ส่องเส้นทางดอกเบี้ยนโยบายไทย หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีระยะ 1 วันขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมวันนี้ (29 มีนาคม) เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน สู่ระดับ 1.75% ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี
โดยตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเห็นว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดอย่างหนัก ธปท. ค่อยๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบหนัก โดย กนง. มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมวันที่ 7 สิงหาคม 2562 จากระดับ 1.75% สู่ระดับ 1.5% จนกระทั่งเหลือ 0.50% หลังการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2563
กนง. ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระดับ 0.50% ดังกล่าวไว้ในการประชุม 16 ครั้งติดต่อกัน ก่อนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคม 2565 สู่ระดับ 0.75% และปรับขึ้นอีก 5 ครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 1.75% ในครั้งนี้ (29 มีนาคม) ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร?
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คืออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ และเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป
โดย ธปท. กำหนดให้ ‘อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีระยะ 1 วัน’ เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต