×

ไขปมคดีประวัติศาสตร์โรฮีนจา ทำไมไทยจึงเป็นดินแดนค้ามนุษย์

24.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • คดีโรฮีนจาที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาไป ถือเป็นคดีค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 เมื่อมีการพบหลุมฝังศพชาวโรฮีนจาหลายสิบรายบริเวณเทือกเขาแก้ว อำเภอปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา นำมาสู่การสืบสวนขยายผลที่สะท้อนให้เห็นขบวนการใหญ่ระดับชาติที่มีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคน
  • หากติดตามคดีนี้ตั้งแต่ต้นจะพบว่า ขบวนการค้ามนุษย์ดังกล่าวเปรียบได้กับขบวนการค้าทาสในสมัย 1970 ที่นำคนผิวสีจากแอฟริกามาเป็นแรงงานทาสในอเมริกา ในอีกด้านก็เป็นการสะท้อนว่าทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าประเทศไทยจะกล้าดำเนินคดีหรือลงโทษผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลระดับสูงหรือไม่ เพราะคดีนี้ถือเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คดีที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นจำเลย
  • ขณะนี้มีชาวโรฮีนจาอยู่ในประเทศไทยภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 200 คน กระจายตามสถานที่กักตัวของ ตม. ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงสิทธิอยู่อาศัยและทำงาน

 

Photo: Pornchai Kittiwongsakul/AFP

 

     หลังเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายจากขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติมาเนิ่นนานหลายปี ในที่สุดเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาก็ได้รับความยุติธรรม เมื่อศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาให้ พลโทมนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก รวมถึง โกโต้ง-ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ. สตูล และพวกรวม 62 คน มีความผิดในคดีค้ามนุษย์ชาวมุสลิมโรฮีนจา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี

 

Photo: Madaree Tohlala/AFP

 

     หลายคนยกให้คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากจะถูกจับตามองจากสื่อไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว คำพิพากษาของคดีนี้ยังมีความยาวถึง 540 หน้า ซึ่งศาลต้องใช้เวลาอ่านนานกว่า 12 ชั่วโมง ถือเป็นคดีแรกที่ศาลไทยใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากมีจำเลยในคดีมากถึง 103 คน (เสียชีวิต 1 คน) เหลือ 102 คน ยังไม่นับรวมกระบวนการพิจารณาคดีที่มีการสืบพยานรวมอีก 116 นัด เผยให้เห็นว่าคดีนี้มีความยิ่งใหญ่และสำคัญขนาดไหน

     คดีประวัติศาสตร์นี้สะท้อนถึงอะไร ชะตากรรมของชาวโรฮีนจาหลังคำพิพากษาจะดีขึ้นหรือไม่ และปัญหาค้ามนุษย์จะหมดไปจากประเทศไทยได้จริงไหม THE STANDARD ชวนคุณเปิดมุมมองใหม่ต่อคดีนี้

ชาวโรฮีนจาที่ถูกขนส่งมาเหล่านี้จะถูกเรียกว่า ‘ไก่ดำ’ ที่มีการนับจำนวนเป็นคอกๆ ถือเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้าอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อนที่จะมีการต่อรองราคาซื้อขายต่อไป

Photo: Christophe Archambault/AFP

 

ย้อนรอยชะตาชีวิตชาวโรฮีนจา -สินค้าในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติระดับโลก

     จากคำพิพากษาจำนวน 540 หน้า พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์การฟอร์ติฟายไรท์ สรุปถึงขบวนการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นให้ THE STANDARD ฟังว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นที่รัฐยะไข่ ในประเทศเมียนมา อยู่ติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าประเทศต้นทางอย่างเมียนมาปฏิเสธที่จะให้สัญชาติกับชาวโรฮีนจา เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีการใช้กำลังอย่างโหดร้ายกับชาวโรฮีนจา จนทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และไร้ที่อยู่อาศัย

     เงื่อนไขเหล่านี้เองทำให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากไม่มีทางเลือก และจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานออกจากเมียนมา เป็นที่มาของขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ที่จะทำหน้าที่ชักชวนชาวโรฮีนจาให้เดินทางออกมาจากพื้นที่ ยิ่งในภายหลังที่ธุรกิจค้ามนุษย์เฟื่องฟู ชาวโรฮีนจาบางคนจึงถูกลักพาตัว ก่อนที่จะขนลงเรือลำใหญ่ทีละหลายร้อยคนเพื่อให้คุ้มกับค่าน้ำมันของเรือแต่ละเที่ยว

 

Photo: Christophe Archambault/AFP

 

     เมื่อลงเรือเรียบร้อย จุดหมายปลายทางสำคัญคือประเทศมาเลเซีย ที่มีการรองรับผู้อพยพชาวโรฮีนจาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะชาวโรฮีนจาที่ถือบัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR ซึ่งจะสามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศมาเลเซียได้ อีกทั้งยังมีชุมชนชาวโรฮีนจาขนาดใหญ่หลายหมื่นคนอาศัยอยู่ที่นั่น ขณะที่ประเทศไทยเองถูกใช้เป็นเส้นทางผ่านแดนในการส่งตัวคนเหล่านี้ไปที่จุดหมายปลายทาง

     เมื่อขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง พังงา หรือสตูล เสร็จเรียบร้อย ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยจะมีหน้าที่นำรถบรรทุกขนาดใหญ่ขนคนนับร้อยไปยังแคมป์ที่พักในจังหวัดสงขลา บริเวณเทือกเขาแก้ว ซึ่งเป็นเหมือนจุดพักสินค้าก่อนส่งมอบไปยังมาเลเซียในท้ายที่สุด

     ชาวโรฮีนจาที่ถูกขนส่งมาเหล่านี้จะถูกเรียกว่า ‘ไก่ดำ’ ที่มีการนับจำนวนเป็นคอกๆ ถือเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้าอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อนที่จะมีการต่อรองราคาซื้อขายต่อไป

     จากคำบอกเล่าของชาวโรฮีนจาหลายคน พุทธณีเปิดเผยสาเหตุที่ชาวโรฮีนจาเสียชีวิตว่าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือชาวโรฮีนจาหลายรายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่มาก หลายคนที่ถูกช่วยออกมาอยู่ในสภาพที่เดินไม่ได้ เพราะมีอาการป่วย เนื่องจากการขาดวิตามินบีมาเป็นเวลานาน อาหารไม่เพียงพอ อีกทั้งแคมป์ที่พักยังเป็นจุดที่มีฝนตกชุก สภาพอากาศชื้น ไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย หลายคนจึงเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายอ่อนแอ

ถ้าในอนาคตเราไม่ได้สนใจเรื่องนี้อีกต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะสร้างขบวนการนี้ขึ้นมาใหม่มียังคงมีอยู่ เพราะโครงสร้างอำนาจทุกอย่างยังเหมือนเดิม อีกทั้งประเทศต้นทางก็ยังมีปัญหา

Photo: Christophe Archambault/AFP

 

     อีกเหตุผลหนึ่งคือถูกสังหาร เพราะจากคำให้การในศาล พยานหลายคนระบุตรงกันว่ามีกระบวนการเรียกค่าไถ่ก่อนที่จะทำการส่งตัวไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งถ้าญาติชาวโรฮีนจาคนใดไม่มีเงินจ่ายหรือขัดขืน สุดท้ายคนเหล่านั้นจะถูกสังหาร ซึ่งหลุมศพที่มีการค้นพบอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายๆ หลุม

     “คดีนี้ทำให้เราเห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนมากๆ โดยเฉพาะขบวนการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ที่ใช้ประเทศไทยเป็นข้อต่อ ซึ่งการขนคนหลายร้อยผ่านระนองมาจนถึงสงขลาเป็นระยะทางกว่า 500 กิโลเมตรไปจนถึงมาเลเซียได้นานนับปี แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการจัดการที่เป็นระบบอย่างมาก ขณะที่เส้นทางก็ต้องเปิดโล่ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเข้มแข็งของขบวนการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเรียกว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดขบวนการหนึ่งของโลกก็คงไม่ผิดนัก เปรียบได้กับอาชญากรรมข้ามชาติอย่างการค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ระดับโลกได้เลย”

เราอาจไม่อยากช่วยเหลือคนต่างด้าวเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่าการไม่ช่วยเหลือของเรามันทำให้กระบวนการนอกกฎหมายกลายเป็นทางเลือกของคนกลุ่มนี้ แล้วสุดท้ายเราจะทำยังไง

Photo: Romeo Gacad/AFP

 

ชะตากรรมโรฮีนจาหลังคดีประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกจับตามอง

     ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทยถูกกดดันจากนานาชาติมาโดยตลอดสำหรับปัญหาการค้ามนุษย์ที่กัดกร่อนภาพลักษณ์ของประเทศมาเนิ่นนาน ขณะที่แนวโน้มของโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองว่า รัฐบาลจะมีท่าทีจริงจังแค่ไหนในการแก้ปัญหา

     พุทธณีให้ความเห็นว่า หากติดตามคดีนี้ตั้งแต่ต้นจะพบว่า ขบวนการค้ามนุษย์ดังกล่าวเปรียบได้กับขบวนการค้าทาสในสมัย 1970 ที่นำคนผิวสีจากแอฟริกามาเป็นแรงงานทาสในอเมริกา ในอีกด้านก็เป็นการสะท้อนว่าทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าประเทศไทยจะกล้าดำเนินคดีหรือลงโทษผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลระดับสูงหรือไม่ เพราะคดีนี้ถือเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คดีที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นจำเลย

     ด้าน ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ในฐานะผู้ติดตามปัญหานี้มาอย่างเนิ่นนานเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คดีนี้กลายเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาชญากรรมครั้งนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือจากคนของรัฐ ภายใต้นโยบายและกฎหมายที่รัฐอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้โดยปราศจากการตรวจสอบ

     ซึ่งถึงแม้จะมีการพิพากษาลงโทษคนผิดแล้ว แต่ชาวโรฮีนจาอาจตกเป็นสินค้าในขบวนการค้ามนุษย์อีกเมื่อไรก็ได้ ตราบใดที่ประเทศต้นทางยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ในระยะยาว เพียงแค่รอเวลาที่รัฐบาลไทยจะปล่อยปละละเลยอีกครั้ง ศิววงศ์ให้ความเห็นหลังการตัดสินคดีว่า

     “โดยสภาพเงื่อนไขทั้งในบ้านเกิด ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและมาเลเซีย ผมคิดว่าทุกอย่างจะยังคงเหมือนเดิม รวมถึงกฎหมายที่เราเคยใช้และทำให้คนอย่าง พลโทมนัสสามารถใช้อำนาจในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ยังคงมีอยู่ แล้วเอาเข้าจริงก็ยังมีทหาร ตำรวจ ที่เคยสังกัดในหน่วยงาน กอ.รมน. เช่นเดียวกับพลโทมนัส ถูกออกหมายจับ แต่ยังจับไม่ได้อีกหลายคน แต่การถูกกดดันจากทั้งอเมริกาและยุโรปในเรื่องของการค้ามนุษย์ทำให้รัฐบาลต้องพยายามหยุดยั้งขบวนการขนาดใหญ่

     “ถ้าในอนาคตเราไม่ได้สนใจเรื่องนี้อีกต่อไป ก็เป็นไปได้ว่าโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะสร้างขบวนการนี้ขึ้นมาใหม่มียังคงมีอยู่ เพราะโครงสร้างอำนาจทุกอย่างยังเหมือนเดิม อีกทั้งประเทศต้นทางก็ยังมีปัญหา และมาเลเซียก็ยังเป็นปลายทางที่ใหญ่ที่สุดอยู่ดี เรียกได้ว่ามีทั้งแรงผลักจากบ้านเกิดและแรงดึงดูดจากมาเลเซีย เหลือแค่รอจังหวะที่ไทยจะปล่อยปละละเลยเรื่องนี้อีกครั้งเท่านั้นเอง ดังนั้นคดีนี้ถือว่ามีความสำเร็จ แต่ยังไม่จบแน่นอน”

 

Photo: Romeo Gacad/AFP

 

โรฮีนจา 200 กว่าชีวิตยังเผชิญชะตากรรมเลวร้ายในประเทศไทย

     ย้อนกลับไปในปี 2014 ก่อนที่จะเกิดคดีการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในขณะนั้นทางการไทยสามารถจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮีนจาได้เป็นจำนวนมากกว่า 2,000-3,000 คน สถานที่กักตัวของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจึงต้องทำหน้าที่เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวของชาวโรฮีนจาจำนวนมากที่รอการผลักดันกลับประเทศ

     จากประสบการณ์ที่เคยลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนชาวโรฮีนจาในสถานกักตัวเหล่านั้น ศิววงศ์เล่าว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยไร้สัญชาติอยู่ในขั้นน่าเวทนา เนื่องจากสถานกักตัวของ ตม. ถูกออกแบบมาสำหรับกักตัวคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองเพื่อรอส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่นานนัก คนที่ถูกกักตัวจึงมักจะใช้เวลาในสถานกักเพียงแค่ 1-2 คืน ดังนั้นสถานที่กักตัวจึงออกแบบมาไว้เป็นเพียงที่พักชั่วคราว ไม่ได้แยกสัดส่วนเป็นโรงนอนหรือโรงอาหารอย่างชัดเจน

     แต่เมื่อชาวโรฮีนจาถูกจับกุมและไม่มีประเทศต้นทางที่จะส่งกลับ ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในห้องกักตัวที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการอยู่อาศัยในระยะยาว หลายรายจึงเจ็บป่วยและถึงขั้นเสียชีวิต

     “ผมเคยไปสถานที่กักตัวที่อำเภอสะเดา จังหวัดระนอง เมื่อสักประมาณ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นสภาพมันเกินความสามารถของห้องกักจะรองรับไหว สิ่งแรกที่รู้สึกคือแม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่อยากจะขึ้นไป เพราะที่ผมไปเป็นอาคารเก่า 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นสำนักงานของเจ้าหน้าที่ ตม. ส่วนชั้นบนเป็นห้องกักที่แบ่งเป็น 4 ห้อง มีหน้าต่างบานเกล็ดไว้บังฝน ปล่อยให้ลมเข้าออกได้ แต่พอคนเยอะ ลมก็ระบายไม่ทัน เจ้าหน้าที่เลยต้องติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ซึ่งเป็นพัดลมที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และมีเสียงดังมาก

     “พอ ตม. พาผมขึ้นไป เจ้าหน้าที่เองก็ต้องใส่หน้ากากกันเชื้อโรค เรื่องของเสียก็มีปัญหา เพราะส้วมอยู่ในบริเวณเดียวกับที่พักอาศัย เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีกำลังจะขนลงมาทิ้งทุกวัน และคงไม่มีใครอยากทำ คนที่อยู่ในนั้นนานๆ ก็ต้องซักผ้า อาบน้ำ มีผ้าเปียกๆ ตากอยู่เป็นจำนวนมากจนส่งกลิ่นอับ ซึ่งถึงตอนนั้นพัดลมระบายอากาศก็ไม่ค่อยได้ช่วย และผมคิดว่าเสียงดังขนาดนั้น เป็นเราคงนอนไม่หลับ

     “ผมขึ้นไปแค่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ลงมา แต่ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นภาพที่ดีนัก แม้กระทั่งนักโทษในเรือนจำก็อาจจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนในห้องกัก”

 

Photo: Christophe Archambault/AFP

 

     ตัดภาพกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ศิววงศ์เปิดเผยว่าขณะนี้มีชาวโรฮีนจาอยู่ในประเทศไทยภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 200 คน กระจายตามสถานที่กักตัวของ ตม. ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งที่สงขลา ระนอง สุราษฎร์ธานี รวมถึงปทุมธานี ที่เป็นกรณีพิเศษสำหรับชาวโรฮีนจาที่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยและเตรียมอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา

     แม้ว่าสภาพแออัดยัดเยียดและกลิ่นอับในห้องกักตัว ตม. จะเจือจางไปบ้างแล้วจากจำนวนคนที่ลดลงอย่างมาก แต่ชาวโรฮีนจาหลายคนก็ยังมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ ไม่มีจุดหมายปลายทาง ได้แต่เฝ้ารอแสงสว่างในห้องกักตัว

     “ถึงแม้คดีที่เกิดขึ้นจะสะท้อนว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ แต่คนอีก 200 คนนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงสิทธิอยู่อาศัยและทำงาน ตราบใดที่เรายังไม่มีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มนี้ ลองนึกว่าถ้าเป็นตัวเอง ผมก็คงต้องพยายามหาทางรอด ถ้าผมมีทางเลือกอื่น แม้จะผิดกฎหมาย แต่เป็นทางรอดเดียว ผมก็คงต้องเลือก เราอาจไม่อยากช่วยเหลือคนต่างด้าวเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่าการไม่ช่วยเหลือของเรามันทำให้กระบวนการนอกกฎหมายกลายเป็นทางเลือกของคนกลุ่มนี้ แล้วสุดท้ายเราจะทำยังไง” ศิววงศ์ตั้งคำถามกับรัฐบาลไทย

     เช่นเดียวกับพุทธณีที่มองว่า เมื่อคนต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกับชาวโรฮีนจาที่แม้กระทั่งประเทศของตัวเองก็ยังไม่ยอมรับ มันจึงเป็นการง่ายที่พวกเขาจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการนอกกฎหมาย รวมไปถึงขบวนการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางแก้ที่อยากจะเสนอไปยังรัฐบาลมีหลายระดับ ทั้งเรื่องของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพูดคุยและร่วมแก้ปัญหากับรัฐบาลเมียนมา เพราะไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้

     “อีกระดับคืออยากให้รัฐบาลไทยยอมรับว่า ถึงอย่างไรเราก็ปฏิเสธการอพยพคนจากเมียนมามาไทยไม่ได้ ถ้าประเทศต้นทางยังไม่พร้อม ไทยก็ควรจะมีมาตรการที่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถอยู่ชั่วคราวได้ภายใต้กฎหมายของเรา ถ้ารัฐบาลห่วงเรื่องความมั่นคงของประเทศ แทนที่เราจะทำให้เขาเป็นคนใต้ดินที่ผิดกฎหมาย ก็อยากเสนอให้รัฐบาลทำให้เขาเป็นคนไม่ผิดกฎหมาย แล้วออกเป็นมาตรการและกระบวนการที่เราจะสามารถติดตามดูแลเขาได้ภายใต้กฎหมายที่เรามีอยู่”

     ถ้ามองในแง่ความมั่นคง ชาวโรฮีนจาอาจเป็นผู้อพยพคนละเชื้อชาติที่เราไม่ต้องการ แต่หากมองในแง่ของความเป็นมนุษย์ พวกเขาเหล่านี้ต่างก็มีชีวิตจิตใจไม่ต่างกันกับเรา

     คำถามง่ายๆ คือเราจะทำอย่างไรให้เพื่อนมนุษย์เหล่านี้มีชะตาชีวิตที่ดีขึ้นได้บ้าง และนั่นอาจเป็นคำตอบของปัญหาทั้งหมดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

Cover Photo: MANAN VATSYAYANA/AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X