×

Dead Poets Society ลุกยืนบนโต๊ะเรียน ฉกฉวยวันเวลา ค้นหาบทกวี สดุดีความงาม ทวงถามเส้นทางชีวิต

02.06.2019
  • LOADING...
Dead Poets Society

Dead Poets Society (1989) คือผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวออสเตรเลีย ปีเตอร์ เวียร์ ที่แนะนำให้โลกได้รู้จักกับ จอห์น คีตติง (รับบทโดย โรบิน วิลเลียมส์) คุณครูนอกกรอบแห่งโรงเรียนเวลตัน ที่ชักชวนให้นักเรียนขึ้นมายืนบนโต๊ะ มองโลกจากมุมมองที่แตกต่าง และ ‘ฉกฉวยวันเวลา’ แห่งชีวิตเอาไว้

 

โดยใช้ ‘บทกวี’ เป็นเครื่องมือให้นักเรียนที่ใช้ชีวิตภายใต้กรอบประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน ณ โรงเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยเวลตัน เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตและค้นหา ‘เส้นทาง’ ของแต่ละคนให้เจอ ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไป 30 ปี บทเรียนของเขาก็ยังคงสดใหม่และนำกลับมาใช้ได้อยู่เสมอ

 

จอห์น คีตติง เปิดคลาสสอนด้วยการผิวปากพร้อมท่าทีผ่อนคลาย เดินออกทางประตูหลังห้อง ให้นักเรียนเดินตามออกไป และเริ่มต้นให้นักเรียนอ่านกวีของ โรเบิร์ต เฮอร์ริก (นักบวชและกวีชาวอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17) ให้ฟัง

 

“แด่พรหมจารีที่รู้จักใช้เวลา เก็บดอกไม้แรกแย้มยามหวานชื่น เพราะวันคืนบินหายไม่หวนกลับ บุปผางามวันนี้สีวาววับ พรุ่งนี้ดับอับเฉาโรยรา”

 

พร้อมกับชี้ชวนให้พิจารณาใบหน้าของบุคคลในอดีตที่เคยทะนงตน มั่นใจว่าอนาคตจะโชติช่วง คิดว่าโลกต้องสยบแทบเท้า และนัยน์ตาเต็มไปด้วยประกายแห่งความหวัง หากแต่พวกเขาปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยจนสายเกินกว่าที่จะได้ใช้ชีวิตสมความสามารถอย่างที่ตั้งใจ

 

พลางกระซิบภาษาละติน Carpe Diem ที่มีความหมายว่า ฉกฉวยวันเวลาเอาไว้ (Sieze the Day) เพื่อย้ำเตือนถึงความสำคัญของทุกๆ วินาทีที่ล่วงเลยไปในชีวิตอันแสนสั้น ก่อนที่ร่างกายนั้นจะกลายเป็นเพียงอาหารหนอนที่ถูกชอนไชใต้ผืนดิน

 

ถึงแม้คุณครูคีตติงจะสอนวิชาที่เกี่ยวกับบทกวีเป็นหลัก แต่เขากลับบอกให้นักเรียนทุกคน ‘ฉีก’ ตำราหน้าที่ว่าด้วยการใช้ทฤษฎีเพื่อประเมินคุณค่าและความงามของบทกวีออกให้หมด เพราะเขาเชื่อว่าบทกวีคืองานศิลปะ ไม่ใช่งานวางท่อประปาที่วัดผลได้ด้วยองศาตัวเลขที่แม่นยำ มีเพียงการรับรู้ด้วย ‘หัวใจ’ เท่านั้นที่บอกได้ว่าบทกวีนั้นงดงามและมีคุณค่าอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคุณค่าที่แต่ละคนตีความย่อมไม่เหมือนกัน และไม่มีความรู้สึกแบบไหนควรถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด

 

เช่นเดียวกับเส้นทางชีวิตของแต่ละคนซึ่งไม่ต่างจากบทกวีที่ต้องการความงดงามที่หลากหลาย ทุกคนเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์บทกวีที่ไม่ได้หมายถึงตัวอักษรบนหน้ากระดาษ หากแต่เป็น ‘ถ้อยคำแห่งชีวิต’ ที่ทุกคนต้องค้นหาคำตอบว่าเราเกิดมาบนโลกที่ยุ่งเหยิงใบนี้เพื่ออะไร

 

เพราะฉะนั้นฉีกตำราที่ต้องให้คนมาบอกว่าเราจะประเมินคุณค่าความงามได้อย่างไรทิ้งไปซะ ลุกขึ้นมายืนบนโต๊ะ มองโลกด้วยมุมมองที่ต่าง เดินสวนสนามตามจังหวะของตัวเอง อย่าให้เสียงหัวเราะของคนอื่นกีดขวางเส้นทางที่เลือกแล้ว และออกไปค้นหา ‘บทกวี’ ของตัวเองให้เจอ

 

จากคำสอนนอกตำราที่ไม่เคยมีครูคนไหนพูดให้ฟังมาก่อน นำไปสู่การรื้อฟื้นชมรม Dead Poets Society ที่เคยมีประธานชื่อ จอห์น คีตติง กลับขึ้นมาอีกครั้ง โดยสมาชิกรุ่นใหม่ที่ผลัดกันขึ้นมาขับขานบทกวีนานาชนิด ตั้งแต่ตำนานลึกลับ คุยเรื่องรัก ดูภาพวาบหวิว ชื่นชมหัวใจที่แข็งแกร่ง กินขนม ดื่มเหล้า สูบไปป์ พาสาวมาเที่ยว ฯลฯ เพื่อค้นหาตัวตนและความฝันของตัวเองภายในถ้ำเล็กๆ อันอับชื้นที่ต้องก้มจนตัวเกือบติดพื้นถึงจะเข้าไปได้

 

เริ่มตั้งแต่ นีล แพร์รี (โรเบิร์ต ฌอน ลีโอนาร์ด) นักเรียนตัวอย่างที่แบกความหวังในการเป็นแพทย์จากคนเป็นพ่อไว้เต็มหลัง ทั้งที่ลึกๆ แล้วเขามีความฝันอยากเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเป็นครั้งแรกด้วยการสมัครเป็นนักแสดงละครเวที

 

ทอดด์ แอนเดอร์สัน (อีธาน ฮอว์ก) ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพี่ชายที่เป็นนักเรียนดีเด่น เขาเป็นเด็กหนุ่มขี้อาย ไร้ความมั่นใจ ที่แม้แต่อ่านบทกวีออกเสียงให้คนอื่นฟังยังไม่กล้า แต่จากบทเรียนหน้าชั้นของคุณครูคีตติงได้ช่วยปลุกสัญชาตญาณดิบที่หลับใหล จนเขาสามารถแต่งกลอนสดที่งดงาม สะท้อนสัจธรรมอันแสนเศร้าของชีวิตได้สำเร็จ

 

น็อกซ์ โอเวอร์สตรีท (จอร์จ ชาร์ลส์) เด็กหนุ่มผู้ตกหลุมรักสาวงามที่มีแฟนอยู่แล้ว แต่ก็รวบรวมความกล้าทำตามเสียงของหัวใจจนกล้าพอที่จะสารภาพรักกับเธอ

 

ชาร์ลี ดาลตัน (เกล เฮนสัน) ลูกเศรษฐีหัวขบถสุดซ่าที่ท้าทายกฎเหล็กและประเพณีของโรงเรียนชายล้วนด้วยการตีพิมพ์บทกวีเรียกร้องให้รับผู้หญิงเข้ามาเป็นนักเรียน

 

รวมทั้ง สตีเฟน มีกส์ (อัลเลออน รักจีโร), เจราร์ด พิตส์ (เจมส์ วอเตอร์สัน) และริชาร์ด คาเมรอน (ดีแลน คัสแมน) 3 สมาชิกที่แม้ความต้องการจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็อยู่ร่วมค้นหาบทกวีของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

 

แต่ละวันที่ผ่านไป คุณครูคีตติงปล่อยให้เด็กๆ ค้นหาบทกวีเฉพาะตัวโดยยืนมองอยู่ห่างๆ มีเพียงออกมาปรามชาร์ลีที่กำลังมั่นใจในความขบถของเขาว่าแก่นแท้ของชีวิตคือต้องรู้กาลเทศะ คนฉลาดจะรู้จักเลือกว่าเวลาไหนควรกล้า เวลาไหนควรระวัง รวมทั้งบอกให้นีลไปบอกให้พ่อรู้ว่าเขารักการแสดงมากแค่ไหน และแสดงให้เห็นว่าการแสดงคือชีวิตของเขาจริงๆ แต่ถ้าไม่ได้ผลให้ใจเย็นๆ อดทนรอจนเรียนจบแล้วค่อยพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง

 

นอกเหนือจากนั้น เขาปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้รสชาติของชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข สมหวัง และเต็มไปด้วยความเจ็บปวดด้วยตัวเอง และทุกคนก็ถูกหนามแหลมบนเส้นทางชีวิตทิ่มแทงจนได้รับบาดแผลกันจริงๆ

 

น็อกซ์ต้องยอมเจ็บตัว ถูกชกจนเลือดกบปากเพื่อโอกาสเป็นคนที่ถูกรัก, ถึงแม้จะมีความกล้ามากขึ้น แต่ทอดด์ก็ยังไม่สามารถสลัดร่มเงาของพี่ชายผู้ยิ่งใหญ่ออกไป และยังต้องได้รับชุดเครื่องเขียนแบบเดิมเป็นของขวัญวันเกิดจากพ่อต่อไปทุกปี

 

นีลได้รับความสุขสูงสุดในชีวิตเมื่อได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเวที หากแต่ความรู้สึกนั้นกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อรู้ว่าพ่อไม่อนุญาตให้เขาได้ทำในสิ่งที่รักอีกต่อไป

 

กระทั่งคุณครูคีตติงเองก็ได้สลักถ้อยคำอันแสนเจ็บปวดลงไปในกวีบทหนึ่งของชีวิต เขาถูกกล่าวหาว่าการสอนของเขาเป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องราวสุดสลด สุดท้ายเขาถูกไล่ออกจากโรงเรียน พร้อมความรู้สึกในใจที่ไม่อาจลบล้างได้ไปตลอดชีวิต

 

ชาร์ลีต้องถูกไล่ออก เพราะไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารว่าร้ายคุณครูคีตติง ส่วนคนอื่นๆ ก็ต้องอยู่กับความรู้สึกผิดที่ถูกบังคับให้เซ็นสัญญาเพื่อรักษาสถานะในโรงเรียนของตัวเองเอาไว้

 

ในวันสุดท้ายก่อนที่ทุกคนจะต้องกลับเข้าสู่บทเรียนการประเมินคุณค่าด้วยทฤษฎีตามปกติ ก็เป็นเด็กหนุ่มขี้อายอย่างทอดด์ที่รวบรวมความกล้าที่สุดในชีวิตเป็นผู้นำนักเรียนในห้องลุกขึ้นยืนบนโต๊ะต่อหน้าอาจารย์ใหญ่ผู้แสนเข้มงวด แทนคำสัญญาก่อนอำลากับคุณครูคีตติงว่า แม้บางครั้งชีวิตจะแสนเจ็บปวด แต่พวกเขาจะ ‘ฉกฉวยทุกช่วงเวลา’ เอาไว้ไม่ให้สูญเปล่า เพื่อออกค้นหา ‘บทกวีแห่งชีวิต’ ที่งดงามและมีคุณค่าแตกต่างกันไปให้เจอ

 

แล้วตัวเราเองล่ะ… ค้นพบ ‘บทกวี’ ที่ทำให้ชีวิตมีความหมายแล้วหรือยัง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising