×

เครือข่าย​องค์กรนักสิทธิมนุษยชน​ ยื่นหนังสือ ผบ.ตร. ทบทวนบังคับใช้​กฎหมาย​ดำเนินคดีผู้ชุมนุมไม่เป็นธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2020
  • LOADING...

วันนี้ (3 พฤศจิกายน) คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เครือข่ายองค์กรและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ทำหนังสือเพื่อยื่นต่อ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร้องเรียนกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจากการชุมนุม ซึ่งในชั้นพนักงานสอบสวน ระหว่างผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (ตชด.ภาค 1) คลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กระบวนการอนุญาตให้ทนายความเข้าพบลูกความมีปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ตัวผู้ต้องหาไม่สามารถพบและปรึกษาทนายความโดยสะดวก รวมถึงกรณีผู้ปกครองที่ไปรอเยี่ยม หรือผู้ปกครองที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างเรื่องระเบียบและการปฏิบัติหน้าที่ 

 

คอรีเยาะ มองว่าการสร้างระเบียบดังกล่าวเป็นการสร้างเงื่อนไขและสร้างอุปสรรคที่ทำให้ตัวผู้ต้องหาไม่สามารถพบและปรึกษาทนายความโดยสะดวก พล.ต.อ. สุวัฒน์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการสั่งการการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะต้องรับทราบพฤติการณ์ที่เป็นการกีดกันหรือสร้างอุปสรรคให้ผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งจะต้องอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้เสียหายและทนายความได้พบปะและหารือกันได้อย่างสะดวกมากขึ้น

 

“ผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรที่จะต้องมีการเข้มงวดแบบนั้น จริงๆ กฎหมายก็มีมาตรฐานของมันอยู่แล้ว ตำรวจจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานนั้น โดยการไม่เลือกปฏิบัติว่านี่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ความมั่นคง ซึ่ง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะเป็นคดีที่มีอัตราโทษไม่สูง และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ควรแก่เหตุ ไม่ใช่เกินเหตุ จนเรารู้สึกว่าถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร แล้วกรณีตำรวจใช้วิธีการอายัดตัว หลังจากที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิ่งต่างๆ แบบนี้เราถือว่ามันเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับตัวผู้ต้องหา” คอรีเยาะกล่าว

 

คอรีเยาะกล่าวอีกว่า ตำรวจมีสิทธิที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาในกรณีที่มีหมายจับ แต่ต้องไปดูกฎหมายให้ชัดเจน เมื่อผู้ต้องหาคนใดที่มีหมายจับและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเรียบร้อยแล้ว ผลของหมายจับก็ต้องสิ้นผลแล้ว ตำรวจก็เป็นนักกฎหมายเหมือนกัน ก็ต้องถือกฎหมายฉบับเดียวกัน การใช้หมายจับทีละใบๆ ก็ส่อเจตนาว่าตำรวจอาจมีการใช้เจตนาไม่สุจริตเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอากฎหมายมาเพื่อที่จะเป็นการคุกคามในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

 

“โดยหลักการแล้ว กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ปัจจุบันกฎหมายถูกใช้ไปโดยเจตนาอื่น เราเห็นชัดเจนมากว่ามีการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เป็นไปโดยเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” คอรีเยาะกล่าว

 

คอรีเยาะกล่าวอีกว่า ข้อหาที่แจ้งต่อผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นมาตรา 110 และมาตรา 116  นั้นมองว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ชุมนุมไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในความผิดดังกล่าว หน้าที่ของตำรวจนั้นไม่เพียงแต่พิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา แต่ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วย เเต่ทำไมจึงบังคับใช้กฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิ และไม่ให้ทุกคนกล้าออกมาแสดงความเห็น

 

คอรีเยาะยังมองว่าวิธีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการนำหมายจับเเละหมายเรียกเข้าอายัดตัวต่อเนื่อง ตำรวจเเละเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักใช้กับคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้มาตั้งเเต่ปี 2549 

 

เบื้องต้น พ.ต.อ. ศุภกร ผิวอ่อน รองผู้บังคับการกองอัตรากำลัง เป็นตัวเเทนรับเอกสารไว้เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising