×

บทสรุป 11 ปี อภิมหากาพย์คดีจำนำข้าว พิพากษา ‘ยิ่งลักษณ์’ จ่าย 1 หมื่นล้าน จับตาอนาคตตระกูลชินวัตร

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2025
  • LOADING...
rice-pledging-case-summary

22 พฤษภาคม 2557 ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยถูกรัฐประหารยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐบาลของเธอที่ขณะนั้นเป็นรัฐบาลรักษาการ 

 

ผ่านมา 11 ปี วันนี้ 22 พฤษภาคม 2568 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นเงิน 10,028 ล้านบาท จากเดิมที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 35,717 ล้านบาท

 

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทยให้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ภายหลังพบว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้น

 

คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการในการตรวจสอบและดำเนินการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งรวมถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังระบุว่า การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ หัวหน้า คสช. ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ หัวหน้า คสช. 

ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย 

โดยระบุว่ากองทัพมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย 

พร้อมผลักดันการปฏิรูปประเทศ 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ภาพ: REUTERS/Athit Perawongmetha

 

ภายใต้อำนาจตามคำสั่งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดสูตรการคำนวณค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละปีการผลิต โดยใช้วิธี มูลค่าการรับจำนำข้าว – ความคุ้มค่าและประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ – มูลค่าที่ได้จากการระบายข้าว = ค่าเสียหายสุทธิ จากการคำนวณดังกล่าว ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว รวมเป็นเงินกว่า 35,717 ล้านบาท

 

จากนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ อนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ได้ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ซึ่งให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน 35,717 ล้านบาท นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (ยิ่งลักษณ์) อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งออกโดยปลัดกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6) โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกล่าวหาว่าในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยต่อการระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางราชการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนำคดีฟ้องต่อศาล

 

ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ รวมถึงการดำเนินการใด ๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึง 9 ได้แก่ กรมบังคับคดี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7), อธิบดีกรมบังคับคดี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8), และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี เพื่อขายทอดตลาด

 

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว รวมถึงคำสั่งที่ออกตามหนังสือลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ยกคำร้องขอกันส่วนทรัพย์สินในฐานะเจ้าของร่วมของผู้ฟ้องคดีที่ 2 (อนุสรณ์ อมรฉัตร) โดยศาลให้เพิกถอนเฉพาะคำสั่งส่วนนี้ ส่วนคำขออื่นให้ยกคำร้อง

 

ศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์ว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีอำนาจในการสอบสวนหาตัวผู้รับผิด และคำนวณจำนวนค่าสินไหมทดแทนในกรณีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลายคนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นผู้กระทำเพียงคนเดียว โดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริต และเพิกเฉยต่อความเสียหายที่เกิดแก่ทางราชการ

 

ดังนั้น การดำเนินการเรียกค่าเสียหายจึงต้องเป็นไปตามหลักการร่วมรับผิดในมูลละเมิดเดียวกัน โดยแต่ละบุคคลควรรับผิดชอบตามสัดส่วนที่ตนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่การกำหนดให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งรับผิดทั้งหมด

 

ต่อมากระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งนำมาสู่การนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ (22 พฤษภาคม)

 

ยิ่งลักษณ์ กำลังตักข้าวสารเพื่อแจกถุงข้าวให้ประชาชน

ยิ่งลักษณ์ กำลังตักข้าวสารเพื่อแจกถุงข้าวให้ประชาชน 

บริเวณด้านนอกห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559

ภาพ: AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

 

1 ทศวรรษ อภิมหากาพย์โครงการรับจำนำข้าว

 

ปี 2554 

  • 23 สิงหาคม: ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น แถลงต่อรัฐสภาว่า นโยบายจำนำข้าวเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทยให้สัญญาไว้กับประชาชน เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง 
  • 7 ตุลาคม: เปิดตัวโครงการจำนำข้าวอย่างเป็นทางการ รับจำนำผลผลิตข้าวจากชาวนาหมดทุกเมล็ด ทั้งแบบประทวนและยุ้งฉาง เพื่อให้ชาวนาสามารถนำผลผลิตมาแลกเป็นเงินได้ ซึ่งมีความพิเศษคือไม่จำกัดโควตาและกำหนดราคา ‘ตันละ 15,000 บาท’ ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึง 50% 
  • ในวันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือเตือนถึงรัฐบาล ให้ระวังปัญหาการทุจริต และเสนอให้กลับไปใช้นโยบายประกันราคาข้าวแทน 

 

ปี 2555

  • เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน: มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. 3 ครั้งให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว โดยมีพรรคการเมืองใหม่, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในการยื่นครั้งนี้โฟกัสไปที่การทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว
  • 25-27 พฤศจิกายน: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G)

 

ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา

ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา

เพื่อหาทางออกทางการเมืองสู่การเลือกตั้ง 

สืบเนื่องมาจากการชุมนุมกดดันอย่างหนักจากกลุ่ม กปปส. 

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556

ภาพ: AFP PHOTO/STR 

 

ปี 2556

  • 5 มิถุนายน: นพ.วรงค์ ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำปี 2554/2555 โดยเป้าหมายในการยื่น ป.ป.ช. ครั้งนี้ เน้นไปที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายข้าว และนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว
  • 10 มิถุนายน: คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดกรอบวงเงินสำหรับใช้ในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อควบคุมไม่ให้เกินวงเงิน 5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงรัฐบาลกลับใช้งบประมาณเกินกรอบที่กำหนดไว้ถึง 1.8 แสนล้านบาท
  • 29 พฤศจิกายน: สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำก่อตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย
  • 9 ธันวาคม: ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อพยายามคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองของประเทศ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้าขับไล่รัฐบาล

 

ปี 2557

  • 20 มกราคม: กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ได้เคลื่อนขบวนจากเวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปปิดล้อมธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ที่สะพานควาย เพื่อคัดค้านการนำเงินฝากของประชาชนมาช่วยเหลือโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการทุจริต
  • 28 มกราคม: ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวน ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว และใช้เวลา 21 วันในการแจ้งข้อกล่าวหา
  • 8 พฤษภาคม: ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูล ยิ่งลักษณ์ พร้อมส่งเรื่องให้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ดำเนินการถอดถอน คดีฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยอ้างว่าชาวนาหลายล้านคนยังไม่ได้เงิน
  • 22 พฤษภาคม: คสช. นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย 
  • 28 พฤศจิกายน: สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิเสธการเพิ่มหลักฐาน 72 ชิ้นในคดีรับจำนำข้าว มีกำหนดการนั่งพิจารณาคดีถอดถอนจากตำแหน่งครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม 2558 มีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 9 คน

 

พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ 

เข้าร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 

ภาพ: AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

 

ปี 2558

  • 23 มกราคม: สนช. ลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว ห้ามเล่นการเมือง 5 ปี ทั้งยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาด้วย ขณะที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์
  • 12 กุมภาพันธ์: ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้เรียกค่าเสียหายจาก ยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว
  • 19 กุมภาพันธ์: อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เอาผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 วรรคสี่ มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี
  • 19 มีนาคม: ศาลฎีกา รับฟ้อง
  • 19 พฤษภาคม: ศาลฎีกา เริ่มพิจารณาคดีครั้งแรก โดยให้ยิ่งลักษณ์มาศาลทุกครั้งในการไต่สวนพยานทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย และให้ประกันตัวด้วยเงินสด 30 ล้านบาท
  • 29 กันยายน: ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกับพวกต่อศาลอาญา ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้อง แต่ศาลไม่รับคำฟ้อง

 

ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงศาลอาญา

ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงศาลอาญา

เพื่อยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกับพวกต่อศาลอาญา 

ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558

ภาพ: AFP PHOTO/ Christophe ARCHAMBAULT

 

ปี 2559

  • 15 มกราคม: เริ่มไต่สวนพยานนัดแรก
  • 13 พฤษภาคม: ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้อง ‘จิรชัย มูลทองโร่ย’ ประธาน คกก. ตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว
  • 13 ตุลาคม: อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น เซ็นคำสั่งทางปกครอง ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาท ภายใน 30 วัน
  • 23 พฤศจิกายน: ยิ่งลักษณ์ ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องรวม 9 คน กรณีร่วมกันออกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,717 ล้านบาท โดยอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง

 

ยิ่งลักษณ์ ยกมือไหว้ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ

ยิ่งลักษณ์ ยกมือไหว้ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ

ก่อนแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกา

 ถ้อยแถลงมีความยาว 19 หน้า ใน 6 ประเด็น 

พร้อมยืนยันว่า “ไม่ได้ทำอะไรผิด”

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ปี 2560

  • 26 มกราคม: ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีที่ยิ่งลักษณ์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าเสียหาย 35,717 ล้านบาท ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่ทุเลาบังคับคดี
  • 29 มิถุนายน: ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา ออกเดินเผชิญสืบที่โรงสีข้าว จังหวัดอ่างทอง แต่ศาลยกคำร้อง
  • 7 กรกฎาคม: ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลฎีกาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลฎีกา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ศาลยกคำร้อง
  • 21 กรกฎาคม: ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายในคดีจำนำข้าว
  • 26 กรกฎาคม: กรมบังคับคดีได้รับคำสั่งให้อายัดบัญชีของยิ่งลักษณ์ 12 บัญชี แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า ยังไม่มีการยึดทรัพย์
  • 1 สิงหาคม: ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกา ถ้อยแถลงมีความยาว 19 หน้า ใน 6 ประเด็น พร้อมยืนยันว่า “ไม่ได้ทำอะไรผิด”
  • 25 สิงหาคม: ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ยิ่งลักษณ์ไม่มาศาล อ้างป่วย ต่อมาศาลออกหมายจับ และมีรายงานข่าวว่า เดินทางออกนอกประเทศแล้ว
  • 27 กันยายน: ศาลอ่านคำพิพากษา (ลับหลัง) ตัดสินจำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี และออกหมายจับแบบไม่มีอายุความ

 

ปี 2564

  • 2 เมษายน: ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ที่ 135/2559 ซึ่งให้ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลเห็นว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง-ฟังไม่ได้ว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต แต่กระทรวงการคลังใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

 

ภูมิธรรม เวชยชัย โชว์กินข้าว

ภูมิธรรม เวชยชัย โชว์กินข้าวเพื่อพิสูจน์คุณภาพข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567

 

ปี 2567 

  • 6 พฤษภาคม: ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พาสื่อมวลชนไปพิสูจน์ข้าวสารหอมมะลิของโครงการรับจำนำข้าวที่โกดังคลังข้าวสองแห่งในจังหวัดสุรินทร์ ที่ร่วมโครงการจำนำข้าวในปี 2556/2557 พร้อมกินโชว์เพื่อพิสูจน์คุณภาพ
  • 8 มิถุนายน: องค์การคลังสินค้า (อคส.) เตรียมออกประกาศออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเปิดประมูล (TOR) เปิดประมูลข้าวสารหอมมะลิ 15,000 ตันในล็อตสุดท้าย
  • 22 กรกฎาคม: อคส. ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลซื้อขายข้าวสารในสต๊อกจำนวน 2 คลังให้เอกชน 2 ราย ปริมาณรวม 15,000 ตัน คือ บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ ปริมาณ 11,656 ตัน ในราคา 15.617.35 บาท/กก. และบริษัท สหธัญ จำกัด ปริมาณ 3,356 ตัน โดยยืนราคา 18.690 บาท/กก.

 

ปี 2568

  • ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา ให้ ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในอัตรา 50% ของมูลค่า 20,057,723,761 บาท เป็นจำนวนเงิน 10,028,861,880 บาท

 

‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ขณะเข้าร่วมพิธีศพภายในวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ขณะเข้าร่วมพิธีศพภายในวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 

ภาพ: AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

 

2 คดีความในโครงการจำนำข้าว

 

ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีจากโครงการจำนำข้าว ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ซึ่งปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 

 

  1. คดีอาญา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว อันเป็นเหตุให้ต้องหลบหนีคดี ออกจากประเทศตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน
  2. คดีความเสียหายทางแพ่ง กระทรวงการคลังออกคำสั่งปกครอง ให้ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาทพร้อมกับออกคำสั่งอายัดทรัพย์ ซึ่งมีการอายัดทรัพย์สินไปแล้วบางส่วนก่อนหน้านี้

 

‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ ขณะกำลังขึ้นรถเรือนจำ เพื่อรับโทษตามศาลฎีกาฯ

‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ ขณะกำลังขึ้นรถเรือนจำ

เพื่อรับโทษตามศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกในคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ส่วนอีกคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุจริตจำนำข้าวคือ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีถูกกล่าวหา 2 คนคือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน

  1. คดีอาญา ทั้ง 2 คนถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกไปแล้ว 42 ปี และ 36 ปีตามลำดับ ต่อมาทั้งคู่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเรื่อยมา กระทั่งได้รับการพักโทษเมื่อปี 2567-2568 ที่ผ่านมา 
  2. คดีความเสียหายทางแพ่ง ทั้ง 2 คนถูกฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ความเสียหายในโครงการนี้เช่นกัน รวมวงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) พิพากษาให้ทั้ง 2 คนร่วมกับอดีตข้าราชการ ชดใช้ความเสียหายไปแล้ว โดยให้รับผิด 20% ของความเสียหายในแต่ละสัญญา เมื่อปี 2564 แต่ปัจจุบันมีการยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

 

ยิ่งลักษณ์ชดใช้ 1 หมื่นล้าน คณะ รปห. ทำภารกิจเสร็จสมบูรณ์

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมวิเคราะห์กับ THE STANDARD ถึงผลในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า ในความเป็นจริงศาลปกครองสูงสุดควรยืนตามศาลปกครองกลาง เนื่องจากในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ควรเอาผิดกับยิ่งลักษณ์ด้วยซ้ำไป

 

เมื่อความผิดอยู่เพียงในหัวหน้ารัฐบาลที่ปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยไม่ยับยั้ง ในความเป็นจริง ความผิดในการปฏิบัติหน้าที่มีเพียงเล็กน้อย แล้วจะไปให้ชดใช้ค่าเสียหายได้อย่างไร ทำไมไม่ไปเรียกจากคนที่ติดคุก สิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นไม่ได้สอดคล้องกัน

 

หากจะถึงขั้นยึดทรัพย์ก็ต้องให้ยิ่งลักษณ์มีความผิดหนักกว่านี้ กล่าวคือ ต้องรับผิดชอบโดยตรง แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ก็ขอไม่ออกความเห็น เพราะสิ่งที่ดำเนินการกับยิ่งลักษณ์นั้นไม่สอดคล้องกัน หากต้องรับผิดชอบบางส่วน ก็พอเข้าใจได้

 

ไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบ แต่ ดร.สติธร เชื่อว่า ผลกระทบจะไม่ถึงขั้นปิดประตูการกลับบ้านของยิ่งลักษณ์ เพราะคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวโดยตรง คดีที่ทำให้กลับบ้านไม่ได้เป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ล้มล้างความผิดในคดีนั้น ถึงอย่างไรก็ยังต้องรับโทษ

 

เมื่อผลเป็นลบ และหากสถานการณ์นี้ไม่ใช่รัฐบาลเพื่อไทย นายกรัฐมนตรีไม่ได้ชื่อแพทองธาร ชินวัตร จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นคนในตระกูลชินวัตร แน่นอนว่าอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หนักใจอย่างมากที่จะดำเนินการต่อเรื่องนี้ ยิ่งลักษณ์มีศักดิ์เป็นอาของเธอ ขณะเดียวกันเธอก็ต้องหน้าที่ของตนเองในเช่นกัน 

 

ส่วนการวินิจฉัยในวันนี้ ซึ่งครบรอบ 11 ปีการรัฐประหาร หลายฝ่ายมองว่าเป็นจังหวะที่ไม่ดีมากนัก หากมองในแง่ลบเหตุที่นำมาสู่วันนั้นเมื่อ 11 ปีก่อน ส่วนหนึ่งก็มาจากคดีนี้ และในวันนี้คดีนี้ก็ถูกชำระให้สมบูรณ์ สิ่งที่เข้ามายึดอำนาจเพื่อจัดการรัฐบาลในปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหามากมาย ประชาชนออกมาประท้วงจำนวนมาก แต่ภารกิจของคณะรัฐประหารสำเร็จเสร็จสิ้นในวันนี้ ที่สามารถลงโทษนายกรัฐมนตรีจากรัฐบาล ที่ตนเองเป็นผู้ทำรัฐประหารได้

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ 

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

 

กระนั้น ผลของคดีในวันนี้จะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของยิ่งลักษณ์ พ่อของแพทองธาร ต่อการไต่สวนกรณีรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 13 มิถุนายนด้วยแน่นอน 

 

เนื่องจากคดีดังกล่าวในศาลปกครองกลางสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผลบวกขึ้นมาครั้งหนึ่ง แต่วันนี้กลับเป็นลบอีกครั้ง หมายความว่า สิ่งที่เคยเป็นบวกด้วยกันมาก็อาจจะถอยกลับไปเป็นลบได้เช่นกัน

 

เมื่อผลของคดีออกมาเช่นนี้ ดร.สติธร มองอนาคต 3 นายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตรว่า คดีในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ว่า รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ เมื่อผลของการดำเนินงานออกมาเป็นลบ อาจเกิดการขยายผลว่า รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะเริ่มดื้อและเล่นนอกดีลบ้าง

 

แต่ทุกฝ่ายก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ดั่งวันนี้ของเมื่อ 11 ปีโดยต้องอยู่ภายใต้ความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์กลับไปถึงจุดนั้นอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising