×

จาก โรฮีนจา สู่ เบงกาลี พวกเขาคือใครกันแน่

06.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รัฐบาลเมียนมา และนักวิชาการชาตินิยมบางส่วนอ้างว่า กลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาไม่เคยมีอยู่มาก่อนในอาณาบริเวณและประวัติศาสตร์ของรัฐเมียนมา และคำว่า ‘โรฮีนจา’ ไม่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนจนกระทั่งหลังปี 2493 นั่นหมายความว่าคำนี้เพิ่งมีการสร้างขึ้น โดยกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมมุสลิมในอาระกันที่ใช้เรียกกลุ่มของตนเอง
  • ต่างจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัฐอาระกัน แจ็ค เลเดอร์ ที่เชื่อว่าคำว่า Rohingya อาจเพี้ยนมาจากคำว่า Rakhanga ชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน หรือคำว่า Roshanga ชื่อของรัฐอาระกันในภาษาเบงกาลี ซึ่งถือเป็นการสร้างความชอบธรรมในการเป็นชนพื้นเมืองของชาวโรฮีนจา ในฐานะที่พวกเขาเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนาน ก่อนจะมีการรวมชาติเมียนมาด้วยซ้ำ
  • เดิมทีคำที่ใช้เรียกขานชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ว่าควรจะเป็น โรฮีนจา หรือ เบงกาลี เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอยู่ภายในประเทศ และแวดวงวิชาการของเมียนมามาเนิ่นนาน แต่การทำให้ข้อถกเถียงนี้ขยายวงมาในระดับนานาชาติได้นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไทยใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘เบงกาลี’ ตามแบบรัฐบาลเมียนมา

     นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ผู้คนทั่วโลกต่างจับจ้องว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน สำหรับการใช้กำลังทางทหารปราบปรามมุสลิมกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาต้องอพยพหนีตายออกจากพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 123,000 คน โดยมีจุดหมายปลายทางคือประเทศบังกลาเทศ ที่มีพื้นที่ติดกัน

     นอกเหนือจากการใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปรามแล้ว กลยุทธ์สำคัญอีกอย่างที่ทางการเมียนมากำลังใช้คือ การเรียกร้องให้นานาชาติเรียกขานชาวโรฮีนจากลุ่มนี้ในชื่อ ‘เบงกาลี’ ซึ่งถือเป็นการแบ่งแยกคนกลุ่มนี้ให้ ‘เป็นอื่น’ มากขึ้นอย่างชัดเจน

     ทำไมชาวโรฮีนจาจึงไม่เป็นที่ต้อนรับในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง สรุปแล้วพวกเขาเป็นใครกันแน่ นอกเหนือจากชะตากรรมที่น่าเห็นใจแล้ว ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของพวกเขาก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

 

 

ที่มาของคำว่า ‘โรฮีนจา’ ประวัติศาสตร์ที่ถกเถียงได้ไม่รู้จบ

     ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องราวของชาวโรฮีนจาจนนำมาสู่ผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง โรฮิงยา: คนไร้รัฐในรัฐต่างแดน โดย ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า “ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไหนในเมียนมาที่จะมีประเด็นให้ถกเถียงมากเท่าโรฮีนจาอีกแล้ว”

     จากงานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลเมียนมาและนักวิชาการชาตินิยมบางส่วนอ้างว่า กลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาไม่เคยมีอยู่มาก่อนในอาณาบริเวณและประวัติศาสตร์ของรัฐเมียนมา และคำว่า ‘โรฮีนจา’ ไม่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนจนกระทั่งหลังปี 2493 นั่นหมายความว่าคำนี้เพิ่งมีการสร้างขึ้นโดยกลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมมุสลิมในอาระกันที่ใช้เรียกกลุ่มของตนเอง

     เท่ากับว่าชาวโรฮีนจาไม่ใช่กลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในอาระกันมาเนิ่นนาน แต่เป็นเพียงลูกหลานและผู้อพยพมาจากเบงกอลในช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษเท่านั้น

     ขณะเดียวกัน คำว่า ‘โรฮีนจา’ กลับถูกบันทึกไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของ ฟรานซิส บูคานัน ที่ชื่อว่า A comparative vocabulary of some of the languages spoken in the Burma Empire ซึ่งได้ทำการสำรวจศึกษาสำเนียงภาษาของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา และพบว่ามีภาษาหนึ่งที่ใช้พูดกันในหมู่ชนชาติที่นับถือฮินดู เรียกว่า โมฮัมเมดาน (Mohummedan) ซึ่งคนกลุ่มนี้เรียกขานตัวเองว่า ‘Rooinga’

     นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัฐอาระกัน แจ็ค ไลเดอร์ ยังเชื่อว่า คำว่า Rohingya อาจเพี้ยนมาจากคำว่า Rakhanga ชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน หรือคำว่า Roshanga ชื่อของรัฐอาระกันในภาษาเบงกาลี ซึ่งถือเป็นการสร้างความชอบธรรมในการเป็นชนพื้นเมืองของชาวโรฮีนจา ในฐานะที่พวกเขาเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนานก่อนจะมีการรวมชาติเมียนมาด้วยซ้ำ

     “หลายคนคิดว่านี่คือข้อถกเถียงเชิงวิชาการ แต่ผมคิดว่ามันแฝงไปด้วยจุดยืนทางการเมืองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนโรฮีนจาซึ่งเชื่อว่าเขาเป็นคนที่อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม และจะถูกผลักออกไปเป็นขั้วตรงข้าม ส่วนคนที่เสนอว่าโรฮีนจาไม่เคยมีอยู่มาก่อนในอาระกันก็จะถูกดึงเข้ามาอยู่ในกลุ่มชาตินิยมภายในเมียนมา กลายเป็นว่าความบริสุทธิ์ในทางวิชาการไม่มีพื้นที่เหลืออยู่แล้วในเวลานี้ มันถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองไปด้วย ซึ่งผมคิดว่านี่คือปัญหาหนึ่งของกรณีโรฮีนจา คือเราไม่มีความรู้ที่เป็นกลางมากพอที่จะเป็นเสาหลักในการทำความเข้าใจปัญหานี้”

     ถึงแม้ว่าข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์นี้จะยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด แต่วันนี้ทางการเมียนมาก็ได้สร้างให้ชาวโรฮีนจากลายเป็นคนไร้รัฐโดยสมบูรณ์ผ่านกฎหมาย กลไกอำนาจรัฐ และสังคมประวัติศาสตร์ภายในประเทศเมียนมา ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในสถานะผู้อพยพที่ไร้สิทธิและการคุ้มครองใดๆ ในดินแดนที่ตัวเองถือกำเนิดมาหลายชั่วอายุคน

 

 

เพียงเพราะความต่างทางศาสนา โรฮีนจาคือเสี้ยนหนามที่รัฐบาลเมียนมาต้องกำจัดทิ้ง

     ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชาวโรฮีนจาเคยได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในพลเมืองของเมียนมาตามกฎหมายความเป็นพลเมืองฉบับแรกของประเทศ ในสมัยรัฐบาลของนายอู นุ ที่พยายามสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยรัฐบาลสมัยนั้นได้ให้คำสัญญาว่า จะให้สถานะของอาระกัน ถิ่นที่อยู่ปัจจุบันของชาวโรฮีนจาเป็นรัฐอิสระภายใต้รัฐบาลกลางเมียนมา

     ภายใต้ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายล้วนถืออาวุธต่อสู้เพื่อการปกครองตนเอง ในยุคนั้นความรุนแรงและสงครามเป็นเรื่องปกติของประเทศ ความแตกต่างระหว่างความเป็นพุทธกับมุสลิมจึงยังไม่ถูกขับเน้น มีเพียงการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลเมียนมาเพียงเท่านั้น

     จนกระทั่งนายพลเน วิน เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนายอู นุ ในปี 1962 และใช้ระบอบเผด็จการอิงสังคมนิยมแบบพุทธ โดยมีกองทัพเป็นศูนย์กลาง ‘ความเป็นอื่น’ ที่แตกต่างจากพุทธของชาวโรฮีนจาจึงถูกขยายความมากขึ้นเรื่อยๆ

     ศิววงศ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนั้นรัฐบาลนายพลเน วิน ต้องต่อสู้กับกองกำลังจากหลายฝ่าย ฉะนั้นจึงยังไม่สามารถระดมกำลังไปกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจาได้ แต่แนวคิดในการสร้างความเป็นอื่นของชาวโรฮีนจาค่อยๆ ถูกปลูกฝังมาเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเมืองในภาษาดั้งเดิมของชาวโรฮีนจาจาก ‘อัคยับ’ กลายเป็น ‘ซิตต่วย’ รวมถึงชื่อรัฐ ‘อาระกัน’ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐ ‘ยะไข่’ ในภาษาเมียนมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ชาวโรฮีนจาถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทางการเมืองและสังคมของเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ

     “ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันคือความสำเร็จของทางการเมียนมาแล้วด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น แต่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาล้วนมีเจตจำนงเดียวกันที่จะเอาคนกลุ่มนี้ออกนอกประเทศให้ได้

     “อาชญากรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรายังมองไม่เห็นผู้ถูกกระทำ เช่นเดียวกับคนเมียนมาเองที่ไม่ได้มองว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้ถูกกระทำ ฉะนั้นอาชญากรรมที่รัฐบาลเมียนมากระทำต่อชาวโรฮีนจาจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสายตาของพวกเขา เพราะทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยกับสิ่งนี้”

 

จากโรฮีนจาสู่เบงกาลี ชื่อนี้สำคัญอย่างไร

     สำหรับคนทั่วไป การจะเรียกขานผู้อพยพที่มีชะตากรรมสุดรันทดกลุ่มนี้ว่าโรฮีนจา โรฮิงยา หรือแม้แต่เบงกาลี อาจจะไม่มีความแตกต่างในความรู้สึก

     แต่การที่ทางการเมียนมาเรียกร้องให้นานาชาติเรียกขานคนกลุ่มนี้ว่า ‘เบงกาลี’ อาจมีนัยสำคัญบางอย่างซุกซ่อนอยู่ ศิววงศ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า

     เดิมทีคำที่ใช้เรียกขานชาวมุสลิมในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอยู่ภายในประเทศและแวดวงวิชาการของเมียนมามาเนิ่นนาน แต่การทำให้ข้อถกเถียงนี้ขยายวงมาในระดับนานาชาติได้ นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไทยใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘เบงกาลี’ ตามแบบรัฐบาลเมียนมา

     “ผมคิดว่าการที่ไทยยอมรับและปฏิบัติตามการร้องของกองทัพเมียนมาถือเป็นความสำเร็จทางการทูต เพราะนั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยเป็นอีกประเทศที่ไม่ยอมรับการมีตัวตนของชาวโรฮีนจาอีกต่อไป ซึ่งในอนาคตอาจจะมีอีกหลายประเทศที่เริ่มใช้คำเดียวกับไทย คือเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเบงกาลี แทนที่จะเรียกว่าโรฮีนจา

     “แต่อย่าลืมว่าไม่ว่าเราจะเรียกพวกเขาว่าเบงกาลีหรือโรฮีนจา ปัญหาที่มีอยู่ก็ไม่ได้หมดไป วันนี้เขาต้องถูกขับออกจากบ้านเกิด นี่คือปัญหาที่กำลังวนซ้ำ และเราจะไม่มีทางออกจากปัญหานี้ได้ ถ้ายังคิดหรือเข้าใจปัญหาตามที่รัฐบาลเมียนมาเป็นผู้กำหนด”

 

 

     เช่นเดียวกับ พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์การฟอร์ติฟายไรท์ ที่ออกตัวว่าถึงแม้ตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา แต่มองว่าการเปลี่ยนชื่อเรียกขานคนกลุ่มนี้จะมีผลทางการเมืองอย่างมาก

     “ถ้ามองนัยทางการเมือง เหมือนรัฐบาลเมียนมากำลังจะปฏิเสธความเป็นพลเมืองของพวกเขา มันเหมือนเป็นการส่งสาส์นให้ประเทศอื่นๆ ลบเลือนนิยามคำว่าโรฮีนจา เมื่อทุกคนเรียกพวกเขาว่าเบงกาลี ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาจะมีความชอบธรรมที่จะผลักดันคนเหล่านี้ให้ไปอยู่บังกลาเทศ เพราะถือเป็นชาวบังกลาเทศ ขณะที่เมื่อพูดคุยกับคนบังกลาเทศ เขาก็ไม่ได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเบงกาลี แต่เรียกว่ามยันมาร์ ซึ่งในความหมายก็คือเป็นชาวเมียนมา คำถามคือ แล้วเราควรจะเชื่อใคร หรือควรวางตัวอย่างไรกับเรื่องนี้กันแน่”

     ไม่ว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร หรือคำเรียกขานของชาวโรฮีนจาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือคนนับแสนต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน ไร้บ้าน ไร้รัฐ ไร้สังคมที่ต้องการพวกเขาจริงๆ ปัญหาใหญ่ตอนนี้จึงอาจไม่ใช่ชื่อที่ใช้เรียกขาน หรือประวัติศาสตร์ที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบ แต่เป็นชะตาชีวิตที่ไม่รู้จะจบลงอย่างไรของชาวโรฮีนจาต่างหาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X