×

Revisited < > Departed นิทรรศการของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่พาผู้ชมเดินทางกลับสู่ภายในและทบทวนห้วงเวลาที่จากมา

06.03.2019
  • LOADING...
Bangkok Citycity Gallery

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นเจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี 2553 เป็นตัวแทนศิลปินไทยที่ได้รับเชิญไปแสดงผลงานใน Venice Biennale ครั้งที่ 54 เป็นคนไทยเชื้อสายฮินดู-ปัญจาบี เป็นคนทำงานศิลปะ เป็นศิลปินที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในผลงาน เป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอเค เป็นนักสำรวจที่ออกตามหาตัวตน และเป็นอีกหลายๆ อย่างที่ไม่ได้พูดถึง
  • ในนิทรรศการนี้ ‘นาวิน’ ในวัยปลาย 40 ได้ตั้งคำถามและสำรวจมุมมองต่ออนาคตที่ยังเดินทางมาไม่ถึง ผ่านผลงานหลายชิ้น

1. คำสารภาพ

สารภาพว่าหลังจากชมนิทรรศการ Revisited < > Departed ที่ Bangkok Citycity Gallery ผู้เขียนใช้เวลาทบทวนอยู่นานว่าจะเขียนบทความนี้ออกมาอย่างไรดี ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรให้เขียนถึง เพราะนิทรรศการนี้เต็มไปด้วยเรื่องราว ถ้าเป็นคนทำงานสายนักเขียนนักข่าวก็คงจะมองว่าเป็นงานที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ จะเดินชม 1-2 รอบก็ยังไม่มากพอที่จะเก็บเกี่ยวและเรียบเรียงเรื่องราวที่พรั่งพรูออกมาได้

 

‘กลับไป จากมา’ หรือ ‘Revisited < > Departed’ เป็นการกลับมาอีกครั้งของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินไทยชื่อดัง หลังจากที่ห่างหายจากการจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวในกรุงเทพฯ ไปนาน การกลับมาครั้งนี้จึงสร้างความตื่นเต้นให้กับคนที่รู้จักและติดตามผลงานของเขาอยู่ไม่น้อย

 

คงไม่ต้องเท้าความถึงประวัติความเป็นมาให้ยืดยาว นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นที่รู้จักจดจำในหลายคำนิยาม เป็นเจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี 2553 เป็นตัวแทนศิลปินไทยที่ได้รับเชิญไปแสดงผลงานใน Venice Biennale ครั้งที่ 54 เป็นคนไทยเชื้อสายฮินดู-ปัญจาบี เป็นคนทำงานศิลปะ เป็นศิลปินที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในผลงาน เป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอเค เป็นนักสำรวจที่ออกตามหาตัวตน และเป็นอีกหลายๆ อย่างที่ไม่ได้พูดถึง

 

Bangkok Citycity Gallery

 

2. พื้นที่ของพ่อและพื้นที่ของครู

ในขณะเดียวกันนาวินก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป ที่มีบุคคลผู้เป็นที่รักและหล่อหลอมตัวตน ความคิด ความฝัน และการทำงานมาจนถึงวันนี้ สำหรับเขาคือ มณเฑียร บุญมา ศิลปินชั้นครูผู้ล่วงลับ กับคุณพ่อของเขาเอง นิทรรศการนี้ได้ร้อยเรียงเรื่องราวในความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลทั้งสอง โดยศิลปินได้ย้อนกลับไปสำรวจเบื้องลึกของตนเองและนำเอาห้วงเวลาบางส่วนกลับมาจำลอง ทำซ้ำ หรือประกอบขึ้นบนพื้นที่ใหม่ ในบริบทที่แตกต่างไป เป็นกระบวนการที่ทำซ้ำเพื่อ ‘กลับไป’ และนึกถึง ‘คนที่จากมา’

 

Bangkok Citycity Gallery

 

ตัวนิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือ Front Gallery ซึ่งอุทิศพื้นที่ให้กับการระลึกถึงครูผู้ล่วงลับ ผ่านการแสดงงานบางส่วนของมณเฑียร เช่น Montien Boonma’s Fabrix for Room ซึ่งเป็นผืนผ้าฝ้ายที่มีลวดลายเครื่องหมาย ‘!?’ แขวนอยู่หน้าบานกระจก รวมทั้งผลงานที่นาวินมีส่วนร่วมด้วย ขณะที่ Main Gallery เปรียบได้กับการจำลองฉากในแต่ละช่วงชีวิตของศิลปินที่พันผูกกับคุณพ่อและอาจารย์มณเฑียร เช่น ‘ร้านโอเค’ ร้านขายผ้าของครอบครัวในตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเคยจัดแสดงในนิทรรศการ ‘เรื่องเล่าบ้านบ้าน’ เมื่อปี 2558 ก็ถูกนำกลับมาไว้ในงานนี้อีกครั้ง

 

Bangkok Citycity Gallery

 

แต่การกลับมาครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความจริงที่ว่า กิจการนี้จะสิ้นสุดลงในวันหนึ่ง การจำลองทั้งสภาพร้านและบรรยากาศภายในทำให้เรารู้สึกเหมือนกับได้ไปเยือนร้านโอเคจริงๆ ถึงข้าวของแต่ละชิ้นจะผ่านกาลเวลามานาน แต่ก็ยังมีชีวิต ตั้งแต่ม้วนผ้า ชั้นวาง ปฏิทิน ถุงกระดาษสีน้ำตาลพิมพ์ลาย ไล่ไปจนถึงข้าวของกระจุกกระจิก ราวกับทุกรายละเอียดยังคงวางอยู่ในตำแหน่งเดิม สะท้อนความธรรมดาของชีวิตประจำวันที่สุกสกาวขึ้นเมื่อกลายเป็น ‘ความทรงจำ’

 

Bangkok Citycity Gallery

 

3. ชีวิตเต็มไปด้วยคำถามและเรื่องน่าประหลาดใจที่อาจไม่มีคำตอบ

นอกจากอดีตและปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้ นาวิน ในวัยปลาย 40 ได้ตั้งคำถามและสำรวจมุมมองต่ออนาคตที่ยังเดินทางมาไม่ถึง ผ่านผลงานอย่าง ‘พ่อ แม่ และตัวฉัน’ ซึ่งนำเสนอรูปภาพของพ่อแม่ กับภาพสแกนกะโหลกของตัวเขาเอง โดยใช้เศษผ้าของร้านโอเค ถักทอขึ้นมาแทนผืนผ้าใบ อาจเรียกได้ว่านี่คือการนึกถึงความตายของศิลปินที่ปราศจากความฟูมฟายรูปแบบหนึ่ง

 

Bangkok Citycity Gallery

Bangkok Citycity Gallery

 

เรื่องราวทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถูกเชื่อมโยงด้วยจดหมายที่นาวินเขียนสะสมไว้ (ซึ่งเราขอไม่ลงรายละเอียด แค่อยากแนะนำให้เผื่อเวลาอ่านจดหมายทั้งหมดในนิทรรศการนี้สักเล็กน้อย) ประสานไปกับเสียงบรรเลงเปียโน Funeral March ของเฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง คีตกวีนามอุโฆษ ซึ่งเปิดคลอในนิทรรศการ เพลงนี้เป็นบทเพลงที่ภรรยาของ มณเฑียร บุญมา มักจะเล่นเปียโนให้ฟัง ซึ่งยิ่งขับเน้นบรรยากาศของการอาลัยผู้จากไป

 

อีกหนึ่งจุดเชื่อมโยงที่พบเห็นได้ในแกลเลอรีทั้งสองห้องเช่นกันก็คือ เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) และเครื่องหมายปรัศนี (?) ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในผลงานของ มณเฑียร บุญมา และ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ราวกับจะบอกผู้ชมว่าในแต่ละช่วงชีวิตคนเราย่อมพบเจอเหตุการณ์เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นประหลาดใจและคาดไม่ถึง แม้เราอาจจะพบ หรือกระทั่งไม่พบคำตอบเลยก็ตาม แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต

 

นาวินยังคงเก่งกาจในการรังสรรค์และถ่ายทอด ‘โลกทรงจำของตนเอง’ โดยนำเสนอบนพื้นที่และบริบทใหม่ ผ่านกระบวนการสำรวจอดีตด้วยการกลับไปยืนในพื้นที่เดิม และนำก้อนประสบการณ์ใหม่มาถ่ายทอด กระบวนการทำงานนี้เองเปรียบได้กับการบำบัดตัวเอง โดยเดินทางเข้าไปสำรวจภายใน ตั้งคำถามถึงวันพรุ่งนี้ และส่งต่อสิ่งที่คงอยู่ไปสู่เจเนอเรชันต่อไป การชูประเด็นเรื่อง ‘บุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิต’ ก็สามารถทำให้ผู้ชม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยรู้จักศิลปินมาก่อน เข้าถึงโลกของนาวินได้ โดยมองผ่านประสบการณ์ของตัวเอง รวมทั้งได้ทำความรู้จักกับศิลปินชั้นครูอย่าง มณเฑียร บุญมา ผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะไทยในคราวเดียวกัน

 

แม้บรรยากาศและบทเพลงในนิทรรศการจะชวนเรียกน้ำตาได้ง่าย แต่นาวินบอกกับเราว่า ที่จริงแล้วนิทรรศการนี้ไม่ได้เศร้าสำหรับเขาแม้แต่น้อย หากเป็นการสำรวจภายในมากกว่า

 

“คุณได้พบคำตอบอะไรระหว่างทำนิทรรศการนี้” เราถาม

 

“จริงๆ ผมไม่ได้คิดว่าเราต้องไปค้นพบอะไร บางอย่างที่เรานำมาแสดง เพราะเราอยากสื่อสารกับผู้ชม แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ไม่ได้บอกว่าเราคิดได้แล้ว แต่เป็นประสบการณ์ในช่วงวัยนี้ด้วยมากกว่า” นาวินกล่าวทิ้งท้าย

 

Bangkok Citycity Gallery

Bangkok Citycity Gallery

Bangkok Citycity Gallery

 

ภาพเปิด: Ketsiree Wongwan

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • นิทรรศการ กลับไป จากมา (Revisited < > Departed) โดยศิลปิน นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล คิวเรทโดย วรเทพ อรรคบุตร จัดแสดงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 7 เมษายน 2562
  • สถานที่: Bangkok Citycity Gallery
  • www.facebook.com/bangkokcitycity
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising