×

‘Robinhood’ ฟู้ดเดลิเวอรีภายใต้การตลาดยุคใหม่ เมื่อธนาคารเป็นแค่ธนาคารไม่ได้

26.10.2020
  • LOADING...
‘Robinhood’ ฟู้ดเดลิเวอรีภายใต้การตลาดยุคใหม่ เมื่อธนาคารเป็นแค่ธนาคารไม่ได้

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • แพลตฟอร์ม Robinhood ในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ หนึ่งในกลยุทธ์การสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้า ตามแนวคิด ‘เป็นทุกอย่างเพื่อคุณ’ 
  • สนามฟู้ดเดลิเวอรีแข่งแรง Robinhood ตั้งงบปีละ 150 ล้านบาท (เบื้องต้น 3 ปี) การตลาดไม่ถึง 10 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2563 มีร้านค้าบนแพลตฟอร์ม 30,000 ร้านค้า มีคนขับ 15,000 ราย และมียอดธุรกรรมซื้อ 20,000 ธุรกรรมต่อวัน 
  • Robinhood ชูจุดเด่นไม่เสียค่า GP ทั้งร้านค้าและคนขับ สภาพคล่องเงินสดเข้าถึงร้านได้ภายใน 1 ชั่วโมง

2-3 ปีมานี้ธุรกิจธนาคารปรับตัวทุกด้านทั้งการลดสาขา ลงทุนด้านดิจิทัล ไปจนถึงการขยายบริการใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจดั้งเดิมอย่างการปล่อยสินเชื่อ เพื่อเข้าถึงวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ล่าสุดไทยพาณิชย์ที่มีแนวคิด ‘เป็นทุกอย่างให้คุณ’ เปิดตัวแพลตฟอร์มอาหาร Robinhood อย่างเป็นทางการ 

 

แต่วงการฟู้ดเดลิเวอรีไม่ง่ายเลย เพราะแพลตฟอร์มใหญ่ของต่างประเทศ เช่น Grab, LINE MAN, Foodpanda ฯลฯ ยังทุ่มเงินการตลาดจนรายได้ยังขาดทุนกันอยู่ Robinhood จะลงสนามนี้โดยธุรกิจต้องเติบโตได้อย่างไร

 

Robinhood บริษัทหลานของไทยพาณิชย์ที่ทำแพลตฟอรม์ด้วยงบ 150 ล้านบาท

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เล่าว่า ในเดือนเมษายน 2563 ได้โจทย์ใหญ่จาก อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ให้ทำ Robinhood (โรบินฮู้ด) แพลตฟอร์มส่งอาหารขึ้นมา จนถึงตอนนี้ใช้เวลาราว 5 เดือน (ทำแพลตฟอร์ม 3 เดือน ทดสอบ 2 เดือน) Robinhood จะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการ

 

ทั้งนี้ Robinhood เป็นบริษัทลูกใน SCB 10X ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยพาณิชย์ โดยในช่วง 3 ปี ได้เงินลงทุนปีละ 150 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นต้นทุนด้านเทคโนโลยี บุคลากร การสนับสนุนค่าส่งอาหารเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยในส่วนแผนการตลาดจะใช้เงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และใช้กลยุทธ์ปากต่อปากเพื่อให้คนใช้ต่อ

 

“เราใช้งบต่างกับแพลตฟอร์มต่างประเทศเจ้าอื่น เจ้าอื่นปีละหลักพันล้านบาท แต่ของเรา (Robinhood) ใช้หลักร้อยล้านบาทถือว่าน้อยกว่ามาก เราทำเหมือนเป็น CSR มุ่งเป้าหมายที่ช่วยคนตัวเล็ก ร้านอาหารขนาดเล็ก”

ปัจจุบันยอดธุรกรรมในตลาดฟู้ดเดลิเวอรีอยู่ที่ราว 200,000 ธุรกรรมต่อวัน เบื้องต้นในสิ้นปี 2563 ตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดสั่งอาหาร 20,000 ธุรกรรมต่อวัน

 

อ้างอิง: ธนาคารไทยพาณิชย์

 

แก้ Pain Point ร้านค้า-คนขับ ไม่คิดค่า GP ชูสภาพคล่องเงินสดสูงกว่า

 

แม้ว่ายอดธุรกรรมการสั่งอาหารจะเติบโตมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่ร้านอาหารเจอมาตลอดคือ ค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (GP) ค่อนข้างสูงเฉลี่ยที่ 30-37% ทำให้กำไรของร้านอาหารน้อยลง ซึ่งร้านอาหารอาจเลือกไม่เข้าแพลตฟอร์มเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว 

 

ดังนั้น Robinhood จึงตั้งเป้าหมายว่า ไม่เก็บค่า GP ขณะที่ธุรกิจอาหารในช่วงโควิด-19 ต้องการสภาพคล่องสูง Robinhood จะตัดเงินเข้าร้านค้าภายใน 1 ชั่วโมง หลังการส่งอาหารเสร็จสิ้น (เมื่อสั่งอาหาร แอปฯ จะตัดเงินจากลูกค้าก่อน แล้วแบ่งสู่พาร์ตเนอร์ในด้านต่างๆ)

 

นอกจากนี้อีกจุดเด่นคือ การเพิ่มยอดขายนอกช่วงเวลาขายดี (Off Peak) ผ่านการใช้ Dynamic Delivery Pricing ให้ราคาอาหารและค่าส่งในช่วงเวลาขายดีแข่งขันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันเปิดให้ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ (ส่วนลด 8%) เพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้าในระยะยาว โดยจะมีพนักงานสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ 500 สาขารอบกรุงเทพฯ จะช่วยร้านค้าเพื่อให้ใช้แอปฯ และแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที

 

“ที่เราไปลงถามร้านอาหารเล็ก พบกว่า 50% ไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์ม เพราะเขาแบกราคา GP ไม่ได้ เราเลยทำ Robinhood ออกมา เป็นเหมือน CSR ที่หวังจะสร้างสังคมชุมชนให้ร้านค้าตัวเล็ก”

 

ปัจจุบัน Robinhood มีคนขับ (Rider) 10,000 คน ร้านอาหารมีอยู่ 16,000 ร้านค้า โดยเป้าหมายสิ้นปี 2563 จะมีร้านค้าเข้าร่วม 30,000 ร้านค้า Rider 15,000 ราย และมียอดธุรกรรม 20,000 ธุรกรรมต่อวัน 

 

Robinhood ทดสอบบริการ 2 เดือน ฟีดแบ็กดีแค่ไหน 

 

ที่จริงแล้ว Robinhood จะเปิดให้ทดลองใช้งานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 แต่เพื่อให้แพลตฟอร์มมีมาตรการแข่งขันกับแพลตฟอร์มในตลาดได้ จึงใช้เวลาทดสอบเพิ่มขึ้นอีกสองเดือน และเปิดทดลองเป็นการทั่วไปในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 แต่ช่วงที่ผ่านมา Robinhood ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

 

สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

 

สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เล่าว่า หน้าแอปฯ Robinhood ล่าสุดนี้ผ่านการปรับเปลี่ยนมาแล้ว 85 เวอร์ชัน โดย 2 เดือนที่ผ่านมามีการศึกษาพฤติกรรมลูกค้า และปรับเปลี่ยนให้ใช้งานง่ายขึ้นทั้งลูกค้า ร้านอาหาร และคนขับ 

 

ทั้งนี้ Robinhood ทดสอบการใช้งานเพื่อให้รองรับออเดอร์จำนวนมากได้ (เช่น 2,000-3,000 ออเดอร์ต่อชั่วโมง) และยังเพิ่มทักษะการบริการของคนขับผ่านคอร์สอบรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้คุณภาพในการส่งอาหารและอื่นๆ ดีขึ้น

 

“2 เดือนที่ผ่านมา มีออเดอร์กว่า 100,000 ออเดอร์ และเราทดลองช่องทางการพูดคุยกับคนขับ และบอกโปรโมชันผ่านทาง Facebook ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี”

 

นอกจากนี้ปี 2564 คาดว่าจะขยายโปรเจกต์ให้คนที่ไม่มีรถสามารถขับรถส่งอาหารได้เช่นกัน และช่วงต้นปี 2564 จะมีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น สามารถสั่งหลายออเดอร์ สามารถรับอาหารได้หลายจุด การสะสมแต้มเครดิตเพื่อแลกของ การใช้เงินจาก e-Wallet ต่างๆ

 

ธนา ยังบอกว่า ใน 3 ปีนี้เรามองว่ายังไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้ (Robinhood) ส่วนการเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ของธนาคารมีอยู่ในแผนในอนาคต แต่ยังไม่ได้วางแผนในตอนนี้ โดยการทำ Robinhood จะเน้นสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้า อย่าง Alibaba ช่วง 7 ปีแรกเน้นการทำคอมมูนิตี้ก่อน เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกค้า  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising