ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวมากมาย ตั้งแต่โลกเดือด ซึ่งการเกิดขึ้นของภัยพิบัติธรรมชาติในแต่ละครั้งจะมีแต่ความรุนแรงขึ้น หรือการพัฒนาของเชื้อโรคที่อุบัติใหม่จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจไปทั่วโลก ดังนั้นการบริหารจัดการความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องนำมาประเมิน วางแผน และกำหนดวิธีการเพื่อเตรียมรับมือกับปัจจัยที่ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถือเป็นตัวแปรและบททดสอบสำคัญ ว่าองค์กรนั้นสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้หรือไม่?
ผลกระทบหากไม่มี Risk Management
เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้นกะทันหันย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการที่มีโอกาสไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ เพราะอาจทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหรือการบริการ และมีโอกาสเกิดความเข้าใจผิดและเสียสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นระหว่างซัพพลายเออร์ พันธมิตรทางการค้า หรือคู่ค้าต่างๆ ที่อยู่ระหว่างห่วงโซ่ธุรกิจมากมาย เพราะไม่สามารถป้อนวัตถุดิบให้ได้ตามที่ต้องการ หรือมีราคาที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ จนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการบริหารค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซ้ำร้ายกรณีเกิดอุทกภัยอาจมีผลกระทบต่อเครื่องจักรที่ใช้ผลิตหลัก เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่เข้าโรงงาน ซึ่งทำให้เกิดห่วงโซ่ผลกระทบจนถึงขั้นธุรกิจอาจต้องหยุดชะงัก และเลิกจ้างพนักงานบางส่วนไป ท้ายสุดย่อมส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อความน่าเชื่อและภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างปฏิเสธไม่ได้
กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ
ก่อนหน้านี้ความยากคือผู้นำองค์กรเองที่ยังไม่ค่อยอยากจะเริ่มทำ เนื่องจากยังไม่เห็นผลกระทบเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นชัดเจนกับองค์กร รวมทั้งเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องของการประเมิน คาดการณ์ และวิเคราะห์ ว่าอะไรพอจะเป็นปัจจัยลบหรืออุปสรรคที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจบ้าง
แต่ทุกอย่างเริ่มขยับเมื่อกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานสากลเริ่มทำให้เห็นว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงคือสิ่งที่ทุกองค์กรควรมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำองค์กรที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) และผู้บริหารระดับสูง จนกำหนดเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติงานลงมายังหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร และสื่อสารให้พนักงานแต่ละฝ่ายตระหนักในเรื่องนี้ พร้อมเข้าใจว่าต้องประเมินอย่างไร อะไรคือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วจะกระทบต่อส่วนงานของเขา หรือลงรายละเอียดให้ครอบคลุมปัจจัยที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นยากกว่าการเริ่มต้น น่าจะเป็นการประเมินสถานการณ์หรือความเสี่ยงที่คลาดเคลื่อนหรือไม่สอดรับกับสถานการณ์ รวมทั้งความเสี่ยงเกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
ต้องมีส่วนงานดูแลโดยเฉพาะ
เพราะความเสี่ยงมีมากขึ้นกว่าอดีต จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จนตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขึ้นมารับผิดชอบเป็นการเฉพาะ พร้อมมีนโยบาย กำหนดแผนการปฏิบัติเพื่อประเมินความเสี่ยง พร้อมแผนตั้งรับอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลมากกว่าคือ หน่วยงานขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เพราะการลงรายละเอียดประเมินความเสี่ยงแต่ละหน่วยงานอาจมองว่าเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าหากจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบในระยะยาว
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ผู้นำองค์กรควรลงมือและให้เวลาดูรายละเอียดด้วยตัวเองหากโครงสร้างองค์กรไม่ได้ใหญ่มาก เพราะเท่ากับเป็นการสื่อสารให้พนักงานได้เห็นว่าองค์กรเอาจริง แล้วพยายามสื่อสารให้พนักงานทุกคนมองเป้าหมายของการบริหารจัดการความเสี่ยงตรงกันว่าที่ทำทั้งหมดเพื่ออะไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าสามารถประเมินและบริหารจัดการควบคุม รับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อุปสรรควันนั้นจะกลายเป็นโอกาสให้กับองค์กรและพนักงานในองค์กรทุกระดับเองที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ เพราะเท่ากับว่าองค์กรสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามาท้าทายเสมอ
Risk Management ไม่ได้แค่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรเท่านั้น หากสามารถบูรณาการการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเข้าไป ตั้งแต่การกำหนดพันธกิจและกลยุทธ์องค์กร รวมถึงควรวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Sustainability Risk and Materiality Analysis) มาประกอบการจัดการความเสี่ยงในระดับต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เพราะน่าจะกลายเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจอยู่ในระยะปลอดภัยได้มากกว่า หากสามารถปรับเป็นกระบวนการทำงานในองค์กรหรือ In Process ได้
ประเภทความเสี่ยงเบื้องต้น
ความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงมีทั้งแบบ Risk Agility คือความสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและกระทบต่อธุรกิจโดยไม่ได้คาดคิด เช่น มีคู่แข่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าไปจากเดิมอย่างมาก และแบบ Risk Resiliency หมายถึงความสามารถในการเผชิญกับเหตุการณ์ที่มากระทบกับธุรกิจ
โดยธุรกิจที่มี Risk Resiliency ที่ดีมักเป็นองค์กรมีความแข็งแรง ผู้บริหารสามารถวางแผนรับมือ มีกระบวนการปฏิบัติงานที่ดี รวมทั้งควบคุมการบริหารภายใน จัดการความเสี่ยงและอุปสรรค รวมถึงมีวัฒนธรรมการทำงานหรือมีชื่อเสียงขององค์กรที่ดีด้วย ที่สำคัญวัดได้จากการที่องค์กรสามารถสร้างการเติบโตและผลตอบแทนได้อย่างเป็นที่พอใจ รวมถึงสามารถผ่านเหตุการณ์ทั้งหลายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงช่วยสร้างและรักษาคุณค่าขององค์กรได้ในระยะยาว ซึ่งการบริหารความเสี่ยงในลักษณะนี้ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเริ่มจากคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานทุกคน
ตัวอย่างความเสี่ยงตามผลกระทบ ESG
- สิ่งแวดล้อม (Environment) เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์และบริการ เพราะอาจทำให้จัดหาวัตถุดิบยากขึ้นหรือไม่มีเพียงพอ ภัยธรรมชาติต่างๆ หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บภาษีภาคอุตสาหกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สถานที่ประกอบการหรือโรงงานที่เป็นกำลังการผลิตมีปัญหาส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ
- สังคม (Social) เช่น อาจได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยผู้จัดหาวัตถุดิบหรือคู่ค้า ซึ่งอาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชาชนหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ที่นับวันมีมากขึ้นในหลายภูมิภาค พนักงานขาดทักษะที่ไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคได้ มีระบบสร้างสุขภาวะและระบบความปลอดภัยให้แก่พนักงานในองค์กรไม่ดีพอ
- บรรษัทภิบาล (Governance) เช่น การไม่เปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญทั้งหมดออกมา เพราะมีผลต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ความบกพร่องต่อการกำกับดูแลภายในองค์กรของผู้บริหาร การดำเนินการที่ไม่ผ่านกฎเกณฑ์หรือระเบียบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของธุรกิจ
ตัวอย่างการประเมินและวิธีการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ
บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP
จากข้อมูลรายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 ร้านอาหารและแบรนด์เบเกอรี่ S&P พบว่าให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นรวดเร็วทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ตั้งแต่การเกิดสงครามระหว่างประเทศ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก และอาจส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยให้ทุกหน่วยงานประเมินความเสี่ยงในโครงการสำคัญที่จะใช้งบประมาณลงทุนสูง ซึ่งแบ่งเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลัก (Top Corporate Risks) และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Market) และให้ขึ้นกับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะ โดยมีกระบวนการสำคัญคือ การรวบรวมปัจจัยและประเด็นที่เป็นข้อมูลสำคัญพร้อมจัดทำมาตรการที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
- ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ และต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น บริษัทกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติชัดเจนเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
- ความเสี่ยงจากการจลาจล/โรคระบาด หากมีเหตุการณ์รุนแรงหรือยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทำให้หยุดชะงักได้ แนวทางแก้ไขคือพยายามหาผู้รับจ้างผลิตที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรืออีมาร์เก็ตเพลสให้มีประสิทธิภาพ
- ความเสี่ยงจากการพึ่งพาซัพพลายเออร์เพียงรายเดียว ซึ่งอาจทำให้เจอความผันผวนของราคา จึงต้องหาซัพพลายเออร์หลายเจ้า หรือกรณีลูกค้ามีการเปลี่ยนพฤติกรรมเร็ว ซึ่งมีผลกระทบทำให้ซื้อของน้อยลง โดยปรับกลยุทธ์การตลาดการโฆษณาให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้า และพร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างเหมาะสมกับลูกค้า
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB
ธนาคารไทยพาณิชย์มีการประเมินความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร ตั้งแต่ด้านกลยุทธ์ ด้านเครดิต ด้านการลงทุน ด้านสภาพคล่อง ด้านกฎหมายและการกำกับการปฏิบัติตามเกณฑ์ ด้านชื่อเสียง เป็นต้น และการดำเนินธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบ การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย การโจมตีทางไซเบอร์ โรคระบาด และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งหมดนี้จะมีการวิเคราะห์สถานการณ์จำลองและการทดสอบภาวะวิกฤต ตลอดจนกำหนดแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและจัดให้มีการฝึกซ้อมเป็นประจำ เพื่อไม่ให้โมเดลหรือการดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงักในระยะกลางถึงระยะยาว
- ความเสี่ยงจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีการประมวลผลแบบควอนตัมกำลังได้รับการพัฒนา และคาดว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วใน 5-10 ปีข้างหน้า แม้นวัตกรรมนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อเทคโนโลยีทางการเงินทั่วโลก เพราะการประมวลผลเชิงควอนตัมสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ นอกจากนี้หากมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องอาจทำลายวิทยาการเข้ารหัสลับ (Cryptographic) ที่มีความสำคัญต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรและเศรษฐกิจดิจิทัลในวงกว้าง ซึ่งแนวทางบริหารจัดการได้ลงทุนในธุรกิจ Quantum Computing เช่น 1QBit ผ่าน SCB 10X เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาธุรกิจและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีควอนตัม อีกทั้งยังอยู่ระหว่างจัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างไร้ขีดจำกัด
- ความเสี่ยงจากอาชญากรรม/การก่อการร้ายจากไซเบอร์ที่มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และยังได้พัฒนาจนมีรูปแบบหลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อองค์กรและภาคธุรกิจ เช่น การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ เม็ดเงินจำนวนมหาศาล รวมไปถึงความเชื่อมั่นของลูกค้า รวมถึงความเสี่ยงด้าน Geoeconomic Confrontation ยังทำให้การติดอาวุธทางเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคการเงินต่อการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธและการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีรัฐสนับสนุน บริษัทจึงลงทุนและพัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มจากเทคโนโลยีใหม่เพื่อเปลี่ยนกลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการโจมตีให้ก้าวหน้าเท่าทันต่อวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี พร้อมมีฝ่าย Financial Crime ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่บัญชีของลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง และจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์และเทคโนโลยี (Cybersecurity Center of Excellence: CoE) ที่จะมาช่วยยกระดับความรู้ ความสามารถ ทักษะ และเครื่องมือที่ทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีของกลุ่มฯ
- เพราะกลุ่มธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งหมายถึงด้านความมั่นคงแห่งชาติด้วย จึงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวัฒนธรรมความเสี่ยง โดยถือเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในองค์กร จึงส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานบนฐานความรู้ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบร่วมกัน ผ่านระบบการบริหารจัดการองค์กรและกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อให้วัฒนธรรมความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง
เมื่อความเสี่ยงอยู่รอบทิศในยุคที่พลวัตเร็วเช่นนี้ การไม่ทำอะไรเลยหรือทำแบบไม่ครอบคลุมนอกจากอาจทำให้บริษัทล้มแล้วลุกได้ยากกว่าเดิม บางทีอาจทำให้หายไปจากบริบทเดิมก็ได้ เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการบริหารจัดการความเสี่ยงจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้องค์กรจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่
อ้างอิง:
- https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20200604.html
- https://setsustainability.com/page/esg-risk
- https://www.youtube.com/watch?v=0YQaSWjX5EE
- https://sustainability.indoramaventures.com/th/economic/risk-management
- https://www.snpfood.com/storage/content/sustainability/strategy/prosperity/20240528-snp-prosperity-enterprise-risk-management-th.pdf
- https://www.scbx.com/th/sustainability/foundation/risk-management/