×

มหากาพย์ปม ‘ย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ’ จะจบลงอย่างไร

โดย THE STANDARD TEAM
27.02.2024
  • LOADING...
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ที่ผ่านมาศุภมาสเป็นประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการย้าย อุเทนถวาย ออกจากพื้นที่จุฬาฯ

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เดิมมีชื่อว่าโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ตั้งอยู่บนถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

 

ขณะที่ปมปัญหาที่ดินมีมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ของจุฬาฯ ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวายจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา ซึ่งจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เป็นผล

 

ต่อมาจุฬาฯ ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ในปี 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ตำบลบางปิ้ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างและขนย้ายให้ประมาณ 200 ล้านบาท

 

ปี 2548 อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ตำบลบางปิ้ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า

 

ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)’ 

 

ระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง เพื่อขอไม่ให้มีการย้ายออกจากพื้นที่เดิม

 

ปี 2552 กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ รวมทั้งชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ 

 

ผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

 

ในเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง ซึ่งปัญหานี้ยังเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ผ่านมาหลายรัฐบาล ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ จนเปลี่ยนจากรัฐบาลประยุทธ์มาสู่รัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมี ศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) คนใหม่ ที่ต้องเจอกับประเด็นร้อนดังกล่าว รวมถึงต้องหาทางออกที่ Win-Win ให้กับทั้งสองฝ่าย

 

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ศุภมาสอัปเดตรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้ว่า ตัวแทนศิษย์ปัจจุบันได้ยื่นหนังสือเพื่อขอร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อช่วยดูแลกรณีอุเทนถวาย 

 

วันที่ 30 มกราคม 2567 ศุภมาสให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่าอุเทนถวายต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด คือต้องย้ายไปยังวิทยาเขตใหม่ เพื่อที่จะลดความรุนแรงในการปะทะที่จะเจอกัน และต่อไปทางตำรวจจะเป็นเจ้าภาพในการนัดคุยกับทุกหน่วยงานเพื่อเริ่มการ Transition Plan พร้อมสั่งงดรับนักศึกษาปี 1 

 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรีตอบกระทู้ ชวน หลีกภัย สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ห่วงว่าการย้ายอุเทนถวายและงดรับนักศึกษาจะกระทบแผนรับนักศึกษา ยืนยันว่าจำเป็นต้องย้ายเพื่อลดเหตุตีกัน และเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษา นายกรัฐมนตรียืนยันจะจัดหาสถานที่ให้เหมาะสม ด้านศุภมาสชี้แจงว่าสามารถรับนักศึกษาปี 1 ได้ แต่ต้องเรียนที่วิทยาเขตอื่น

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 หลายหน่วยงานที่อุเทนถวายจะเดินทางไปพบ รวมถึงหน่วยงานราชการใกล้เคียง สั่ง Work From Home หรือย้ายที่ทำการ เช่น ปลัดกระทรวงการอุดมฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วน อว. สั่งปิดประตูเข้า-ออกดูแลความปลอดภัย

 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มตัวแทนศิษย์เก่าอุเทนถวายนัดรวมพลใหญ่กว่า 3,000 คน

 

โจทย์ใหญ่ของอุเทนถวายนอกจากต้องการรักษาพื้นที่ของตัวเองแล้ว ยังมีโจทย์คู่ขนานที่ต้องการยืนยันต่อสังคมด้วยว่า ปัญหาแบบในอดีตจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก 

 

บทสรุปของมหากาพย์ระหว่าง ‘อุเทนถวาย’ กับ ‘จุฬาฯ’ จะจบลงอย่างไร คงต้องรอดูว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันหาทางออกแบบไหน ขณะเดียวกันยังเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของ รมว.อว. คนใหม่ที่เชื่อว่าหากทำได้จะกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ถูกจดจำ  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising