×

ครบ 5 ปีหลังเหตุกวาดล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในเมียนมา วันนี้ชนกลุ่มน้อย ‘โรฮิงญา’ เป็นอย่างไร?

26.08.2022
  • LOADING...
โรฮิงญา

วันที่ 25 สิงหาคม ถือเป็นวันครบรอบ 5 ปีที่กองทัพเมียนมาได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มมุสลิมโรฮิงญา ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยหลายแสนคนต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปอาศัยอยู่ในบังกลาเทศ และจนถึงวันนี้ยอดผู้อพยพได้พุ่งแตะใกล้หนึ่งล้านคนแล้ว

 

แม้เมียนมาจะไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศ และอ้างว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดเป็นผู้ที่แอบลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวโรฮิงญาได้อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว การที่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธชาวโรฮิงญา ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกรังแกข่มเหงจากทั้งรัฐ จนต้องใช้ชีวิตระหกระเหินด้วยความยากลำบาก

  • โรฮิงญาคือใคร?

โรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาวอิสลามซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมามาหลายชั่วอายุคน อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศ และผลักไสว่าเป็นพวกลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาต้องกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศ และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

 

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบันยังมีชาวโรฮิงญาราว 600,000 คนที่ยังปักหลักอยู่ในรัฐยะไข่ ส่วนอีกเกือบล้านคนนั้นได้เลือกหลบหนีไปอยู่ในบังกลาเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนที่กระจายตัวไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

  • ชนกลุ่มน้อยที่รัฐเกลียดชัง

ชาวโรฮิงญาเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงจากกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่หลังช่วงได้รับเอกราชจากอังกฤษในช่วงปลายทศวรรษ 1940 โดยข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เผยว่า ในช่วงปี 1990-1999 มีชาวโรฮิงญามากกว่า 300,000 คนที่ตัดสินใจหนีตายเข้าสู่บังกลาเทศ นอกจากนี้ เหตุปะทะกันอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ในปี 2012 และ 2015 ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องพลัดถิ่นมากขึ้น

 

ในเดือนตุลาคม 2016 เกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดนของเมียนมา ส่งผลให้กองทัพเปิดฉากปราบปรามชาวโรฮิงญา โดยโทษว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการก่อกบฏ เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 87,000 คนรีบลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

 

แต่หายนะที่เป็นฝันร้ายของชาวโรฮิงญาอย่างแท้จริงได้เริ่มขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2017 เมื่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาเปิดฉากโจมตีด่านตำรวจหลายแห่งในรัฐยะไข่ ส่งผลให้กองทัพเมียนมาส่งทหารเข้าตอบโต้อย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการไล่ฆ่าพลเรือนชาวโรฮิงญาที่ปราศจากอาวุธ เผาหมู่บ้านจนราบเป็นหน้ากลอง อีกทั้งยังมีรายงานว่าเด็กและสตรีหลายคนถูกทหารข่มขืนด้วย จนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า การกระทำของทหารเมียนมาคือการจงใจกวาดล้างชาติพันธุ์ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ชาวโรฮิงญาอพยพถอยร่นออกมาจากเมียนมาราว 700,000 คน

 

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2019 ศาลอาญาระหว่างประเทศได้อนุมัติคำขอให้ดำเนินคดี เพื่อสอบสวนการกระทำของกองทัพเมียนมาที่เป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาราว 980,000 คนที่ต้องระหกระเหินออกจากเมียนมาเพื่อไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 936,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง (Kutupalong) และนายาปารา (Nayapara) ในเขตค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ

  • ชีวิตในค็อกซ์บาซาร์ 

แม้จะหนีออกมาจากเมียนมาได้ แต่ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้สุขสบาย

 

ลองหลับตานึกถึงภาพของผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ผ้าใบเก่าๆ บ้างก็เป็นเพิงที่ปลูกไว้อย่างลวกๆ พอได้คุ้มแดดคุ้มฝน ไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิด นั่นคือสิ่งที่ชาวโรฮิงญาเกือบล้านคนต้องเผชิญมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว 

 

ค่ายผู้ลี้ภัยมีสภาพไม่ต่างจากชุมชนแออัด ไร้สุขอนามัย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความสะอาดที่เรียกได้ว่าย่ำแย่ แม้แต่แสงสว่างก็ยังไม่พอ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเผชิญกับฝนมรสุมที่รุนแรง จนทำให้เกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันอยู่บ่อยครั้ง 

 

เมื่อเดือนมีนาคม 2021 เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในค่ายผู้ลี้ภัย เพลิงเผาไหม้ที่อยู่อาศัยนับพันแห่งวอดวาย 15 ชีวิตต้องจากไปจากเหตุเพลิงนรกในครั้งนั้น และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดก็ยิ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่หนักกว่าเดิม ความมั่นคงทางอาหารก็ต่ำลงทุกขณะ

 

ส่วนในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ ค่ายผู้ลี้ภัยในบ็อกซ์บาซาร์ก็เผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจำนวนผู้ป่วยนั้นได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ เพราะในจำนวนประชากรที่อัดแน่นกันอยู่เกือบหนึ่งล้านคน กลับมีศูนย์บริการสาธารณสุขเบื้องต้นเพียง 44 แห่ง และสถานีอนามัยอีกเพียง 90 แห่ง 

  • แม้ไร้ความหวัง แต่ยังฝันถึงวันพรุ่งนี้

5 ปีผ่านไป ชาวโรฮิงญายังมีชีวิตที่ยากลำบาก แม้แต่การเข้าถึงอาหารยังทำได้ยาก ฉะนั้น ชีวิตของพวกเขาจึงแทบไม่มีสิทธิ์คิดฝันถึงวันพรุ่งนี้ เพราะลำพังแค่มีชีวิตรอดได้แต่ละวันก็ยากมากพอแล้ว

 

ขิ่น หม่อง (Khin Maung) ผู้อพยพวัย 27 ปีในค็อกซ์บาซาร์ เปิดใจกับสำนักข่าว CBS ว่า “5 ปีผ่านไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เรายังคงทุกข์ทรมาน ต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐานในแต่ละวัน สภาพแวดล้อมในค่ายไม่ปลอดภัยเลย เราทุกคนเป็นห่วงอนาคตของเด็กๆ ที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้…นี่เป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด”

 

แต่ละวันของพวกเขาผ่านไปอย่างยากลำบาก เด็กๆ ขาดการศึกษา ผู้ใหญ่ไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง ชีวิตทั้งหมดถูกแขวนไว้อยู่กับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งก็ลดน้อยถอยลงทุกขณะ

 

ฟิโอนา แม็กไลสาจต์ (Fiona McLysaght) ผู้อำนวยการ Concern Worldwide องค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศประจำบังกลาเทศ กล่าวว่า “5 ปีผ่านไปแล้ว สถานการณ์ในค่ายต้องเรียกว่าเลวร้ายลงกว่าที่เคย เพราะความช่วยเหลือทางการเงินลดลงอย่างมาก หลังเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย”

 

แม้ผู้ลี้ภัยส่วนมากจะไม่ต้องการกลับเมียนมาเพราะเหตุความรุนแรงในประเทศ และบาดแผลจากการถูกทอดทิ้งที่ยังฝังใจ แต่ก็มีบางคนที่ยอมรับว่า พวกเขายังอยากกลับไปเหยียบแผ่นดินเกิดของตัวเองให้ได้สักวันหนึ่ง

 

“เราหวังว่าอนาคตจะดีขึ้นกว่านี้” ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งเปิดเผย ฉายให้เห็นถึงประกายความหวังเสี้ยวเล็กๆ ที่อยู่ลึกในจิตใจของเขา “เราไม่ใช่กลุ่มคนที่หมดหวัง เราอยากกลับประเทศของเรา เราต้องการความยุติธรรม เกียรติ และศักดิ์ศรีของเรากลับคืนมา”

 

ซึ่งเราได้แต่หวังว่า ‘โลกจะยังมองเห็นพวกเขา’ ชนกลุ่มน้อยที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเราทุกคน

 

ภาพ: Guven Yilmaz / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising