เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินที่เข้าขั้นวิกฤต ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษผู้เลืองชื่อ ถึงขนาดยอมยกที่ดินบนเกาะส่วนตัวชื่อ Necker Island อันเป็นที่ตั้งของรีสอร์ตหรู เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแก่รัฐบาลของสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย เพื่อหาเงินกู้มาอุ้มสายการบิน Virgin Atlantic และ Virgin Australia ให้สามารถอยู่รอดและฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้
คำเสนอนี้มีขึ้นหลังจากทั้งสองสายการบินถูกปฏิเสธความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ตามรายงานของ Financial Times ระบุว่า Virgin Atlantic ได้ยืนขอกู้เงินเชิงพาณิชย์มูลค่าประมาณ 500 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่ถูกรัฐบาลแดนผู้ดีปฏิเสธ และให้ยื่นข้อเสนอใหม่ ส่วน Virgin Australia ได้ยืนขอเงินกู้มูลค่า 750 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน
ขณะนี้พนักงานของทั้งสองสายการบินซึ่งมีจำนวน 38,000 คน ต้องถูกพักงานชั่วคราว และสายการบินต้องพึ่งพารัฐบาลในการจ่ายเงินค่าจ้างในสัดส่วน 80% ของค่าจ้างในช่วงเวลาปกติ
แบรนสันระบุว่า ธุรกิจสายการบินจะอยู่รอดได้ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งเขายืนยันว่า เงินดังกล่าวเป็นการกู้ยืม และจะคืนให้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แบรนสันได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ทำไมต้องมาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในเมื่อเขานั้นไม่ได้จ่ายภาษีรายได้ให้กับสหราชอาณาจักร ด้วยอาศัยอยู่ในเกาะ Necker Island ซึ่งเขาซื้อตั้งแต่อายุ 29 ปี อีกทั้งตัวเขายังร่ำรวยมหาศาล ติดลำดับที่ 312 ของคนที่รวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สิน 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.69 แสนล้านบาท ตามดัชนีมหาเศรษฐีของ Bloomberg
มหาเศรษฐีชาวอังกฤษได้ออกมาตอบโต้ว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนวณมูลค่าของธุรกิจ Virgin ทั่วโลกก่อนจะเกิดวิกฤตในครั้งนี้ และทรัพย์สินส่วนใหญ่ไม่ใช่เงินสดที่พร้อมจะถอดมาใช้ทันที ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลกำไรส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ลงทุนในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
ส่วนเหตุผลที่ย้ายออกจากอังกฤษไม่ได้เป็นเพราะเหตุผลทางด้านภาษี แต่เป็นเพราะความรักในความสวยงามของ Necker Island ซึ่งนอกจากสร้างบ้านแล้ว ส่วนที่เหลือของเกาะยังทำธุรกิจที่มีพนักงาน 175 คนอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: