ราคาข้าวแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี เนื่องมาจากผลกระทบของเอลนีโญทำให้อุปทานข้าวตึงตัว ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้น หวั่นดัน ‘เงินเฟ้ออาหาร’ (Food Inflation) ในประเทศที่บริโภคข้าวเป็นหลักทะยานอีกรอบ
ตามข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 ธันวาคม) Thai White Rice 5% Broken ซึ่งเป็นดัชนีราคาข้าวเกณฑ์มาตรฐานของเอเชีย (Asian Benchmark) ปรับตัวขึ้น 2.5% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแตะระดับ 650 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2008
การพุ่งของราคาข้าวเมื่อเร็วๆ นี้นับเป็นการปรับตัวขึ้นอีกระลอก หลังจากเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าว ท่ามกลางสภาพอากาศแห้งแล้งในปีที่ผ่านมาที่คุกคามผลผลิตข้าวของไทย
โดยราคาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้บางฝ่ายกังวลว่าอาจทำให้อัตราเงินเฟ้ออาหาร (Food Inflation) สูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่บริโภคข้าวเป็นหลัก
เช่นเดียวกับ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งยังคงกังวลเกี่ยวกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้ออาหาร เนื่องจากอินเดียกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ Bloomberg ว่า โรงสีข้าวในประเทศกำลังชะลอการขาย หลังจากมีข่าวว่าราคาข้าวอาจจะสูงขึ้น นอกจากนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็ส่งผลทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ชูเกียรติมองว่าอุปทานข้าวที่เพิ่มขึ้นจากเวียดนามและไทยอาจลดความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวจะพุ่งแรงๆ อีกครั้ง พร้อมย้ำว่าไทยมีน้ำสำรองเพียงพอ ขณะที่ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูก
“กระนั้น เราคาดว่าราคาข้าวจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในต้นปีหน้า จากความกังวลด้านความมั่นคงด้านอาหารที่ยังคงอยู่ และคำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย” ชูเกียรติกล่าว
ตามข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2022-2023 จีนเป็นประเทศที่บริโภคข้าวมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ อินเดีย, บังกลาเทศ, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งอยู่ในอันดับ 7 ของโลก
อ้างอิง: