วานนี้ (6 ธันวาคม) ผู้แทนของผู้เคราะห์ร้ายชาวโรฮีนจาในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยื่นฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจาก Facebook เป็นเงิน 1.5 แสนล้านปอนด์ (ราว 6.7 ล้านล้านบาท) หลังจากที่ Facebook ล้มเหลวในการจัดการอัลกอริทึมที่สะท้อนสเตตัสของความเกลียดชัง ล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้เกิดการยุยงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาในเมียนมา
โดยจดหมายจากทนายของชาวโรฮีนจาส่งถึงสำนักงาน Facebook ในสหราชอาณาจักรชี้ว่า สมาชิกผู้ใช้บัญชี Facebook รวมถึงครอบครัวของพวกเขาตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่รุนแรง การฆาตกรรมและความป่าเถื่อนต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาที่ขับเคลื่อนโดยคณะผู้ปกครองประเทศและบรรดาพลเรือนที่มีแนวคิดสุดโต่งในเมียนมา โดยมีสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่เริ่มใช้ในเมียนมาเมื่อปี 2011 และขยายจำนวนผู้เข้าใช้งานเพิ่มมากขึ้นเป็นหนึ่งช่องทางในการผลักดันกระแสความเกลียดชัง
เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา Facebook ออกมายอมรับว่า ในช่วงเวลานั้นอาจไม่ได้ดำเนินมาตรการที่มากเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการยุยุงไม่ให้ใช้ความรุนแรงและขับเคลื่อนกระแสความเกลียดชังต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมาที่นับถือศาสนาอิสลามได้ จนกลายเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ขับเคลื่อนความเกลียดชังและเกี่ยวโยงกับความรุนแรงในโลกออฟไลน์
จากรายงานขององค์การสาธารณประโยชน์ด้านมนุษยธรรมอย่าง Doctors Without Borders เผยว่า ในปี 2017 กองทัพเมียนมาปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาไปมากกว่า 1 หมื่นราย ท่ามกลางกระแสการไหลทะลักของชาวโรฮีนจาออกนอกประเทศและลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ค่ายผู้ลี้ภัย Cox’s Bazar ในบังกลาเทศที่มีจำนวนชาวโรฮีนจาลี้ภัยอยู่มากที่สุดในโลกกว่า 1 ล้านราย และขณะนี้ Facebook ก็กำลังเผชิญสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับกรณีปัญหาความรุนแรงภายในเอธิโอเปียที่มีการใช้ข้อความทางสื่อโซเชียลในการปลุกปั่นให้ประชาชนลุกฮือและใช้ความรุนแรง
ภาพ: Mushfiqul Alam / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: