‘ปิ่นปักผม’ เครื่องประดับที่บ่งบอกสถานะของผู้หญิง ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องอีกครั้งในซีรีส์ Under the Queen’s Umbrella EP.12 เมื่อ พระมเหสีอิมฮวารยอง ออกนอกรั้ววังมาสวมบทเป็นแมวมองตามหาตัวลูกสะใภ้ให้องค์รัชทายาท จนบังเอิญพบกับ ยุนชองฮา ลูกสาวเสนาบดีกลาโหม ขณะกำลังมีปากเสียงกับพ่อค้าอยู่
ชองฮายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่นำปิ่นปักผมมาขาย แต่กลับถูกกดราคาเพียงเพราะเธอเป็นหญิงที่ถูกสามีทอดทิ้งเพราะมีลูกไม่ได้ ถึงอย่างนั้นไม่ว่าปิ่นปักผมทองคำจะย้ายไปอยู่ในมือของใครคนไหนหรือถูกโยนให้คลุกฝุ่นดินจนเปรอะเปื้อน ชาวบ้านรอบๆ ก็ยังเต็มใจจะซื้อต่อมันในราคาแพงอยู่ดี เหตุการณ์ทั้งหมดเรียกรอยยิ้มให้พระมเหสีอย่างช่วยไม่ได้ และจะว่าไปแล้วชองฮาก็มีส่วนคล้ายเธอเมื่อก่อนอยู่ไม่น้อย
“ไม่ว่าปิ่นปักผมนี้จะเป็นอย่างไร ค่าของมันก็ไม่ได้ลดลง หญิงสาวคนนี้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นโปรดตีราคาให้นางเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ด้วยเจ้าค่ะ” ยุนชองฮา
ย้อนความกลับไปเมื่อศาสนาพุทธเริ่มเสื่อมคลายอำนาจลงในปลายยุคโครยอ โชซอนก็รับเอาปรัชญาขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) จากจีนมาเป็นแนวคิดในการปกครองบ้านเมือง วางรากฐานให้แก่กฎหมาย และกำหนดหลักความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม สถานะของสตรีในยุคโชซอนจึงถูกตีกรอบด้วยข้อปฏิบัติต่างๆ มากมายตลอดช่วงชีวิต
เช่น คำว่า ‘นัมจนยอบี’ (남존여비) คือการมองว่าผู้ชายมีสถานะสูงส่งและมีเกียรติกว่าผู้หญิง ฉะนั้นก่อนแต่งงานผู้หญิงควรเชื่อฟังบิดา หลังแต่งงานควรเชื่อฟังสามี และหลังสามีเสียชีวิตควรเชื่อฟังลูกชาย
แต่ถ้าสตรีออกเรือนไปแล้วกลับสวมบทบาทภรรยาที่ดีในสังคมปิตาธิปไตยไม่ได้ล่ะ? คำตอบอยู่ในบทสนทนาแรกของ (ว่าที่) แม่สามี-ลูกสะใภ้ ที่เริ่มทำความรู้จักกันด้วยประเด็นกฎหมายหย่าร้าง
กฎหมาย ‘ชิลกอจีอัก’ (칠거지악) ว่าด้วยสาเหตุ 7 ประการที่จะทำให้สามีขับไสไล่ส่งภรรยาได้ โดยเธอต้องมีข้อบกพร่องดังต่อไปนี้
- ดูหมิ่นหรือไม่ปรนนิบัติพ่อ-แม่สามี
- ไม่สามารถให้กำเนิดลูกชายได้
- ผิดประเวณี
- ขี้หึง ขี้หวง
- เป็นโรคร้ายหรือโรคทางพันธุกรรม
- ขี้นินทา มีเรื่องทะเลาะวิวาท
- ขี้ขโมย
ขณะเดียวกันก็ยังมีกฎหมาย ‘ซัมบุลกอ’ (삼불거) เป็นข้อยกเว้น 3 ประการ เพื่อคุ้มครองผู้หญิง ดังนี้
- เคยไว้ทุกข์ให้พ่อ-แม่สามีเป็นเวลา 3 ปี
- สถานะครอบครัวดีขึ้นหลังแต่งงานกัน
- ภรรยาไม่มีครอบครัวให้กลับไปหาอีก
“กฎหมายมอบหอกให้ถึง 7 เล่ม แต่กลับให้โล่กำลังแค่ 3 โล่ ถ้าพลาดโดนหนึ่งในนั้นแทงก็บาดเจ็บอยู่ดี” ในความคิดเห็นของชองฮา เด็กสาวที่แหวกกฎขนบของกุลสตรีอยู่หลายต่อหลายครั้ง เธอมองว่ากฎหมายคล้ายจะมอบอาวุธให้ทั้งสามีและภรรยาก็จริง แต่เห็นกันอยู่ว่าพลังของมันไม่เท่ากัน ส่วนภรรยาเองนอกจากจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบแล้ว ก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ให้หยิบโล่มาใช้เลยตั้งแต่แรกก็ได้
จุดประสงค์ของข้อกฎหมายเหล่านี้มีขึ้นเพื่อรักษาสถาบันครอบครัวให้แข็งแรงและไม่ได้ถูกใช้โดยทั่วไปขนาดนั้น แต่นั่นก็เป็นประเด็นที่ซีรีส์ Under the Queen’s Umbrella ชวนคนดูพิจารณาเรื่องเพศในประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจ เพราะในวันที่ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายแบบนี้แล้ว แต่บทลงโทษจากสังคมในรูปแบบคำนินทา การเลือกปฏิบัติ หรือคำพูดตีตราผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้างว่าเป็นเหมือนของมีตำหนิ ก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง: