ในปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับ “การเลือกเวลาตายให้กับตัวเอง ถือเป็น ‘สิทธิ’ อย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกคน” กำลังเป็นกระแสถกเถียงในวงกว้าง โดยเฉพาะในวงการแพทย์ที่การเยียวยาและการรักษาชีวิตของผู้ป่วยถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของวิชาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศทั่วโลก
กรณีของคุณตาเดวิด กู๊ดดอล นักวิทยาศาสตร์ลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลียวัย 104 ปี ที่ต้องการจะเลือกจบวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์ (Physician-Assisted Suicide: PAS) แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้เจ็บป่วยระยะสุดท้ายหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงก็ตาม กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
อะไรที่ทำให้ชายสูงวัยที่ใครหลายๆ คนมองว่า เป็นหนึ่งในคนที่อายุยืนคนหนึ่งของโลก ตัดสินใจเช่นนั้น
เหตุผลสำคัญก็คือ สุขภาพที่ถดถอยลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เขารู้สึกว่าอิสรภาพที่เขาเคยมีกำลังเลือนหายไปทีละน้อย
คุณตากู๊ดดอลเป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย หนึ่งในความสำเร็จของเขาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ การเป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือชุด Ecosystems of the World กว่า 30 เล่ม เขาได้รับชัยชนะหลังจากต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองในการทำงานที่มหาวิทยาลัย Edith Cowan ต่อไปโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รวมถึงเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Australia เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น สภาพร่างกายที่ถดถอย ทำให้ทางมหาวิทยาลัยกังวลเกี่ยวกับการสัญจรไปมาและความปลอดภัยของเขา เขาถูกสั่งห้ามไม่ให้ขับรถ เลิกแสดงละคร รวมถึงต้องเปลี่ยนสถานที่นั่งทำงานมาอยู่ใกล้ละแวกบ้าน สภาพแวดล้อมทำให้เขาเริ่มไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ อุบัติเหตุที่เกิดจากการหกล้มอย่างรุนแรงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เขาตัดสินใจที่จะเลือกจบชีวิตของตนเองได้ง่ายและเร็วขึ้น
“ความตายไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ คุณถูกห้ามไม่ให้ตาย”
ถึงแม้ว่าคุณตาจะเกิดที่ลอนดอน แต่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในออสเตรเลียและตัดสินใจที่จะตายในประเทศแห่งนี้ แต่การตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์ยังถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในออสเตรเลีย มีเพียงรัฐวิกตอเรียเท่านั้นที่พึ่งผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2019 อีกทั้งยังจะต้องเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่า อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น
คุณตากู๊ดดอลรู้สึกเสียใจมากที่ประเทศที่เขารักไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองลีสตาล (Liestal) สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจบชีวิตของตัวเองที่นั่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรแสวงหาผลกำไรอย่าง Exit International และ Eternal Spirit ที่สนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิเลือกจบชีวิตของตัวเองได้
ทำไมต้อง ‘สวิตเซอร์แลนด์’ และมีประเทศใดบ้างที่สนับสนุนเรื่องนี้
สวิตเซอร์แลนด์อนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถจบชีวิตของตัวเองได้ภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์ นับตั้งแต่ปี 1942 แต่จะต้องเป็นไปโดยไม่เป็นการเห็นแก่ตัวและทิ้งภาระต่างๆ ไว้ให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง ที่นี่ยังเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีศูนย์ช่วยเหลือด้านการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับคนต่างชาติอีกด้วย
นอกจากนี้ในแคนาดา เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นออริกอน, มอนแทนา, เวอร์มอนต์, วอชิงตัน, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, ฮาวาย รวมถึง กรุง วอชิงตัน ดี.ซี. ยังประกาศใช้กฎหมายที่คล้ายคลึงกันในปีที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้ฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยไม่ขัดกับหลักกฎหมาย
การตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่ปราศจาก ‘ความลังเลใจ’
ในการยื่นเรื่องร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าว คุณตากู๊ดดอลมีสิทธิที่จะเปลี่ยนใจได้จนถึงนาทีสุดท้าย หากต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปและรอคอยวาระสุดท้ายของชีวิตโดยธรรมชาติ แต่คำตอบที่ทีมแพทย์ได้รับคือ “ไม่ ผมไม่มีทางเปลี่ยนใจแน่นอน ไม่ว่าเกิดจะอะไรก็ตาม นี่คือทางที่ผมเลือก”
“ความสามารถของผมถดถอยลงกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา สายตาของผมเริ่มฝ้าฟางลงกว่า 5-6 ปีก่อนมาก ผมไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกแล้ว ผมรู้สึกดีใจที่ผมจะมีโอกาสยุติมันลงเสียที”
“ผมค่อนข้างพึงพอใจที่จะถูกจดจำในฐานะผู้ที่จะช่วยปลดปล่อยคนสูงอายุทั้งหลายจากการใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาไม่ต้องการ” โดยกู๊ดดอลหวังว่า เรื่องราวของเขาจะทำให้รัฐบาลออสเตรเลีย รวมถึงประเทศต่างๆ ตระหนัก คิดทบทวน พร้อมทั้งหันมาสนับสนุนสิทธิเรื่องการการุณยฆาตโดยสมัครใจ (Voluntary Euthanasia) และกฎหมาย Right-to-Die Laws เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในแง่มุมนี้เพิ่มมากขึ้น
ครอบครัวของคุณตาเดินทางมาจากทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส เพื่อร่วมกันบอกลาบุคคลที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้าย ด้าน คาเรน กู๊ดดอล-สมิธ ลูกสาวของคุณตาเผยว่า “ฉันรู้สึกเสียใจมากๆ แต่ในขณะเดียวกันฉันก็รู้สึกสงบไปพร้อมๆ กัน เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่ง เป็นผู้ชายที่จะลงมือทำในสิ่งที่พูด พ่อเป็นคนห่วงโลกใบนี้และต้องการจะสร้างโลกในแบบที่ต่างออกไป เรื่องราวของพ่อกำลังทำให้ผู้คนสนใจในสิทธิที่อยากจะตายเพิ่มมากขึ้น เราอยากบอกให้พ่อรู้ว่า พวกเราทุกคนภูมิใจในตัวพ่อ”
เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 10 พฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสวิตเซอร์แลนด์ คุณตากู๊ดดอลตัดสินใจฉีดสารโซเดียมเพนโทบาร์บิทอล (Pentobarbital) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เนมบูทอล (Nembutal) เข้าสู่กระแสเลือดด้วยตัวเอง ขณะที่กำลังฟัง Ode to Joy ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของสุดยอดศิลปินอย่างบีโธเฟน โดยสารดังกล่าวมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสงบ และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดการทำงานในที่สุด
สุดท้ายแล้ว ความปรารถนาของคุณตากู๊ดดอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็กลายเป็นความจริง
สำหรับคุณ คุณคิดเห็นอย่างไร ถ้าคนเราสามารถที่จะเลือกเวลาตายได้ เพราะนั่นอาจถือเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ อย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี
อ้างอิง:
- www.smh.com.au/national/australian-scientist-david-goodall-dies-after-lethal-injection-20180510-p4zem6.html
- edition.cnn.com/2018/05/10/health/david-goodall-australian-scientist-dies-intl/index.html
- www.bbc.com/news/world-europe-44069885
- www.abc.net.au/news/2018-05-10/david-goodall-ends-life-in-a-powerful-statement-on-euthanasia/9742528
- ‘การฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ (PAS)’ หมายถึง การให้ความช่วยเหลือใดๆ ที่ทำให้การฆ่าตัวตายนั้นเกิดขึ้น เช่น การให้คำแนะนำ การสั่งจ่ายยาที่ทำให้ถึงแก่ความตาย การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ โดยผู้ร้องขอจะเป็นผู้ลงมือปลิดชีวิตของตนด้วยตนเอง
- แตกต่างจาก ‘การุณยฆาต (Euthanasia)’ ที่จะมีบุคคลอื่น (ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์) เข้ามามีส่วนในการยุติชีวิตของผู้ป่วยคนนั้นๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเอง หรือตามคำร้องขอของผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ป่วย