×

Rocketman หนังชีวประวัติ Elton John ที่ฟู่ฟ่าตามสไตล์นักร้องระดับตำนาน พร้อมการแสดงของ Taron Egerton ที่ไร้ที่ติ

12.06.2019
  • LOADING...

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

 

ถ้าให้พูดตามตรง นาทีนี้ดูเหมือนค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดคงพร้อมที่จะให้ไฟเขียวภาพยนตร์เพลงทุกรูปแบบอีกครั้ง และทุ่มงบการตลาดแบบไม่รู้จบ เพราะแค่ใน 10 เดือนที่ผ่านมาเราได้เห็น Bohemian Rhapsody กลายเป็นหนังชีวประวัติดนตรีที่ประสบความสำเร็จตลอดกาล เพลง Shallow จาก A Star Is Born ทำให้เราได้ยินท่อน ‘Ah-ahhhhh-ahhhhh’ ของเลดี้ กาก้า ยังอยู่ในชาร์ตเพลง และที่เพิ่งผ่านพ้นไปก็กระแส Aladdin พร้อมเพลง Speechless ที่พยายามใช้สูตรแนว Let It Go หรือถ้ายุค 90 หน่อยก็มีสูตรความ I Have Nothing จาก The Bodyguard

 

และมาตอนนี้ ในช่วงเวลาเหมาะเจาะพอดีกับเทศกาลไพรด์ ที่เพอร์เฟกต์กับเกมการตลาดของฮอลลีวูด กับ Rocketman ภาพยนตร์ชีวประวัติสุดตระการตาของท่านเซอร์เอลตัน จอห์น ที่หยิบเรื่องราวตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก การหลงรักดนตรี และการก้าวมาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ดนตรี แต่ก็เจอมรสุมชีวิตมามากมาย ทั้งเรื่องยาเสพติด เงินทอง และเรื่องเพศ ก่อนที่เขาจะเข้ารับการบัดบัดในเวลาต่อมา โดยภาพยนตร์จะเน้นแค่ช่วงชีวิตของเอลตันจนถึงยุค 80 ซึ่งหากใครที่เติบโตมาในยุค 90 และคิดว่าเอลตัน จอห์น เป็นแค่นักร้องเพลงการ์ตูนเรื่อง The Lion King หรือเป็นพ่อทูนหัวของลูกๆ ตระกูลเบ็คแฮม ก็ต้องบอกว่า Rocketman จะไม่ได้เล่าเรื่องพวกนี้ (เดี๋ยวต้องรอเดือนหน้าสำหรับการกลับมาของเพลง Can You Feel The Love Tonight)

 

 

Rocketman กำกับโดยผู้กำกับชาวอังกฤษ เด็กซ์เตอร์ เฟลตเชอร์ ที่เคยอยู่เบื้องหลัง Bohemian Rhapsody หลังเข้ามาสานต่อการกำกับจากไบรอัน ซิงเกอร์ สามสัปดาห์สุดท้าย ก็ต้องชื่นชมว่าเด็กซ์เตอร์พยายามที่จะสร้างมิติใหม่ให้กับหนังชีวประวัติดนตรีตาม Tagline หนังที่ว่า ‘Based on a true fantasy’ โดยจะนำเพลงฮิตอมตะต่างๆ ของเอลตันอย่าง Sorry Seems to Be The Hardest Word, Your Song, Bennie and the Jets, I’m Still Standing, Tiny Dancer, Crocodile Rock และ Goodbye Yellow Brick Road มาแทรกในช่วงชีวิตต่างๆ ของเอลตัน โดยไม่ได้อิงกับช่วงเวลาเหตุการณ์จริง (Chronological Order) และในแต่ละเพลงก็ตีความในเชิงเป็นสไตล์มิวสิคัลที่สร้างโลก (บางครั้งหลุดโลกไปเลย) ให้กับแต่ละเพลงที่เต็มไปด้วยเอฟเฟกต์ กลิ่นอายความเซอร์เรียลลิสม์ และสามารถตัดมาลงเป็นมิวสิกวิดีโอได้ชนิดที่ว่า เคที เพอร์รี คงอยากทำงานกับเด็กซ์เตอร์ด้วยในอนาคต

 

แต่ปัญหาของ Rocketman เหมือนกับ Bohemian Rhapsody คือถึงแม้จะสนุกและสีสันจัดจ้านแบบป๊อปมากๆ (ไม่ได้จะโปรโมต THE STANDARD POP) แต่หนังดูเหมือนถูกครอบงำจากกลไกฮอลลีวูดที่ต้องให้ดู ‘ตระการตา’ ไว้ก่อน และปรุงแต่งให้มากถึงมากที่สุด โดยพยายามอัดแน่นเรื่องราวชีวิตของเอลตัน แบบขาดๆ เกินๆ จนรู้สึกว่าเราไม่ได้รู้จักตัวตนของเขาจริงๆ เท่าที่ควร อย่างเช่นเรื่องราวการแต่งงานกับภรรยาคนแรก เรนาเต้ บลาวเอล ในปี 1984 ถึง 1988 ก็ถูกเล่าภายในราว 5 นาทีจบ หรือการที่หนังกำลังถูกมาร์เก็ตติ้งว่าเป็นหนังแรกของค่ายหนังใหญ่ที่ลงทุนเอง และมีฉากเซ็กซ์ระหว่างผู้ชายสองคน (Brokeback Mountain, Call Me By Your Name และอื่นๆ เป็นหนังสเกลอินดี้ ที่ค่ายใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย) ก็ทำให้รู้สึกว่าในปี 2019 หากจะมายัดการขายคอนเซปต์นี้ก็ควรเพิ่มบริบทอื่นของ LGBTQ+ อย่างเช่นความยากลำบากของศิลปินในยุคนั้นที่จะเปิดเผยสถานะตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งเราก็เข้าใจว่าทางทีมงาน ซึ่งรวมไปถึง Executive Producer เดวิด เฟอร์นิช สามีของเอลตันเองก็คงอยากให้ Rocketman เป็นหนังแบบ Musical Jukebox ที่ขายได้เชิงพาณิชย์ทั่วโลก และเข้ากับหลายวัย ซึ่งหากทำให้หนังดูดิบ ดูแนว ดูดาร์กก็อาจไม่ใช่ทาง

 

 

ปิดท้ายด้วยการแสดงของพระเอก ทารอน อีเกอร์ตัน ที่ต้องบอกว่ายอดเยี่ยมถึงขั้นที่ว่าแม้แต่คนจะคุ้นหน้าเขาจากหนังแฟรนไชส์เรื่อง Kingsmen มาแล้ว แต่การแสดงใน Rocketman นี้แหละที่จะนำพาเขาเป็นอีกหนึ่งนักแสดงหนุ่มอังกฤษแห่งยุคที่ฮอลลีวูดจะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป ถึงแม้บทเอลตันเคยมีกระแสว่าจะให้ทั้ง จัสติน ทิมเบอร์เลก และทอม ฮาร์ดี มาแสดง แต่ทารอนก็ทำให้เห็นว่าเขาคือตัวเลือกที่ใช่ที่สุด ซึ่งเราก็หวังว่าการแสดงของเขาจะได้รับการยกย่อง และได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมช่วงเทศกาลแจกรางวัลในช่วงต้นปีหน้า แม้ความเสี่ยงอยู่ที่ว่า Rocketman ไม่ได้เข้าฉายปลายปี ช่วงที่อุตสาหกรรมหนังจะเริ่มเลือกหนังเพื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ

 

ทุกอิริยาบถ ทุกท่วงท่า หรือแม้แต่หยดน้ำตาที่เขาได้แสดง คือการสร้างกราฟตัวละครเอลตัน จอห์น ให้เห็นว่าแม้หนังจะฟู่ฟ่าขนาดไหน แต่เอลตันก็คือ ‘มนุษย์’ หนึ่งคนที่เบื้องหน้าเราอาจคิดว่าเป็นตัวแม่ ตัวพ่อ เป็นฮีโร่ เป็นไอดอล หรือเป็นผู้ปลุกพลังชีวิตกับบทเพลงที่เขาร้อง แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังเขาก็แบกรับภาระความกดดัน และปมปัญหาชีวิตต่างๆ ที่ก็ไม่ต่างอะไรกับนักร้องที่เราเชิดชูและ Idolize ในสมัยนี้ ซึ่งก็โชคดีแค่ไหนที่อยู่รอดมาได้ ส่วนเคมีการแสดงของทารอนกับเจมี เบลล์ ในบทบาทของเบอร์นี ทาปิน นักแต่งเพลงคู่บุญของเอลตัน ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของ Rocketman ที่ทำให้เห็นว่าวงการบันเทิงถึงแม้จะดูมายาขนาดไหน แต่มิตรภาพแบบคำที่เราชอบใช้ BFF Best Friends Forever ก็เกิดขึ้นได้จริงๆ

 

มาถึงตอนนี้ Rocketman ก็ทำเงินไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญที่ตารางบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก กับงบสร้างที่อยู่ประมาณ 40 ล้านเหรียญ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภาพยนตร์เพลงฮอลลีวูด ที่ได้รับความนิยมเหมือนกับตัวอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้น ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่าในอนาคตหลังมีการประกาศออกมาแล้วถึงหนังชีวประวัติของศิลปินที่ยังอยู่ หรือล่วงลับไปแล้วอย่าง อารีธา แฟรงคลิน, เอมี ไวน์เฮาส์, บ็อบ มาร์เลย์, เซลีน ดิออน, เอลวิส เพรสลีย์ ที่กำกับโดย บาซ เลอห์มานน์ (และลือว่า ทอม แฮงส์ จะรับบทนำ) หรือแม้กระทั่ง จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ที่ ฌอง-มาร์ค วัลลี ผู้อยู่เบื้องหลัง Dallas Buyers Club จะมากำกับ เราจะได้เห็นหนังประเภทนี้ถ่ายทอดออกมาอย่างไร แต่จะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ ก็หวังว่าเราจะไม่เพียงเห็นนักร้องเหล่านี้เป็นสินค้าการตลาด แต่เป็นสินค้าทางจิตใจที่เราจะนำเรื่องราว ไม่ว่าจะแง่มุมไหนมาปรับใช้ในชีวิตของเราได้

 

*ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Rocketman ได้ที่นี่:

 

 

 

ภาพ: Paramount Pictures

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X