×

ชาติพันธุ์ของริชชี่ ‘มูเซอ’ ผู้ลงมาจากหลังคาโลก รุ่นแรกมาในสมัยรัชกาลที่ 5

15.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ‘มูเซอ’ เป็นชื่อที่ชาวพม่าและไทใหญ่เรียก แปลว่า ‘พรานป่า’ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ชำนาญด้านการล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้สมัยหนึ่งทางการไทยหวาดกลัวว่าคนกลุ่มนี้จะเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์
  • ต้นตระกูลของ ริชชี่-อรเณศ ดีคาบาเลส นั้นอยู่ในไทยมานานมาก ริชชี่เป็นเหลนทวดของ ‘ปู่หมื่น’ ผู้นำบนดอยปู่หมื่น สะท้อนว่าปู่ของริชชี่เป็นผู้นำคนสำคัญและมีบารมีมาก ไม่เช่นนั้นชื่อของปู่จะไม่ได้ถูกตั้งเป็นชื่อดอยได้เลย
  • ขณะที่ ‘จะฟะ ไชยกอ’ ตาของริชชี่เคยเป็นผู้ที่ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. 2513 และได้รับพระราชทานต้นชาอัสสัม ซึ่งทุกวันนี้กลายมาเป็นอาชีพของชาวมูเซอบนดอยสามหมื่น 
  • การไล่คนไปอยู่ให้ไกลจากตัวเราย่อมสะท้อนถึงปัญหาความคิดในการแบ่งแยก และการขาดความอดทนอดกลั้น (Tolerance) ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่นเดียวกันกับที่สังคมไทยต้องเรียนรู้เรื่องราว และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเคารพทางชาติพันธุ์ซึ่งกันและกัน 

ถ้า ม้า อรนภา แค่ไล่ริชชี่ให้กลับบ้าน ไม่ใช่กลับดอย คงไม่เป็นกระแสดราม่าเท่านี้ เพราะคำว่า ‘ดอย’ นั้นมันสื่อถึงการเป็นบ้านนอก เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำ

 

ในยุคสมัยหนึ่งช่วงกระแสคอมมิวนิสต์แรงๆ คนไทยเหยียดชาวเขาชาวดอยมาก บางคนถึงกับมองว่า ‘ชาวเขา’ นั้นไม่ใช่ ‘ชาวเรา’ เพราะเอาคำมาเล่นกับความหมาย มายาคติเช่นนี้ ยังคงพบได้ในสังคมไทยทุกวันนี้ ล่าสุดก็เรื่องม้ง เป็นต้น ความไม่ละเอียดอ่อนมากพอต่อถ้อยคำ และการไม่เข้าใจเรื่องชาติพันธุ์นั้นเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องค่อยๆ แก้ไขในอนาคต อาจไม่สำเร็จในคนรุ่นเรา ก็อาจจะเป็นคนรุ่นหน้า 

 

ริชชี่นั้นบ้านอยู่ดอยจริงๆ แหละครับ เพราะน้องเป็นชาติพันธุ์มูเซอแดง หรือ ลาหู่ญี ผมเข้าใจว่าตระกูลของเธอคงอยู่ที่นี่มานานเป็นร้อยปี ไม่ใช่มูเซอที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ในช่วงสงครามเย็น เพราะมีบันทึกเก่าๆ มากมายที่ระบุว่า แถบดอยปู่หมื่น แถบดอยผ้าห่มปก มีชาวมูเซอแดงอยู่มานานแล้ว

 

ภาพหมู่ชายหญิงชาวมูเซอ (ลาหู่) ดำ และมูเซอแดง เมื่อครั้งที่ลงมารับเสด็จรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2469 ที่เชียงใหม่ ในภาพนี้มีชาวมูเซอ 2 เผ่า คือ มูเซอดำ ได้แก่ ผู้หญิงสองคนที่สวมเสื้อยาวมีลายแถบขาว และโพกผ้าที่ศีรษะ และมูเซอแดง ได้แก่ ผู้หญิงที่สวมเสื้อสั้น และนุ่งซิ่น (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

จะฟะ คุณตาของริชชี่

เท่าที่ทราบผ่านสื่อ ต้นตระกูลของ ริชชี่-อรเณศ ดีคาบาเลส นั้นอยู่ในไทยมานานมาก ริชชี่เป็นเหลนทวดของ ‘ปู่หมื่น’ ผู้นำบนดอยปู่หมื่น สะท้อนว่าปู่ของริชชี่เป็นผู้นำคนสำคัญและมีบารมีมาก ไม่เช่นนั้นชื่อของปู่จะไม่ได้ถูกตั้งเป็นชื่อดอยได้เลย ในขณะที่ ‘จะฟะ ไชยกอ’ (ชาวมูเซอชอบตั้งชื่อผู้ชายด้วยคำนำหน้าว่า จะ หรือ จา แปลว่า นาย) ตาของริชชี่เคยเป็นผู้ที่เคยได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. 2513 และได้รับพระราชทานต้นชาอัสสัม ซึ่งทุกวันนี้กลายมาเป็นอาชีพของชาวมูเซอบนดอยสามหมื่น 

 

ก่อนหน้านั้น ใน พ.ศ. 2507 จะฟะยังได้รับการคัดเลือกจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5 ให้เป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาหมู่บ้านดอยปู่หมื่น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ตาของเธอจะได้เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2513 

 

นอกจากต้นชาแล้วที่สำคัญคือ รัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทานเงินทุนให้กับจะฟะ เพื่อเป็นทุนจัดตั้งร้านค้าชาวเขาในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร้านค้าเป็นตัวแทน ศูนย์กลางจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองหัตถกรรม และรับซื้อผลผลิตจากราษฎรชาวเขา นอกจากนี้ จะฟะยังมีบทบาทในเรื่องการสนับสนุนให้ชาวเขาเลิกตัดต้นไม้ ทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่นอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นตระกูลที่ใกล้ชิดกับระบบราชการอย่างมาก

 

มูเซอ หรือ ลาหู่

ชาวมูเซอเป็นใครมาจากไหนนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า นามชาติพันธุ์ที่เรียกว่า ‘มูเซอ’ นั้นเป็นชื่อที่ชาวพม่าและไทใหญ่เรียก แปลว่า ‘พรานป่า’ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ชำนาญด้านการล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้สมัยหนึ่งทางการไทยหวาดกลัวว่าคนกลุ่มนี้จะเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์เลยทีเดียว แต่ชาวมูเซอเรียกตนเองว่า ‘ลาหู่’ หรือ ‘ลาฮู’ แต่จะเรียก มูเซอ หรือ ลาหู่ ก็ได้ทั้งสองชื่อ เพราะชื่อมูเซอไม่ได้เป็นคำเหยียดเหมือนกับชื่อชาวเขาบางกลุ่มที่คนภายนอกเรียก

 

ความจริงแล้ว ชาวมูเซอในจีนมีหลากหลายกลุ่ม ที่พบในไทยมีอยู่ 4 กลุ่มหลักๆ คือ มูเซอดำ (ลาหู่นะ), มูเซอแดง (ลาหู่ญี / ลาหู่ยี ซึ่งคำว่า ญี นี้คงหมายถึงบุตรชายคนที่สอง), มูเซอเชเล (ลาหู่เชเล), และมูเซอกุ้ย (ลาหู่ชี / มูเซอเหลือง) ทั้งหมดพูดภาษาสาขาโลโล-พม่า กลุ่มโล-โล (Lo-lo) ชื่อโล-โลนี้เป็นชื่อที่คนจีนใช้เรียกชาวมูเซอ 

 

หญิงชาวมูเซอเหลืองเและลูกน้อยที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ภาพถ่ายก่อนปี ค.ศ.1930 เล็กน้อย โดย มิสเตอร์ อาร์. ดับเบิ้ลยู. มัวร์ (ที่มาของภาพ: Seidenfaden 1930: 86-87)

 

ทั้งหมดมีความต่างกันของภาษาพูดเพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ และมีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น มูเซอดำ เน้นแต่งกายด้วยสีดำเป็นพื้น และตกแต่งด้วยผ้าสีขาว มูเซอแดงเน้นตกแต่งเครื่องแต่งกายด้วยสีแดงและน้ำเงิน มีสีสันสดใสบนพื้นเสื้อสีดำ (หรือมีสีน้ำเงิน เขียว บ้างในปัจจุบัน) ซึ่งกลุ่มหลังนี้เองที่เป็นชาติพันธุ์ของริชชี่ 

 

มูเซอลงมาจากหลังคาโลก 

ประวัติความเป็นมาของชาวมูเซอยังเป็นเรื่องเหมือนจะชัดเจนแต่ก็คลุมเครือ และแต่ละหมู่บ้านก็มีประวัติความเป็นมาต่างกัน บางหมู่บ้านอยู่มานานเป็น 100-150 ปีขึ้นไป บางแห่งเพิ่งตั้งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ อันเป็นผลมาจากการลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน ผมยังไม่เคยมีโอกาสไปสัมภาษณ์ชาวมูเซอที่ดอยปู่หมื่น แต่คิดว่าชาวมูเซอที่ดอยนี้อยู่มานานมากแล้วนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) เจ้ากรมแผนที่คนแรกของสยาม ได้พบกับ ‘ชาวมูเซอ’ เมื่อขึ้นไปสำรวจทำแผนที่บนดอยผ้าห่มปก ซึ่งดอยปู่หมื่นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของดอยผ้าห่มปก โดยบันทึกว่าได้พบกับชาวมูเซอกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 ฟุต รูปร่างหน้าตาและการแต่งกายของชาวมูเซอในสมัยนั้น “ผู้หญิงไว้ผมยาว เกล้ามวยใช้ผ้าโพกศีรษะ ต่างหูเงินทำเป็นบ่วง เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 หรือ 4 นิ้ว หนา 3/4 นิ้ว ที่คอสวมห่วงเงินและเครื่องประดับที่ทำจากหวาย ถือว่า เป็นเครื่องประดับที่ผู้หญิงทุกคนต้องสวมใส่ หากไม่มีผีร้ายจะลักพาตัวไปได้ ผู้หญิงสวมเสื้อคลุมและนุ่งซิ่นที่เย็บแถบผ้าประดับอย่างงดงาม หากมีฐานะก็ติดกระดุมเงินเม็ดใหญ่บนเสื้อ” (แมคคาร์ธี 2562: -125-126) จากคำบรรยายนี้น่าจะเป็นชาวมูเซอแดง เพราะสวมเสื้อคลุมและนุ่งซิ่นที่เย็บแถบผ้าอย่างงดงาม 

 

ชายชาวมูเซอ ถ่ายภาพที่เชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2469 อยากให้สังเกตคนที่สองจากซ้าย ชายชราคนนี้ถูกถ่ายภาพหลายภาพมาก เข้าใจว่าคงจะเป็นผู้นำของชาวมูเซอ (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

อีริค ไซเดนฟาเดน อดีตประธานสยามสมาคม ได้ให้ข้อมูลว่า ชาวมูเซอ หรือ ลาหู่ “ลงมาจากหลังคาโลก” นานมาแล้ว “ด้วยแรงกดดันจากจีนและการรีดไถ่พืชผลทางการเกษตร” เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดเดิมของมูเซออยู่ด้านตะวันออกของที่ราบสูงทิเบตติดกับยูนนาน จากนั้นเมื่อราว 2 พันกว่าปีก่อนจึงได้เคลื่อนย้ายลงมายังมณฑลยูนนาน ทำให้ภาษามูเซอเป็นหนึ่งในภาษากลางของคนบนพื้นที่สูงแถบนั้น แต่แล้วในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวมูเซอได้ทำการปฏิวัติต่อชาวจีน แต่พ่ายแพ้ ทำให้บางส่วนอพยพหนีลงมาทางใต้ ประกอบกับแรงจูงใจด้านการปลูกฝิ่น จึงได้อพยพเข้าสู่ประเทศสยามในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือเป็นพื้นที่สงบกว่าที่อื่นๆ ในภูมิภาค (Hays 2014) ทำให้ชาวมูเซอ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ลีซู ต้องอพยพและเคลื่อนย้ายลงมาทางตอนเหนือของรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และบางส่วนเข้ามาทางเหนือของประเทศไทย คือที่เมืองฝางที่ดอยผ้าห่มปก (Seidenfaden 1958: 127-129) 

 

รับเสด็จรัชกาลที่ 7 ที่เชียงราย

นอกจากชาวมูเซอดำและมูเซอแดงจะเคยเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2469 พวกเขายังเคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกด้วย ในครั้งนั้น พระองค์พร้อมคณะได้เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ 

 

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือของรัชกาลที่ 7 นี้เอง ที่ทำให้จังหวัด โดยเฉพาะเชียงใหม่ และเชียงราย ได้กะเกณฑ์ให้ชาวเขากลุ่มต่างๆ มารับเสด็จ และจัดเป็นกระบวนแห่ ที่จังหวัดเชียงราย พระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบสำหรับเมืองเชียงราย ความว่า “…เราจะถือเอาโอกาสนี้ ขอแสดงความขอบใจจนถึงคนทั้งหลายซึ่งพากันต้อนรับเราโดยนิยมยินดี เห็นประจักษ์แก่ตาเราตลอดทางที่มาตั้งแต่เมืองนครลำปาง และขอบใจชาวเชียงรายทั้งพวกที่อยู่ในบ้านเมือง และจำพวกต่างๆ ซึ่งอุตส่าห์มาแต่ถิ่นฐาน อันอยู่บนภูเขาลำเนาป่าดง ด้วยประสงค์จะแสดงความภักดีต่อตัวเราในที่นี้” (กมล มโนชญากร 2474: 77-78)

 

ชาวมูเซอที่เชียงราย ถ่ายภาพเมื่อ พ.ศ. 2469 (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

กระบวนแห่รับเสด็จรัชกาลที่ 7 ของชาวมูเซอดำ มูเซอแดง ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2469 (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ในครั้งนั้นได้มีการถ่ายภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันภาพบางส่วนเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มารับเสด็จในเวลานั้นคือ ชาวมูเซอแดง ผมได้แต่เดาๆ ว่าบรรพบุรุษของน้องริชชี่คงจะลงมารับเสด็จ และอยู่ในภาพพวกนี้ด้วยแหละครับ 

 

ศาสนาของชาวมูเซอ

หมู่บ้านดอยปู่หมื่นทุกวันนี้มีการนับถือศาสนาคริสต์ แต่เดิมทีเดียว ชาวมูเซอนั้นนับถือศาสนาผีกัน ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของพยุงศักดิ์ ไชยกอ (2544: 17) เข้าใจว่าเป็นเครือญาติของริชชี่ ได้กล่าวว่า เดิมทีชาวมูเซอดำส่วนใหญ่จะเชื่อในผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ผีที่มีอำนาจมากที่สุดได้แก่ ผีฟ้า มีชื่อเรียกว่า ‘งือซา’ เปรียบได้กับพระเจ้า และเชื่อว่าผีฟ้านี้เป็นผู้สร้างสรรสรรพสิ่งที่ดีงามในโลก 

 

กลุ่มของมิชชันนารีอเมริกันก็นับว่าเป็นกลุ่มที่บันทึก และศึกษาเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน และมีบทบาทอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวเขา หนึ่งในบุคคลที่สำคัญคือ ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ซึ่งได้บันทึกเรื่องของชาวมูเซอ และคนกลุ่มต่างๆ ระหว่างการเดินทางไปเชียงราย เพื่อเตรียมเผยแผ่ศาสนาคริสต์ โดยเมื่อ ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) ท่านได้เล็งเห็นว่า มูเซอเป็นเผ่าที่มีความสำคัญต่อการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะ “…เนื่องจากพวกเขาไม่ผูกมัดกับประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือผูกมัดกับองค์การศาสนาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์ ชาวเขาส่วนใหญ่จึงรับพระวจนะได้รวดเร็ว” (แมคกิลวารี 2544: 354-355) 

 

สาเหตุที่แมคกิลวารีเชื่อว่าจะเผยแผ่ศาสนาในหมู่ชาวมูเซอได้ง่ายนั้น เนื่องจากชาวตะวันตกในเวลานั้นมองว่า ผีไม่ใช่ศาสนา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการง่ายที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวเขา อนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนมีความรู้เกี่ยวกับชาวมูเซอนั้น ถึงแม้ว่าภายนอกจะดูว่าชาวมูเซอแดงนับถือผี แต่ความจริงแล้วในศาสนาของพวกเขามีส่วนผสมของศาสนาพุทธเข้าไปปะปนอยู่พอสมควร ดังเห็นได้จากชื่อพระเจ้าของมูเซอเรียกว่า ‘ฟู’ คล้ายกับที่จีนเรียกพระพุทธเจ้าว่า ‘โฝ’ (佛) และยังมีรายละเอียดของพิธีกรรมอื่นๆ อีก การผสมผสานของความเชื่อนี้ถือเป็นเรื่องปกติในกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ต่างจากคนในสังคมไทยที่นับถือพุทธปนผี ปนฮินดู 

 

ภาพปกหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย

 

ชาวมูเซอแดงใน 30 ชาติในเชียงราย

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักชาติพันธุ์วิทยาคนสำคัญของไทย ได้เขียนเรื่องของชาวมูเซอแดงไว้ในหนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาชื่อว่า 30 ชาติในเชียงราย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 ตอนที่ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และพลิกไปที่บทของมูเซอแดงแล้วตกใจเล็กน้อยในประโยคเปิด บุญช่วยได้เขียนว่า “มูเซอแดงเป็นชนชาวเขาเผ่าหนึ่งซึ่งมีความเกียจคร้านเป็นนิสัยประจำชาติ” (2547: 459) 

 

ความเข้าใจดังกล่าวนี้นับว่าเป็นความเข้าใจผิด และเป็นมุมมองจากคนภายนอกที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมมาก เพราะชาวมูเซอในอดีตนั้นไม่ได้ทำงานเพื่อสะสมทุนแบบปัจจุบัน จึงไม่ต้องเร่งรีบใดๆ และต้องทำไร่เป็นพื้นที่กว้างเพื่อให้ได้เงินมา ที่สำคัญในสมัยนั้นการปลูกฝิ่น (ซึ่งในสมัยนั้นถูกกฎหมาย) ก็มีรายได้เพียงพอกับการครองชีพแล้ว ความเข้าใจผิดต่อกลุ่มชาติพันธุ์นั้นยังมีให้เห็นอีกมาก กระทั่งในปัจจุบัน 

 

ข้อมูลที่ผมเขียนมาบางส่วนนี้ยกมาจากหนังสือที่ผมกำลังเขียนอยู่ชื่อว่า พลเมืองสยาม (ขอแอบขายของหน่อยนะบรรณาธิการ) ซึ่งพยายามรวบรวมภาพถ่ายเก่า และเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในแง่ของประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อหวังว่าจะช่วยทำให้สังคมไทยมีความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น 

 

เราไม่ควรไล่ใครกลับไปไหนครับ ไม่ว่าจะไปอยู่บนดอย นอกประเทศ หรือดาวอังคาร การไล่คนไปอยู่ให้ไกลจากตัวเราย่อมสะท้อนถึงปัญหาความคิดในการแบ่งแยก และการขาดความอดทนอดกลั้น (Tolerance) ซึ่งนับเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่นเดียวกันกับที่สังคมไทยต้องเรียนรู้เรื่องราว และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเคารพทางชาติพันธุ์ซึ่งกันและกัน 

 

ภาพเปิด: Richy Oranate D.caballes / Facebook 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • Seidenfaden, Eirk. 1930. “The Gospel of ST. Marc in Musso,” Journal of the Siam Society. Vol.16.1, pp. 84-87.
  • คารร์, เอ, นายแพทย์ และ ไซเดนฟาเดน, อี, พันตรี. ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย. ใน ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2515.
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 2547 [2493]. 30 ชาติในเชียงราย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.
  • ประชาชาติธุรกิจ. “รู้จัก ‘วิถีลาหู่ ยอดดอยปู่หมื่น’ บ้าน ‘ริชชี่ อรเณศ’,” Available at: www.prachachat.net/social-media-viral/news-419082
  • พยุงศักดิ์ ไชยกอ. 2544. ความต้องการในการพัฒนาอาชีพการเกษตรของชาวเขาเผ่ามูเซอดำ หมู่บ้านดอยปู่หมื่นใน ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 
  • แมคกิลวารี, ดี. ดี., เดเนียล. 2544 [2454]. กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว อัตชีวประวัติของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ดี. ดี., พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X