ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวอังกฤษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Virgin Galactic ประกาศความสำเร็จในการเดินทางออกไปนอกโลกด้วยยานอวกาศที่บริษัทของตนเองผลิตและพัฒนาขึ้น พร้อมด้วยสมาชิกลูกเรืออีก 5 คน ก่อนที่กลับสู่พื้นโลกได้อย่างปลอดภัย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม)
สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แบรนสันเดินทางไปกับจรวด VSS Unity ของ Virgin Galactic โดยเป็นเที่ยวบินทดลองที่ขึ้นไปลอยในระดับ 80 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก หรือก็คือระดับขอบของอวกาศ (Edge of Space) ซึ่งจรวดได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ฐานปล่อยยานในรัฐนิวเม็กซิโก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
สำหรับการเดินทางไปอวกาศครั้งนี้เป็นการทดสอบครั้งที่ 22 ของโครงการ ซึ่งในจำนวนสมาชิกผู้เดินทางทั้ง 6 คน นอกจากตัวแบรนสันแล้ว ก็มีนักบินอวกาศ 2 คน และผู้บริหารระดับสูงของ Virgin Galactic ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศอีก 3 คน
ซีเอ็นเอ็นบรรยายว่า หลังจากแตะระดับความสูงที่ 46,000 ฟุตเหนือพื้นโลก ยาน Unity ได้ถูกปล่อยออกจากยานแม่ และมีการจุดไอพ่นเพื่อให้พุ่งไปในอวกาศด้วยความเร็วเหนือเสียง ก่อนจะปิดไอพ่นเมื่อไต่ระดับความสูง 86 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระดับที่อยู่ในสภาพไร้น้ำหนักให้ผู้เดินทางได้ดื่มด่ำบรรยากาศนอกโลกเป็นเวลาไม่กี่นาที จากนั้นจึงร่อนลงกลับมาจอดบนพื้นโลกอีกครั้งอย่างปลอดภัย
รายงานระบุว่า การเดินทางทั้งหมดใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมง โดยการเดินทางครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลก ขณะที่ตัวแบรนสันเองก็อัดคลิปวิดีโอขณะที่ตนเองกำลังลอยอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักก่อนโพสต์ลงทวิตเตอร์ พร้อมข้อความระบุว่า “ถึงเด็กๆ บนพื้นโลกด้านล่าง ครั้งหนึ่งผมก็เคยมีความฝันที่คอยแหงนหน้ามองดาว แล้ววันนี้ผมก็เป็นผู้ใหญ่อยู่ในยานอวกาศ…ถ้าเราทำสิ่งนี้ได้ ก็ลองคิดดูว่าเธอจะสามารถทำอะไรได้”
ทั้งนี้ ทาง Virgin Galactic มีแผนจะทดสอบเที่ยวบินอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนเริ่มการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์จริงในปี 2022 โดยก่อนหน้านี้ทาง Virgin Galactic ได้มีการขายตั๋วโดยสารสำหรับเที่ยวบินท่องอวกาศของ Virgin Galactic แล้วในสนนราคา 200,000-250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 ล้านบาท) ซึ่งมีผู้สนใจซื้อตั๋วแล้วมากกว่า 600 ราย และทาง Virgin Galactic จะกลับมาเปิดขายตั๋วโดยสารอีกครั้งในไม่ช้านี้ แต่อาจจะมีการปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มมากขึ้น
มหาเศรษฐีนักธุรกิจจากแดนผู้ดีรายนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในแวดวงธุรกิจที่ให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมท่องอวกาศ โดยเจ้าตัวเริ่มต้นโครงการท่องเที่ยวอวกาศตั้งแต่เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งก่อนการเดินทาง แบรนสันได้เชิญเพื่อนสนิทและบรรดาเซเลบฯ ทั้งหลายมาร่วมปาร์ตี้ฉลองตามธรรมเนียมนิยมของเจ้าตัว พร้อมกล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ของตนถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเดินทางในอวกาศ ที่จะเริ่มมีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์จริงๆ ในปีหน้าเป็นต้นไป
ความสำเร็จของแบรนสันทำให้เจ้าตัวกลายเป็นมหาเศรษฐีคนแรกของโลกที่ได้เดินทางขึ้นไปยังอวกาศด้วยยานเอกชน และยังถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการเปิดฉากอุตสาหกรรมท่องอวกาศในเชิงพาณิชย์ ที่หลายฝ่ายรวมถึง ธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ประเมินว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศจะขยายตัวเติบโตสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายใน 9 ปีข้างหน้า คือปี 2030
ขณะเดียวกัน การเดินทางของ Virgin Galactic ยังถือเป็นการปาดหน้าโครงการปล่อยจรวดของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่เตรียมจะเดินทางท่องอวกาศหลังอำลาตำแหน่งของตนด้วยยานอวกาศของ Blue Origin บริษัทด้านอวกาศของตนเองในอีก 9 วันให้หลังจากนี้ รวมถึงโครงการท่องอวกาศของนักธุรกิจมหาเศรษฐีอย่าง อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX ซึ่งมีแผนที่จะปล่อยจรวดในเดือนกันยายนนี้ด้วย
อ้างอิง: