ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาฟ้อง Facebook เกี่ยวกับความล้มเหลวในการหยุดการแพร่กระจายคำพูดแสดงความเกลียดชัง ที่มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในเมียนมา
CNN Business รายงานว่า ในสัปดาห์นี้ บริษัทกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้เปิดตัวแคมเปญทางกฎหมายกับ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ในข้อกล่าวหาที่ผู้บริหารทราบถึงการโพสต์ กลุ่ม และบัญชีที่ต่อต้านชาวโรฮีนจาบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก และแทบไม่ได้ทำอะไรเลยในการควบคุมเรื่องดังกล่าว
ตามเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นสำหรับการรณรงค์ระบุว่า ทนายความเป็นตัวแทนของ “ชาวโรฮิงญาทั่วโลก รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ”
Edelson บริษัทกฎหมายของสหรัฐฯ กล่าวใน Twitter ว่า ได้ยื่นฟ้องในคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มกับ Meta ในแคลิฟอร์เนีย สำเนาคำร้องที่ตรวจสอบโดย CNN Business แสดงให้เห็นว่า โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าชดเชยมากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5 ล้านล้านบาท
ในจดหมายที่ส่งถึงสำนักงานของ Facebook ในลอนดอนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา McCue Jury & Partners กล่าวว่าได้ประสานงานกับพันธมิตรในสหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่ม ‘การรณรงค์ทางกฎหมายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อแสวงหาความยุติธรรมสำหรับคนโรฮีนจา’
“ลูกค้าของเราตั้งใจที่จะดำเนินคดีกับ Facebook ในศาลสูงสำหรับการกระทำ และการละเว้นที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง บางครั้งถึงแก่ชีวิตและเกิดกับลูกค้าของเรา และสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา” สำนักงานกฎหมายเขียนไว้ในจดหมาย ซึ่งถูกโพสต์บนเว็บไซต์แคมเปญ
การอ้างสิทธิ์ทางกฎหมายในสัปดาห์นี้กล่าวหาว่า Facebook ใช้อัลกอริทึม ‘ที่ขยายคำพูดแสดงความเกลียดชังต่อชาวโรฮีนจาบนแพลตฟอร์มของตน’ เช่นเดียวกับความล้มเหลว ‘ในการลบโพสต์ที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงหรือมีวาจาสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา’ Mishcon de Reya เขียนไว้ในแถลงการณ์
นอกจากนี้ Facebook ยังถูกกล่าวหาว่า ‘ล้มเหลวในการปิดบัญชีบางบัญชี หรือลบกลุ่มหรือเพจบางกลุ่ม ซึ่งใช้เพื่อเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชังและ/หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง’
CNN Business ระบุว่า Meta ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในวันอังคาร
ชาวโรฮีนจาเป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมไร้สัญชาติในรัฐยะไข่ของเมียนมา คาดว่ามีประชากรราว 1 ล้านคน ซึ่งเมียนมาไม่นับพวกเขาเป็นพลเมือง หรือเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นที่ยอมรับในประเทศ โดยในปี 2016 และ 2017 กองทัพเริ่มรณรงค์การสังหารและการลอบวางเพลิงอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งบังคับให้ชนกลุ่มน้อยโรฮีนจามากกว่า 740,000 คนต้องหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ
ในปี 2019 องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง’ โดยกองทัพยังคงดำเนินต่อไปในรัฐชาติพันธุ์ของยะไข่ ชิน ฉาน คะฉิ่น และกะเหรี่ยง ผู้รอดชีวิตได้เล่าถึงความโหดร้ายที่สร้างบาดแผลทางใจ รวมถึงการข่มขืนหมู่ การสังหารหมู่ การทรมาน และการทำลายทรัพย์สินด้วยน้ำมือกองทัพ
อ้างอิง: