ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เผยแพร่คำสั่งที่ ป.16ง/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 43 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มีเนื้อหาระบุว่า เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 43 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ข้อ 2 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก
ข้อ 3 คำสั่งนี้ให้เริ่มใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
เพจด้านการลงทุน ‘คิดแบบ เบน มยุรี โชวิกรานต์’ ได้โพสต์ข้อความสรุปว่า คำสั่งดังกล่าวของกรมสรรพากรจะส่งผลให้ผลตอบแทนที่เกิดจากเงินลงทุนต่างประเทศเมื่อเวลานำกลับไทย ไม่ว่าจะเป็นปีไหนก็ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อยื่นคำนวณภาษีเงินได้ในปีนั้นๆ จากเดิมหากนำเข้าในปีปฏิทินถัดไปไม่ต้องนำมายื่นภาษีเงินได้ ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความซับซ้อนที่ไปลงทุนต่างประเทศที่กำลังฮิตกันอยู่ในปัจจุบันอย่างเช่น FCN / ELN / KIKO อาจต้องพิจารณาเรื่องภาษีเงินได้เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา
ทั้งนี้ THE STANDARD WEALTH ได้พยายามขอคำชี้แจงจากแหล่งข่าวในกรมสรรพากรเกี่ยวกับคำสั่งที่ออกมา แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้