ตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ ‘ซิมบับเว’ ประเทศในทวีปแอฟริกา ต่างปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อทั้งไทยและเทศ จากเหตุการณ์ที่กองทัพซิมบับเว นำโดยพลเอก คอนสแตนตินโน ชิวองกา (General Constantino Chiwenga) เข้ายึดสถานีโทรทัศน์ ทำเนียบรัฐบาล และสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงฮาราเร เมืองหลวงของซิมบับเว พร้อมทั้งกักบริเวณประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) และภริยาไว้ในบ้านพัก โดยกองทัพยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทำรัฐประหาร แต่เป็นการปราบปรามอาชญากรที่อยู่รายล้อมตัวประธานาธิบดี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศตกต่ำเท่านั้น
รู้จัก ‘โรเบิร์ต มูกาเบ’ และสตรีหมายเลขหนึ่งของซิมบับเว
จากลูกช่างไม้ในชนบทสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 ของซิมบับเว มูกาเบมีโอกาสศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในแอฟริกาใต้ เขาสั่งสมความรู้และประสบการณ์ก่อนที่จะกลับบ้านและตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตในเส้นทางการเมืองอย่างจริงจังในปี 1960 เขาร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศอย่างพรรค ZANU (ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อภายหลังเป็น ZANU-PF)
ในช่วงแรก เส้นทางการเมืองของมูกาเบไม่ค่อยราบรื่นนัก เขาต้องโทษจำคุกถึง 10 ปี ข้อหาพูดจาปลุกปั่นและก่อความไม่สงบขึ้นในสังคม ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลผิวขาว ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมซิมบับเว ความขัดแย้งนี้ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองจนมีการเจรจาไกล่เกลี่ยได้สำเร็จและนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 1980 ซึ่งเป็นปีที่ซิมบับเวได้รับการรับรองการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการจากสหราชอาณาจักรและประชาคมโลก
การเลือกตั้งในครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรค ZANU และมูกาเบได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของซิมบับเว
มูกาเบมีบทบาทอย่างมากในช่วงแรกภายหลังจากที่ได้รับเอกราช เขาถูกยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษที่ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเพื่อชาวซิมบับเวทุกคน อำนาจและบารมีของเขาเพิ่มมากขึ้นจนในที่สุดกราฟเส้นทางการเมืองของเขาก็พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด มูกาเบขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผู้มีอำนาจเต็มของซิมบับเวนับตั้งแต่ปี 1987 และเริ่มต้นสร้าง ‘ระบอบเผด็จการมูกาเบ’ ตั้งแต่ตอนนั้น
มูกาเบพบรักครั้งใหม่กับเลขานุการสาวในทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง แซลลี เฮฟรอน (Sally Hayfron) ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งและเสียชีวิตลง หลังจากนั้น 4 ปี เขาจึงได้สมรสอีกครั้งกับ เกรซ มูกาเบ (Grace Mugabe) ภริยาคนปัจจุบันซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เส้นทางการเมืองของผู้นำประเทศวัย 93 ปีคนนี้ใกล้ถึงจุดจบในอนาคตอันใกล้
ความบิดเบี้ยวของ(ผู้นำ)เผด็จการที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง
ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของมูกาเบ เขาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วจนประเทศแห่งนี้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำแห่งแอฟริกา’ เน้นชูนโยบายที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนผิวดำ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรง การจัดสรรสวัสดิการของรัฐให้คนผิวดำโดยเฉพาะ พร้อมขจัดศัตรูทางการเมือง รวมถึงผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆ ให้พ้นทางตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและนำทหารออกมาควบคุมความสงบเรียบร้อยในที่สุด
การบริหารที่ผิดพลาดและปกครองประเทศด้วยการใช้ความรุนแรง
ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปอย่างราบรื่นภายใต้การรวบอำนาจ แต่ความขัดแย้งที่เขามีต่อชนกลุ่มน้อยภายในประเทศ โดยเฉพาะคนผิวขาว ผลักดันให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศอพยพออกไปจากซิมบับเว ประกอบกับนโยบายยึดครองที่ดินจากคนผิวขาวแล้วถ่ายโอนให้กับคนผิวดำที่ไร้ฝีมือ จึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ภายในประเทศลดลง เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศถดถอยอย่างรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ ซิมบับเวยังได้รับแรงปะทะจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในช่วงทศวรรษ 1990 ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง อัตราว่างงานพุ่งสูงกว่า 95% และภาวะเงินเฟ้อสูงลิบลิ่ว จึงไม่น่าแปลกใจหากใครหลายคนจะมี ‘ภาพจำ’ ที่เกี่ยวข้องกับซิมบับเวเป็นภาพธนบัตรล้านล้านเหรียญซิมบับเวที่มีเลข 0 ถึง 14 ตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการทางด้านการเงินที่รัฐบาลใช้ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อมาโดยตลอด มิหนำซ้ำมูกาเบยังประกาศขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเองและคณะรัฐมนตรีในสภาวะที่ประชาชนอดอยากและแร้นแค้น จนเริ่มสะสมความไม่พอใจขึ้นในหมู่ประชาชนซิมบับเว
นอกจากนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ระบอบเผด็จการ’ ที่การตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นไปได้ยากแล้ว มูกาเบยังใช้อำนาจเต็มที่ได้อย่างอิสระ ใช้กำลังปราบปรามศัตรูทางการเมืองและฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก เข้าควบคุมเสรีภาพของสื่อต่างๆ และอาศัยความกลัวเป็นเครื่องมือในการอยู่ในอำนาจต่อไป แม้คะแนนความนิยมในตัวเขาจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ก็ตาม
การวางตัว ‘เกรซ มูกาเบ’ ในฐานะผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง
คืออีกหนึ่งชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพออกมาควบคุมความสงบเรียบร้อยของประเทศ และชักชวนให้ชาวซิมบับเวหลายแสนคนออกมาประท้วงต่อต้านมูกาเบและภริยาให้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง
ซึ่งก่อนหน้านี้มูกาเบเพิ่งสั่งปลด เอ็มเมอร์สัน มนันกักวา (Emmerson Mnangagwa) นักการเมืองผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับกองทัพและถูกมองว่าเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญของเกรซให้พ้นจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพราะต้องการให้เกรซ มูกาเบ ภริยาวัย 52 ปีของตนเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองหลังลงจากอำนาจ
เหตุผลของการปลดนี้ เนื่องจากมนันกักวาถูกกล่าวหาว่าต้องการล้มล้างระบอบอำนาจของประธานาธิบดีและลี้ภัยทางการเมือง ก่อนที่จะได้รับสิทธิ์และอำนาจคืนจากมติใหญ่ของพรรครัฐบาล พร้อมขึ้นเป็นผู้นำพรรค ZANU-PF คนใหม่แทนมูกาเบในที่สุด
ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ติดความหรูหราฟู่ฟ่าของสตรีหมายเลขหนึ่ง พร้อมความพยายามในการปูทางให้เธอเป็นผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการของระบอบมูกาเบต่อไป จึงทำให้ความไม่พอใจที่สะสมมานานปะทุออกมาเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ของชาวซิมบับเวที่ต่างเรียกร้องให้มูกาเบและภริยาลงจากอำนาจ และให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งใหม่ขึ้นในประเทศนี้โดยเร็ว
เสียงจากประชาคมโลกและบทสรุปของระบอบเผด็จการที่คุ้นตา
บรรดาผู้นำเผด็จการประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาต่างกำลังได้รับแรงกดดันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซิมบับเว ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่และความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของผู้นำรัฐบาล ทุกคนต่างกำลังเฝ้ารอการเปลี่ยนผ่านที่จะก้าวไปสู่สังคมใหม่ที่อย่างน้อยที่สุดก็เปิดกว้างสำหรับ ‘คนรุ่นใหม่’ ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอนาคตของพวกเขา
กลุ่มความร่วมมือและองค์กรระหว่างประเทศต่างเรียกร้องให้กองทัพกลับสู่พื้นที่ของตนเอง พร้อมคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร อดีตเจ้าอาณานิคมของซิมบับเว (ขณะที่ยังใช้ชื่อว่า ‘โรดิเซียใต้’) สนับสนุนให้กำหนดการเลือกตั้งในปี 2018 ยังคงดำเนินต่อไป และหวังว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะเปิดพื้นที่เกมการเมืองให้คนรุ่นใหม่ และนำพาซิมบับเวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น
ถึงแม้ว่าในช่วงแรกมูกาเบยังคงยืนยันที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป และเพิกเฉยต่อคำขู่ของฝ่ายต่อต้านที่จะดำเนินมาตรการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งทางการเมืองผ่านมติของรัฐสภาในอนาคตอันใกล้ แต่ดูเหมือนว่าเสียงของผู้นำซิมบับเววัย 93 ปีคนนี้จะเบาลงเสียแล้ว หลังฝ่ายต่างๆ ทั้งกองทัพ พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และประชาชนซิมบับเวหลายแสนคนต่างหันหลังให้กับเขา โดยเห็นพ้องว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศที่เคยเป็นอัญมณีล้ำค่าของกาลทวีปจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ พร้อมปลดแอกออกจากระบอบเผด็จการที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 37 ปี จนนายมูกาเบตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด
นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ด้วยความบิดเบี้ยวและความป่วยไข้ของระบอบเผด็จการที่เอื้อให้ผู้นำใช้อำนาจที่เขามีในทางที่มิชอบโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล ท้ายที่สุดก็จะต้องพบกับบทสรุปที่คุ้นตา พร้อมกับเกิดคำถามเดิมๆ ขึ้นภายในความคิดอีกครั้งว่า “…หรือเผด็จการจะไม่ใช่คำตอบ(สุดท้าย)จริงๆ”
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/world/live/2017/nov/19/robert-mugabe-set-to-resign-as-president-of-zimbabwe-live
- www.bbc.com/news/world-africa-42046911
- www.cia.gov/library/publications/resources/the-world-factbook/geos/zi.html
- www.theguardian.com/world/2017/nov/19/zimbabwe-ruling-party-fires-robert-mugabe-as-leader
- edition.cnn.com/2017/11/20/africa/zimbabwe-mugabe/index.html
- news.sky.com/story/robert-mugabe-continues-in-zimbabwes-tales-of-the-unexpected-11135284