Baeksang Art Awards หรือรางวัลศิลปะแพ็กซัง คืองานประกาศรางวัลอันทรงเกียรติของวงการบันเทิงในประเทศเกาหลีใต้ งานประกาศรางวัลที่จัดขึ้นทุกปีโดย IS PLUS Corp เริ่มประกาศรางวัลมาตั้งแต่ปี 1965 และมอบรางวัลให้กับผลงานในอุตสาหกรรมบันเทิงที่โดดเด่นทั้งภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์
ความน่าสนใจของ Baeksang Art Awards คือเป็นงานประกาศรางวัลด้านซีรีส์ที่ได้รับการยอมรับ เพราะคัดเลือกผลงานจากทุกช่อง ทั้งฟรีทีวี เช่น MBC, SBS, KBS และเคเบิลทีวี เช่น JTBC, tvN, OCN มาร่วมเข้าชิงรางวัล โดยมีรางวัลสูงสุดคือแดซัง หรือ Grand Prize ที่จะมอบให้กับผลงานยอดเยี่ยมในปีนั้นๆ
งานประกาศรางวัลศิลปะแพ็กซัง Baeksang Art Awards ครั้งที่ 56 จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2020 พร้อมๆ กับกระแสซีรีส์เกาหลีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียและอีกหลายประเทศทั่วโลก นั่นทำให้ความสนใจของเวทีนี้ยกระดับไปอีกขั้น โดยเฉพาะซีรีส์ในกระแสหลายเรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงกันอย่างพร้อมเพรียง เช่น A World of Married Couple, Crash Landing on You, Hot Stove League, Itaewon Class
ก่อนที่งานประกาศรางวัล Baeksang Art Awards จะเดินทางมาถึง THE STANDARD POP ชวนไปทำความรู้จัก Review-me เพจรวมลิสต์คอนเทนต์เกาหลีที่กำลังมาแรงที่ ‘พี พันเอก’ ผู้ก่อตั้งเพจ สะสมข้อมูลไว้กว่าสิบปี รวมถึงความสนใจในซีรีส์ที่ได้รับรางวัลในช่วงหลายปีหลัง ซึ่งในวันนี้เขาจะมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นบนเวทีประกาศรางวัล Baeksang Art Awards ในปีนี้
ทำความรู้จัก พี พันเอก ผู้ก่อตั้งเพจ Review-me
พี พันเอก เริ่มต้นความสนใจในคอนเทนต์เกาหลีตั้งแต่เรียนมัธยม ซีรีส์เรื่องแรกคือ Princess Hours (2006) ที่ความสนุกสนานของเรื่องราวมาพร้อมๆ กับปมดราม่าการเมืองแย่งชิงบัลลังก์ จนทำให้เขาเริ่มหันมาดูซีรีส์เกาหลีที่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง จนว่างเว้นจากการดูซีรีส์ไประยะหนึ่ง เนื่องจากต้องทุ่มเทให้การเรียนในมหาวิทยาลัย กระทั่งซีรีส์ Misaeng (2014) ที่กำกับโดย คิมวอนซอก ได้รับรางวัลมากมายในปีนั้น ตรงกับช่วงที่พีกำลังจะเรียนจบ เมื่อได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ จากความคิดที่จะดูไว้เป็นแนวทางไปสู่สังคมออฟฟิศ กลายเป็นว่า Misaeng กลับสอนการใช้ชีวิตในสังคมจริงให้เขาได้รับรู้ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พีกลับมาดูซีรีส์เกาหลีอย่างหนักหน่วงอีกครั้งจนถึงทุกวันนี้
“ผมเริ่มสนใจหนังตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย ดูหนังเยอะมาก เฉลี่ยวันละเรื่อง หนังส่วนใหญ่ที่ดูจะเป็นพวกหนังรางวัล หนังออสการ์ แล้วก็หนังที่ติดท็อปลิสต์ตามสถาบันต่างๆ อย่าง Sight & Sound, Time Out, The New York Times คือตอนนั้นคิดว่าเราดูหนังที่ผ่านการกรองมาจากกลุ่มคนที่เขาเชี่ยวชาญ จะช่วยลดเวลาในการลองผิดลองถูกที่จะเลือกดูหนังบนโลกนี้ที่มันมีอยู่มากมาย
“ซึ่งวิธีการดูหนังมันส่งผลต่อแนวทางการทำเพจของผมอยู่พอสมควร คือไม่ว่าเมื่อก่อนหรือตอนนี้ ผมจะเน้นคอนเทนต์ลิสต์หนัง ลิสต์ซีรีส์ตามหมวดต่างๆ คิดว่าคนที่เข้ามาในพื้นที่เรา อย่างน้อยเขาก็ควรได้อะไรกลับไปบ้าง ได้หนังสักเรื่องที่อยากดูก็ยังดี”
เมื่อซีรีส์เกาหลีกำลังจะกลายเป็น New Normal
การดูซีรีส์เกาหลีอย่างหนักหน่วงในช่วง 6-7 ปีหลัง พียังคงใช้สูตรเดิมคือเริ่มดูซีรีส์จากงานประกาศรางวัล และเขาพบว่าช่วงหลายปีให้หลัง ซีรีส์เกาหลีกลายเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังกลายเป็น New Normal สำหรับภูมิภาคเอเชียรวมถึงสังคมไทยเช่นกัน
“โดยส่วนตัวรู้สึกว่างานในช่วง 4-5 ปีหลังเป็นช่วงที่โปรดักชันและบทมันไปไกลกว่าแต่ก่อนที่มีพล็อตอยู่ไม่กี่แบบ ตอนนี้ซีรีส์เกาหลีมีหลากหลายแนวให้เลือก บทก็คม มีความซับซ้อน มีรายละเอียดที่เราว้าว นี่เกาหลีเขาทำได้ถึงขั้นนี้แล้วเหรอ
“อย่าง Stranger (2017) เป็นซีรีส์เกาหลีที่ผมมักจะแนะนำให้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นสายหนังได้ดู อย่างเช่น พี่นัท เพจหนังโปรดของข้าพเจ้า หรือพี่โต้ง บรรจง ผู้กำกับหนัง พวกเขาได้ดูแล้วก็ชอบกันครับ Stranger เป็นซีรีส์แนวสืบสวนที่เริ่มด้วยปมฆาตกรรมธรรมดา แต่เมื่อเริ่มขุดคุ้ยก็ค่อยๆ สาวไส้คอร์รัปชันองค์กรอัยการและหน่วยงานราชการเกาหลี ตัวบทมีรายละเอียดที่สมจริง ซับซ้อน และมีจุดเซอร์ไพรส์มากมาย ตัวละครในเรื่องต่างก็เป็นสีเทา มีความเป็นมนุษย์สูง ทุกคนเป็นฆาตกรได้ ไม่เว้นแม้แต่พระเอกของเรื่องก็ตาม รวมถึงอีกหนึ่งความพิเศษก็คือ Stranger เป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่เข้าไปอยู่ในลิสต์ 10 ซีรีส์ยอดเยี่ยมแห่งปีของ The New York Times ด้วยการเล่าในโทนที่เคร่งขรึม ไม่มีเลิฟไลน์หรืออารมณ์มาเกี่ยวข้องเหมือนซีรีส์เกาหลีทั่วๆ ไป กลายเป็นความสากลที่เมื่อใครได้ดูก็ต้องตกหลุมรักครับ
“ยิ่งในระยะหลังซีรีส์เกาหลีเริ่มปรับสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ไม่เพียงแต่การพัฒนาเนื้อหาหรืองานโปรดักชัน แต่ยังรวมถึงรูปแบบการสร้าง ลดความยาวของซีรีส์จากประมาณ 16 ตอนมาเหลือเพียง 8-12 ตอนเหมือนซีรีส์ทั่วไปของฝั่งอเมริกา เรื่องไหนได้รับความนิยมก็ขยายสู่ซีซันใหม่ วิธีนี้นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตจำนวนมหาศาลแล้วยังช่วยลบจุดบอดของการดำเนินเนื้อหาให้มีความกระชับ เข้มข้น ดูน่าติดตามไปจนจบ อย่าง Trap, Nightmare Teacher, Stranger From Hell หรือจะเป็น Kingdom ผลงานจาก Netflix ที่เป็นแบบอย่างสำคัญของความสำเร็จในระดับสากล”
ภาพ: http://www.jtbcworldwide.com/sportsAwards/detail?pgmMstSeq=217
Baeksang Arts Awards งานประกาศรางวัลที่ได้รับการยอมรับสูงสุด
“ถ้าเทียบแล้ว Baeksang Arts Awards จะเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับ มีความเก่าแก่และน่าเชื่อถือที่สุด ปีนี้จัดมาเป็นปีที่ 56 แล้วครับ โดยจะเป็นการรวบรวมผลงานผู้เข้าชิงจากทุกช่องทั้งฟรีทีวีและช่องเคเบิล แต่สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่ซีรีส์จากสตรีมมิง Netflix มาร่วมเข้าชิงด้วย ผมเองก็แปลกใจเหมือนกัน คิดว่าน่าจะเป็นเพราะกระแส Kingdom ที่แรงมากๆ ไปทั่วโลก
“จริงๆ รางวัลสายเกาหลีมีอีกหลากหลายเวทีนะครับ เช่น Korea Drama Awards, APAN Star Awards ซึ่งเวทีเหล่านี้จะใช้หลักการเดียวกัน คือจะคัดเลือกซีรีส์จากเคเบิลทุกช่องในเกาหลีมาแข่ง แต่จะมีสไตล์การเลือกเรื่องที่เข้าชิงแตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นก็จะมีเวทีประกาศรางวัลย่อยๆ ของช่อง SBS, MBC ต่างๆ ซึ่งก็เป็นการประกาศรางวัลประจำปีของช่องอยู่แล้ว จะมีที่พิเศษหน่อยก็คืองานประกาศรางวัล Seoul International Drama Awards ที่จัดกันมาตั้งแต่ปี 2006 เป็นรางวัลซีรีส์นานาชาติเลยครับ จะมีหลายประเทศมาแข่งขัน ทั้งซีรีส์อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ฯลฯ ในแต่ละปีจะมีซีรีส์มาแข่งหลายร้อยเรื่อง แล้วรางวัลใหญ่ของเวทีนี้เรียกว่า Grand Prize หรือภาษาเกาหลีเรียกว่า ‘แดซัง’ ส่วนใหญ่จะมีการให้รางวัลกระจายกันไป คือแต่ละปีผู้ชนะรางวัลแทบจะไม่ซ้ำประเทศกันเลย อย่างเกาหลีก็เคยชนะรางวัลแดซังจากซีรีส์เรื่อง Deep Rooted Tree (2012) เป็นซีรีส์แนวพีเรียด เล่าถึงยุคสมัยพระเจ้าเซจง ผู้ประดิษฐ์อักษรเกาหลี”
เกณฑ์การให้รางวัลของเวที Baeksang Arts Awards
“เกณฑ์การให้รางวัลของ Baeksang Arts Awards ในครั้งที่ 53 มีการเปิดเผยผลการตัดสินว่าแต่ในละสาขาได้คะแนนเท่าไร ปีนั้นทำให้เห็นว่าในแต่ละสาขาจะมีกรรมการผู้ชี้ขาด 7 คน ซึ่งหลังจากปีนั้นก็ไม่ได้มีการเปิดเผยผลคะแนน แต่ยังคงใช้เกณฑ์เดิมในการมีกรรมการชี้ขาดแต่ละรางวัล โดยจะมี 2 สาขาที่ไม่มีกรรมการเป็นผู้ตัดสิน แต่จะใช้คะแนนโหวตจากผู้ชมทางบ้าน คือสาขานักแสดงชายและหญิงยอดนิยม ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือ Baeksang Arts Awards มักจะเพิ่มหรือตัดบางสาขาออกเกือบทุกปี อย่าง 2 ปีก่อนเพิ่งเริ่มมีสาขานักแสดงสมทบชายและหญิงเป็นครั้งแรก จากที่ไม่เคยมีรางวัลสาขานี้มาก่อน
“สำหรับสาขาซีรีส์ยอดเยี่ยม เท่าที่ผมทราบมา เรื่องไหนที่เรตติ้งสูงจะมีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลสูงตามไปด้วย ส่วนซีรีส์เรื่องเล็กๆ ที่ทำผลงานได้ดีก็จะมีโอกาสเป็น 1 ใน 5 ผู้เข้าชิง ซึ่งในสาขานี้ที่ผ่านมาจะเป็นการสลับผลัดเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับรางวัลมาตลอด แต่ในช่วง 6-7 ปีหลัง ทาง tvN หันมาทำซีรีส์ชัดเจนขึ้น เริ่มตั้งแต่ Reply 1994 (2014) ที่ tvN มีรายชื่อเข้าชิงปีแรก และนับตั้งแต่ปี 2016-2019 ก็เป็น tvN ที่ได้รับรางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยมติดต่อกัน 4 ปี (Signal (2016), Dear My Friends (2017), Mother (2018), My Mister (2019))”
วิเคราะห์และคาดเดาผลรางวัล Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 56
“ปีนี้ผมดูซีรีส์ที่เข้าชิงน่าจะครบหมดแล้ว เหลือแค่เรื่อง Hyena ที่ยังไม่ได้ดูครับ ส่วนซีรีส์โปรดในปีนี้คือ Hot Stove League ผมเชียร์เรื่องนี้ (อ่านต่อ ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 56 https://thestandard.co/baeksang-arts-awards-56/)
“สาขาซีรีส์ยอดเยี่ยม ส่วนตัวผมเชียร์เรื่อง When the Camellia Blooms คือมันครบรส พูดถึงมนุษย์ เรื่องความรักของแม่ ช่วงปลายปีที่ผ่านมาซีรีส์เรื่องนี้ก็เพิ่งติดในลิสต์ซีรีส์ยอดเยี่ยมยุค 2010 ของ Munhwa Ilbo สำหรับ Baeksang Arts Awards ที่ผ่านมาซีรีส์แนวยกระดับสังคมมักจะเป็นผู้ชนะอยู่เสมอ อย่าง 3 ปีหลังสุดจะมีเรื่อง My Mister, Mother และ Dear My Friends ซึ่งเป็นแนวนี้หมดเลย และอีกข้อสังเกตก็คือ 4 ปีหลัง รางวัลบทซีรีส์ยอดเยี่ยมมักจะมาคู่กับรางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยมหรือรางวัลแดซัง ถ้าเรื่องไหนได้รางวัลซีรีส์ยอดเยี่ยมก็มักจะได้รางวัลบทยอดเยี่ยมด้วย
“รางวัลแดซัง (Grand Prize) ของเวที Baeksang Arts Awards จะพิเศษกว่าเวทีอื่นหน่อย ตรงที่เขาจะมอบรางวัลให้กับตัวซีรีส์ นักแสดง ผู้กำกับ หรือมือเขียนบทก็ได้ ซึ่งการที่ตัวซีรีส์เองได้รางวัลแดซังก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในช่วง 10 ปีหลังมีแค่ซีรีส์ 3 เรื่องที่ได้รับรางวัลนี้ก็คือ Deep Rooted Tree (2012), Descendants of the Sun (2016) ที่โด่งดังไปทั่วโลก และถูกซื้อไปฉายพร้อมคำบรรยายมากกว่า 32 ภาษา และ Stranger (2018)
“สำหรับปีนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเป็น Crash Landing on You คือซีรีส์เรื่องนี้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมมาก เป็นซีรีส์เมโลดราม่าที่มีเรื่องโชคชะตา อุปสรรคความรัก และยังเป็นซีรีส์ที่พูดถึงประเด็นความขัดแย้งของเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ซึ่งใช้ความรักและมิตรภาพเป็นตัวชักนำให้เกิดการหลอมชาติเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเกาหลีและคนทั่วโลกส่วนใหญ่อยากให้เกิดขึ้น อีกเหตุผลคือ Crash Landing on You โด่งดังในระดับเวิลด์ไวด์ด้วย เข้าไปติด Top 250 ของ IMDB ในหมวดซีรีส์ อันดับที่ 147 ซึ่งสูงสุดในบรรดาซีรีส์เกาหลีทั้งหมดในลิสต์นี้
“สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สาขานี้ปกติทุกๆ ปีจับทางยากเหมือนกัน ปีนี้ผมจิ้มไปที่สองคนคือ นัมกุงมิน กับฮยอนบิน คนหนึ่งมีความป๊อปปูลาร์ อีกคนหนึ่งเข้าชิงมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยได้รางวัลเลย ผมว่าบทของนัมกุงมินใน Hot Stove League เด่นมาก เหมือนเขาเล่นคนเดียว แบกหนังเอาไว้ทั้งเรื่อง และถ้าพูดถึงตัวบท บทของเขาเป็นตัวขับเคลื่อนซีรีส์เรื่องนี้เลย
“สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เท่าที่ผมดูโพลตามเว็บไซต์ต่างๆ คิมแฮอี จาก A World of Married Couple นำโด่งเลยครับ ซึ่งเขาก็เล่นเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้ดีด้วย อันนี้ต้องยอมรับ แล้วคิมแฮอีเคยได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้วสองครั้งจากซีรีส์ Sons and Daughters (1993) และ Perfect Love (2004) ผมลองย้อนผลรางวัล 2 ปีหลังสุด ผู้ชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเป็นบทคล้ายๆ A World of Married Couple ทั้งนั้นเลย คือในปี 2019 เป็น ยอมจองอา ได้รางวัลจากบท ฮันซอจิน จากเรื่อง Sky Castle ย้อนไปปี 2018 ก็เป็น คิมนัมจู จากซีรีส์ Misty
“สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ถ้าดูแค่คุณภาพ ผมว่าทุกคนมีโอกาสเท่าๆ กันเลย แต่ที่ผ่านมาผู้ชนะจะเป็นของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่เล่นซีรีส์ในกระแส แต่ละคนต่างมีซีนเด็ดพิชิตใจกรรมการ คนที่ใกล้เคียงที่สุดปีนี้ผมคิดว่าเป็น ยูแจมยอง บทอาจจะไม่เยอะมาก แต่ทุกๆ ซีนที่ปรากฏตัวทำให้ทุกคนจดจำได้ดี ดูน่าเกรงขาม คาดเดาอะไรไม่ได้ ผมคิดว่ายูแจมยองจาก Itaewon Class ที่รับบทประธานชางกา เขาเล่นเป็นตัวละครที่มีบารมี เล่นเข้าถึงตัวละครได้ดีมากๆ
“ส่วนสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม แอบปันใจไปทาง ซอจีฮเย จาก Crash Landing on You แต่ปีก่อนนางรองสวยเชิด อีดาฮี จาก The Beauty Inside ก็เพิ่งพลาดให้กับรุ่นใหญ่แบบ อีจองอึน จาก The Light in Your Eyes ถ้าอิงตามสูตรที่ผ่านมา นักแสดงรุ่นใหญ่ที่มากับบทดราม่ามักจะเตะตากรรมการเป็นพิเศษ ปีนี้ก็มี ยอมฮเยรัน จาก When The Camillia Blooms กับคิมซอนยอง จาก Crash Landing on You แต่ผมขอแหวกให้ ควอนนารา จาก Itaewon Class ที่เป็นตัวละครเทาๆ มีความเห็นแก่ตัวอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ คนรักเยอะ ถึงขนาดทำให้เกิดการแบ่งข้างคนดู #ทีมซูอา #ทีมอีซอ ว่าใครควรจะเป็นนางเอก”
อ้างอิง:
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
ฟังความเห็นของ Review-me ก่อนงานประกาศรางวัล Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 56 กันไปแล้ว เรามาฟังลิสต์ Top 3 ซีรีส์ที่ Review-me ชอบที่สุดในปี 2020 กันดูบ้าง
01 – Hot Stove League
“ซีรีส์เรื่องนี้พูดถึงคนคนหนึ่งที่เข้ามาชุบทีมบ๊วยให้เป็นทีมแชมป์ได้ เขาต้องรื้อโครงสร้างอะไรบ้าง ต้องเตรียมทีมเบสบอลก่อนเปิดฤดูกาลอย่างไร คือบทมีความแปลกใหม่สำหรับซีรีส์เกาหลี มันเล่นเรื่องการเมือง คอร์รัปชัน เกี่ยวกับการซื้อตัว การต่อสัญญาผู้เล่น มันมีเรื่องของจิตวิทยาผู้เล่น ซีรีส์เรื่องนี้มันค่อนข้างจริงจัง ไม่มีบทเลิฟไลน์เลย”
02 – Kingdom Season 2
“ผมรู้สึกว่าบทมันมีความสดใหม่อยู่แล้วนะ คือเอาการเมืองยุคโชซอนมาผสมกับเรื่องซอมบี้ได้เข้มข้นทั้งในมุมการเมือง แย่งชิงบัลลังก์ และความสนุกตื่นเต้นในการเป็นหนังซอมบี้ แล้วเรื่องนี้ฮิตในต่างประเทศมากด้วย ได้เข้าชิง Baeksang Arts Awards สาขาซีรีส์ยอดเยี่ยมปีนี้ด้วย”
03 – Crash Landing On You
“ผมดูซีรีส์ที่พูดถึงเกาหลีเหนือมาเยอะ แต่เรื่องนี้ลงลึกกว่าทุกเรื่องที่ผมดูผ่านมา เขาพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ ผู้คน อาหาร แล้วผมชอบมุมโรแมนซ์ของเรื่องนี้มาก คือมันธรรมชาติ แล้วเป็นคำนิยามของคำว่าเคมีพระนางที่ดี เขาแสดงเข้าขากันมาก”
ติดตาม Review-me ได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/Criticalme และ Twitter: https://twitter.com/Review_Me_?s=20