้ในการสอบถาม ท้วงติงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดถ้าเกรงใจ ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์โดยตรง ก็สามารถสอบถามหรือแสดงความห่วงใยในความสูญเสียของพลเมืองได้เช่นกัน นั่นน่าจะเป็นท่าทีที่ถูกต้องมากกว่า”
ส่วน ศิววงศ์ มองว่า การเดินตามท่าทีของรัฐบาลเมียนมา อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะภารกิจสำคัญในวันนี้คือการผลักดันให้รัฐบาลเมียนมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยดึงการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่ม
“ถ้าไม่นับบังกลาเทศ ประเทศไทยจะเป็นด่านหน้าในการรับผู้อพยพที่จะเดินทางออกมา ภาระจึงอยู่ที่เรา ผมว่าวันนี้เราต้องยืนยันถึงผลประโยชน์ในแง่ความมั่นคงของประเทศที่จะต้องกดดันให้เมียนมาพยายามแก้ไขปัญหาของตัวเองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลไกความสัมพันธ์แบบทหารต่อทหารที่มีอยู่ หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือแม้แต่กลไกอาเซียน ที่ถ้าเกิดเราเลือกใช้กลไกอาเซียน อย่างน้อยๆ อินโดนีเซีย และมาเลเซียก็น่าจะพร้อมสนับสนุนในแนวทางเดียวกับเรา”
ขบวนการค้ามนุษย์ครั้งใหม่ และภัยก่อการร้าย ความเสี่ยงที่ไทยต้องเผชิญหลังจากนี้
ไม่เพียงแต่ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ชาวโรฮีนจาจำนวนมหาศาลที่หลบหนีจากประเทศเมียนมาในคราวนี้อาจทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ที่เคยเป็นมะเร็งร้ายบั่นทอนประเทศไทยคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
“หลังจากที่เกิดคดีประวัติศาสตร์และมีคำพิพากษาลงโทษขบวนการค้ามนุษย์ไปเมื่อเดือนที่แล้ว เราคิดว่าขบวนการค้ามนุษย์จะหยุดชะงักลง แต่กลายเป็นว่าเร็วๆ นี้ เราเพิ่งได้ข้อมูลใหม่มาว่ามันยังไม่ได้หยุด แต่กำลังมีการทยอยขนคนเข้ามาเป็นกองทัพมด ไม่ได้เอิกเกริกเหมือนที่เคยจับได้ ดังนั้น คงต้องเฝ้าระวังว่าขบวนการนี้จะพัฒนาไปได้ใหญ่แค่ไหน คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีขบวนการค้ามนุษย์เกิดขึ้นอีกไหม เพราะมันมีการนำคนเข้ามาแล้ว มีแคมป์ที่พักที่ปาดังเบซาร์เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เยอะมาก จากนี้ถ้าหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมายเกิดการหละหลวม ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ศิววงศ์ ให้ความเห็น
ขณะที่ พุทธณี ให้ความเห็นว่า ถ้าให้ประเมินตอนนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ขบวนการค้ามนุษย์จะกลับมาอีกครั้ง เพราะแม้แต่ชาวบังกลาเทศเองยังต้องเร่ร่อนเป็นมนุษย์เรือเดินทางไปหางานทำที่ต่างแดน เพราะฉะนั้น ชาวโรฮีนจาที่เพิ่งอพยพเข้าไปใหม่ก็คงมีสภาพไม่ต่างกัน
“คนบังกลาเทศเองที่ไม่ได้เผชิญปัญหาเรื่องการรุกไล่ หรือภัยประหัตประหาร เขายังต้องเป็นแรงงานข้ามประเทศเลย นั่นหมายความว่าบังกลาเทศก็ไม่พร้อมที่จะรับประชากรใหม่ๆ ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่พูดจากประสบการณ์ระยะสั้นบังกลาเทศอาจจะพอรองรับผู้ลี้ภัยได้ แต่ระยะยาวคงต้องช่วยกันคิด และนี่อาจเป็นคำถามสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย”
นอกจากนี้ ศิววงศ์ ยังฉายภาพให้เห็นปัญหาที่มองไปไกลกว่าแค่จำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาล แต่อาจหมายถึงความมั่นคงภายในภูมิภาคอาเซียนที่อาจถูกสั่นคลอนจากภัยก่อการร้ายรูปแบบใหม่
“แนวโน้มที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ คือการมองความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจสร้างความไม่พอใจต่อมุสลิมจำนวนมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่เคยไปร่วมเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ผมว่าคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะก่อเหตุในอนาคต โดยอ้างว่าเขาทำไปเพื่อชาวโรฮีนจา คือคนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรฮีนจา ไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิมเมียนมา แค่เป็นคนมุสลิมในประเทศอื่นๆ ที่รู้สึกว่าไม่มีใครต่อสู้เพื่อชาวโรฮีนจา อันนี้แหละที่ผมกังวลมากกว่า”
ศิววงศ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถึงตอนนี้แนวโน้มดังกล่าวเริ่มเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการประท้วงของชาวมุสลิมในอินโดนีเซียที่ใช้ระเบิดเพลิงขว้างเข้าไปในสถานทูตเมียนมา
“ถ้ารัฐบาลในอาเซียนไม่พยายามหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงต่อชาติพันธุ์โรฮีนจาในเมียนมาให้เร็วที่สุด ผมกังวลว่าความขัดแย้งจากเดิมที่เคยอยู่ในเมียนมา มันจะขยายตัวไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย” ศิววงศ์กล่าวทิ้งท้าย
แม้ขณะนี้นานาประเทศ รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจะออกมาเรียกร้องให้ทางการเมียนมายุติการใช้กำลัง แต่ดูเหมือนว่าแรงกดดันจากพื้นที่ห่างไกลจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเรื่องนี้ได้น้อยกว่าคาดหวังกันไว้ น่าคิดว่าหากประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกว่า แสดงบทบาทที่แข็งกร้าวต่อเรื่องนี้มากกว่าที่เป็นอยู่ ชะตากรรมของชาวโรฮีนจาจะดีขึ้นกว่านี้หรือไม่
https://www.youtube.com/watch?v=g1-VEzmO-rQ
Photo: AFP
อ้างอิง: