×

5 ปีแห่งการจากไปของ โรบิน วิลเลียมส์ เพราะชีวิตที่เศร้าที่สุดคือชีวิตที่ไม่อาจสร้างเสียงหัวเราะให้ใครได้อีกต่อไป

12.08.2019
  • LOADING...
โรบิน วิลเลียมส์

ไม่ว่าจะเป็นนักดูหนังสายเจาะลึก หรือดูเพียงผ่านเพื่อความบันเทิง เชื่อได้ว่า อย่างน้อยที่สุด ในเศษเสี้ยวของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่มาชโลมหัวใจในช่วงไม่กี่วินาที จะต้องมีตัวละครจากผลงานนับร้อยเรื่องของ โรบิน วิลเลียมส์ นักแสดงผู้ใช้เสียงหัวเราะเยียวยาโลก ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2014 เป็นองค์ประกอบอยู่ในนั้น 

 

ตั้งแต่ลืมตาดูโลกในวันที่ 21 กรกฎาคม 1951 เด็กชายโรบินคือนักเรียนตัวอย่าง เรียนดี เล่นกีฬาได้ มีนิสัยชอบเก็บตัว วันที่พ่อแม่ออกไปทำงาน เขามักจะนั่งอยู่เงียบๆ ที่มุมห้อง ใช้เวลากับไปของเล่นและโลกในจินตนาการที่สร้างขึ้นมา จนถูกเพื่อนๆ ล้อและแกล้งอยู่บ่อยๆ แต่เขาก็มักจะพูดหรือแสดงบางอย่างที่เรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนๆ ได้เสมอ 

 

เขาค่อยๆ พัฒนาฝีมือการแสดงและสะสมความรักในการสร้างความสุขให้กับคนอื่น จนเป็น 1 ใน 20 คน ที่ได้รับทุนการศึกษาที่โรงเรียนศิลปะ The Juilliard School ในปี 1973 โดยมี คริสโตเฟอร์ รีฟส์ (Superman – 1978), วิลเลียม เฮิร์ท (Altered States, Kiss of the Spider Woman) และ แมนดี้ พาทินคิน (Alien Nation, Criminal Minds) เป็นเพื่อนร่วมรุ่น 

 

พอจบการศึกษาในปี 1976 โรบิน วิลเลียมส์ ย้ายไปเปิดการแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้ที่ลอสแอนเจลิส เจรัลด์ แนชแมน คอลัมน์นิสต์จาก New York Daily เคยเขียนบทวิจารณ์ว่า โชว์ของเขาคือหนึ่งในผู้นำที่ทำให้การแสดงตลกเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในยุคที่วัฒนธรรมฮิปปี้และดนตรีร็อกครองเมือง 

 

ในปี 1977 เขาเริ่มต้นผลงานการแสดงชิ้นแรกจากบททนายความและชายปวดฟันในหนังคอเมดี้ Can I Do It ‘Til I Need Glasses? ได้เล่นซีรีส์ Laugh-In เพราะโปรดิวเซอร์ถูกใจเขาตั้งแต่เห็นงานสแตนด์อัพคอเมดี้ และผ่านออดิชันมอร์ก มนุษย์ต่างดาวเสียงแหลมเล็กขึ้นจมูกในซีรีส์ Happy Days ที่ประสบความสำเร็จ จนมีซีรีส์ Mork & Mindy แยกเป็นของตัวเองฉายยาวตั้งแต่ปี 1978-1982 ที่นับเป็นผลงานแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ

 

หลังจากนั้นเขาก็ได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของนักดูหนังทั่วโลกจากบทบาทที่ถึงแม้จะมีฉากเศร้า แต่เราจะได้รับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และแรงบันดาลใจกลับไปจากทุกๆ ตัวละครที่ถ่ายทอดออกมาผ่านนักแสดงที่ชื่อ โรบิน วิลเลียมส์ อยู่เสมอ 

 

ทั้งจากบทดีเจขับกล่อมผู้ฟังในสงครามเวียดนาม Good Morning, Vietnam (1987) ที่ทำให้คนไทยรู้จักเขามากขึ้น เพราะถ่ายทำที่ประเทศไทยและเล่นคู่กับ จินตหรา สุขพัฒน์, ให้เสียงพากย์ที่ทำให้ยักษ์จีนี่เป็นตัวละครที่คนทั้งโลกรักใน Aladdin (1992) ปลอมตัวเป็นแม่บ้านสุดป่วนเพื่อเข้าใกล้ลูกๆ และอดีตภรรยาใน Mrs. Doubtfire (1993), คนโชคร้ายติดอยู่ในโลก Jumanji (1995) ที่ทำให้เกมกระดานแนวทอยเต๋าผจญภัยเป็นที่นิยม, หุ่นยนต์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองจนกลายเป็นมนุษย์ใน Bicentennial Man (1999), หุ่นขี้ผึ้งจำลอง ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ใน Night at the Museum ทั้ง 3 ภาค ฯลฯ 

 

และบทบาทอีกมากมายที่บางครั้งก็สมจริง-หลุดโลก, สุขสันต์-ระทมทุกข์, ใกล้เคียง-ห่างไกลกับตัวตนแท้จริงที่ โรบิน วิลเลียมส์ ไม่ค่อยได้เปิดเผยให้คนอื่นรับรู้เท่าไรนัก ถ้ามองจากผลงานนับร้อยเรื่องที่เขาทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้ เราคิดว่ามีผลงานระดับมาสเตอร์พีซ 3 เรื่อง ที่อธิบายชีวิตหลังกล้องของนักแสดงที่สร้างเสียงหัวเราะมาประดับโลกได้ดีที่สุด 

 

เริ่มต้นที่บทบาทคุณครูจอมขนบ เจ้าแห่งบทกวี ที่ลุกขึ้นมายืนบนโต๊ะ บอกให้นักเรียนฉีกตำราแล้วออกไป ‘ฉกฉวยวันเวลา’ (Capedium หรือ Seize the day) ของตัวเองเอาไว้ใน Dead Poet Society (1989) 

 

โรบิน วิลเลียมส์ คือผู้เชี่ยวชาญด้านการฉกฉวยวันเวลา มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่เคยครั่นคร้ามต่อสิ่งใดในชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กที่ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาเรียนการแสดงเต็มตัว, เปิดแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้ในยุคที่ทุกคนฟังเพลงร็อก และมองว่าความตลกคือเรื่องไร้สาระ, เป็นจอมลามกประจำกองตอนถ่ายทำซีรีส์ Mork & Mindy, เปิดโอกาสให้ชีวิตสัมผัสกับความรัก ถึงแม้ต้องพบกับผิดหวังอยู่หลายครั้งก็ตาม 

 

เมื่อเขาสนใจอยากเล่นเรื่อง Good Will Hunting (1997) เขาก็มีส่วนช่วยผลักดันให้บทที่เขียนโดย แมตต์ เดมอน และ เบน แอฟเฟล็ก สร้างเป็นหนังได้สำเร็จ โดยไม่สนว่าเจ้าหนูโนเนม 2 คนนี้ เป็นใครมาจากไหน และสุดท้ายโลกก็ได้รู้จักนักแสดงคุณภาพเพิ่มอีก 2 คน 

 

ต่อด้วยบทนักศึกษาแพทย์ (วัยดึก) กับจมูกตัวตลกคู่ใจใน Patch Adams (1998) ที่เคยคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่เปลี่ยนมาเป็นคนที่คอยให้กำลังใจผู้ป่วยอาการหนัก เพราะเขาเชื่อว่า นอกจากการรักษาตามเทคนิคทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด การรับฟังคนไข้อยู่ข้างๆ และสร้าง ‘เสียงหัวเราะ’ คืออีกหนึ่งตัวยาวิเศษที่ช่วยรักษาเยียวยาคนไข้และโลกใบนี้ได้จริงๆ  

 

ซึ่งตัวจริงของ โรบิน วิลเลียมส์ ก็เป็นไปตามบทบาทที่ปรากฏในหนังแทบทุกอย่าง นอกจากการแสดงตามบทบาทที่ได้รับ เขายังใช้พรสวรรค์ด้านการพูดสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนรอบข้างในทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส 

 

ช่วงที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ถ่ายทำเรื่อง Schindler’s List (1993) หนังสงครามสุดดาร์ก ที่ทำให้พ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูดจิตตก ก็ได้ โรบิน วิลเลียมส์ ที่คอยไปมาหาสู่ พูดคุยให้สบายใจขึ้นอยู่หลายครั้ง, ในปี 1995 ที่ คริสโตเฟอร์ รีฟ ประสบอุบัติเหตุหนัก จนอาจจะกลับมาเป็นนักแสดงไม่ได้ โรบิน วิลเลียมส์ ก็เป็นคนแรกที่บินไปหา และทำให้ความหวังในการมีชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง 

 

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้ข่าวว่าแฟนคลับป่วยหนักใกล้เสียชีวิต ไม่สามารถมาหาเขาที่กองถ่ายได้ เขาก็ไม่รอช้า บินไปหาและใช้เวลาทั้งวันเพื่อเล่นสนุก พูดคุย เพื่อให้แฟนคลับที่รักเขาได้มีเสียงหัวเราะขึ้นมาอีกครั้งในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

 

รวมทั้งการไปพูดให้กำลังใจทหารผ่านศึกและคนที่กำลังเศร้าและหมดหวังกับชีวิตในทุกๆ โอกาส ไปเปิดแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้ให้ผู้คนในเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลและเงียบเหงาได้มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง 

 

ปิดท้ายด้วยหนังที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไร Moscow on the Hudson (1984) กับบทนักดนตรีชีวิตรันทด ที่หล่นประโยค “สิ่งที่เศร้าที่สุดบนโลกนี้คือ…ชีวิต” ออกมาในช่วงเวลากดดันที่สุด ไม่ต่างจากตัว โรบิน วิลเลียมส์ เอง ที่ในช่วงหนึ่งเคยใช้ชีวิต แบบสุดโต่งปลอบประโลมอาการซึมเศร้าของตัวเองไปกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ จนต้องเข้ารับการบำบัดอยู่หลายครั้ง 

 

อย่างที่ ซูซาน ชไนเดอร์ ภรรยาของเขา เปิดเผยว่า ผลกระทบทั้งหมดทำให้ โรบิน วิลเลียมส์ ต้องทนทุกข์กับโรคพาร์กินสันและอาการสมองเสื่อม ที่ทำให้เห็นภาพหลอนและไม่สามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่า

 

ชีวิตที่เศร้าที่สุดคือชีวิตที่ไม่สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้ได้ใครได้อีกต่อไป

 

แต่อย่างน้อยที่สุด ผลงานที่ทิ้งเอาไว้ก่อนจากโลกนี้ไป ก็ยังคงทำหน้าที่สร้างเสียงหัวเราะ มอบแรงบันดาลใจ ลืมความเศร้าไปชั่วขณะ ทุกครั้งที่ได้เห็นนักแสดงรวยอารมณ์ขันที่ชื่อ โรบิน วิลเลียมส์ ปรากฏตัวอยู่บนหน้าจอ  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising