×

เราจะเลี่ยงภาษีไปได้อีกนานแค่ไหน? ในวันที่สรรพากรจับตาธุรกิจเงินสด และ Data Analytics ที่ยากจะต้านทาน

07.05.2019
  • LOADING...
กรมสรรพากร

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีบทบาทอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ แต่กลับมีผู้ประกอบการเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในระบบและเสียภาษีอย่างถูกต้อง
  • กรมสรรพากรใช้ Data Analytics ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ประกอบการ การวิเคราะห์จากรูปแบบการชำระเงินถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยพบว่า ธุรกิจที่เน้นใช้เงินสดมีโอกาสที่จะหลบเลี่ยงภาษีสูงกว่ากลุ่มที่ใช้ e-Payment

“คนทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี”

 

เป็นเรื่องที่คนทุกคนทราบดี แต่ไม่ใช่คนทุกคนหรือผู้ประกอบการทุกรายจะยินดีกับการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากเจตนาของกลุ่มคนที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษีแล้ว สิ่งที่เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากใจ (Pain Points) ของผู้เสียภาษี โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) คือความไม่รู้เรื่องกระบวนการทางภาษีและความหวาดกลัวเรื่องการตรวจสอบย้อนหลังของกรมสรรพากร ที่เป็นเหมือนฝันร้ายคอยหลอกหลอนจนไม่กล้าออกจากมุมมืดที่เป็นอยู่ได้

 

สำนักข่าว THE STANDARD เข้าร่วมงาน ‘เสี่ยงกว่าไหม…ถ้าไม่ใช้บัญชีเดียว’ จัดโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เพื่อทำความเข้าใจมาตรการด้านภาษีจากภาครัฐสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจที่วันนี้พูดถึงเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ และ Data Analytics กันอย่างเอิกเกริก วันนี้กรมสรรพากรในฐานะหน่วยงานที่มีข้อมูลมากที่สุด ก็มีกลยุทธ์ที่ลึกล้ำมากขึ้นในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มี และดูเหมือนว่าพื้นที่ของผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีจะเล็กลงไปทุกที

 

สรรพากรจับมือ บสย. แนะ SMEs ทำบัญชีชุดเดียว กู้ง่าย ลดต้นทุน

 

กรมสรรพากร

 

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดทำบัญชีชุดเดียวสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs เป็นเรื่องจำเป็น ทำให้องค์กรวางแผนการทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีทิศทาง นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ โอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วย

 

“การทำบัญชีเดียวทำให้เกิดความโปร่งใส สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของกิจการ ความเสี่ยงของธุรกิจ เมื่อสถาบันการเงินประเมินจะลดลง ทั้งการค้ำประกันและดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะถูกลงด้วย กรมสรรพากรจัดทำ Risk Based Audit System (RBA) มาสักระยะแล้ว ตอนนี้เรามี Data Analytics ซึ่งพัฒนาได้ปีกว่าแล้ว จะช่วยบอกพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง (หลบเลี่ยงภาษี) ได้ อย่างกรณีของคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เราคืนไปได้แล้ว 80% ถือว่าคืนเร็ว อีกส่วนที่ยังไม่ได้คืนคือ กลุ่มเสี่ยงที่อาจรายงานไม่ครบ หักค่าลดหย่อนเกิน ตรงนี้มีข้อมูลชัดเจน ซึ่งเราต้องการทำให้ถูกต้อง ไม่เคยกลั่นแกล้งใคร”

 

กรมสรรพากร

 

ภายในงานดังกล่าว ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้บัญชีเดียว ระหว่างกรมสรรพากรกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่ง ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ และผู้จัดการทั่วไปของ บสย. ให้ข้อมูลโดยอ้างอิงการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปี 2561 พบว่า มีผู้ประกอบการรวมทั้งประเทศ 5.25 ล้านราย แบ่งเป็น SMEs ที่อยู่ในระบบสำมะโนธุรกิจ 2.5 ล้านราย ส่วนนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 48% ของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่กลับมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้องเพียง 7 แสนราย หรือ 13% ของทั้งประเทศ สิ่งที่น่าตกใจกว่าคือ มี SMEs ที่ยื่นเสียภาษีจริงเพียง 4 แสนราย หรือเพียง 7% ของทั้งประเทศเท่านั้น SMEs

 

ขณะที่ผู้ประกอบการอีก 2.7 ล้านราย หรือ 52% ของผู้ประกอบการทั้งหมด อยู่นอกฐานข้อมูล นั่นคือไม่อยู่ในสำมะโนธุรกิจ และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสในการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการที่เข้าถึงแหล่งเงินได้ไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมาก และสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือ การที่ SMEs มีหลายบัญชีที่กระจัดกระจายและบันทึกรายการต่างๆ ไม่ถูกต้อง ทำให้กู้เงินได้ยาก เรื่องนี้เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับภาคธุรกิจมาช้านาน และยากที่จะแก้ไข เนื่องจากผู้ประกอบการที่เคยหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีก็หวาดกลัวจะถูกตรวจสอบ หากเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องหรือทำบัญชีชุดเดียว

 

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีบัญชีเดียวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดให้ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำร้องต่อกรมสรรพากร เพื่อขอจดแจ้งบัญชีเดียว และรับสิทธิ์ยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เพื่อจูงใจให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้น

 

ขณะนี้มีสถาบันการเงินที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับ บสย. เพื่อสนับสนุนเรื่องดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ย 5% เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นวงเงินสินเชื่อพิเศษจากธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และธนาคารธนชาต ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเกียรตินาคิน เป็นต้น นั่นคือหากผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว และต้องการยื่นภาษีให้ถูกต้องในปีบัญชี 2559 และ 2560 สถาบันการเงินก็มีบริการสินเชื่อ เพื่อช่วยจ่ายภาษีในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

 

สัญญาณอันตรายทางบัญชี กรมสรรพากรจับตาเปิดสมุดพกผู้ประกอบการ ยิ่งหนียิ่งอยู่ยาก  

 

กรมสรรพากร

 

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงเรื่องการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร โดยใช้ข้อมูลจาก 3 ส่วน คือ

 

1. การประเมินสถานะผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะลงพื้นที่ไปที่สถานประกอบการ พิจารณารายงานการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายใน อัตราส่วนทางการเงินและผลการตรวจสอบย้อนหลัง

 

2. ใช้ Data Analytics ในการศึกษาว่า กลุ่มไหนมีพฤติกรรมอย่างไร ช่วยการตรวจสอบให้เที่ยงตรงและแม่นยำมากขึ้น

 

3. Risk Based Audit System: RBA ประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษีผ่าน 151 เกณฑ์ของกรมสรรพากร ซึ่งเชื่อมโยงกับ Data Analytics

 

กรมสรรพากรแบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่มกิจการหลัก คือ กิจการผลิต กิจการซื้อมาขายไป และกิจการบริการ กลยุทธ์สำคัญคือ การพิจารณาวิธีการรับชำระเงินของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งถือเป็นการประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ โดยพบว่า ธุรกิจที่ขายสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภค (Business to Consumer: B2C) มีแนวโน้มหลบเลี่ยงภาษีสูงกว่าธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ (Business to Business) โดยเลือกใช้เงินสดในการรับชำระเงินมากกว่า ซึ่งถือว่าความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยจะรวมเงินแล้วนำฝากธนาคารเป็นก้อนเดียว ณ สิ้นวัน และแทบจะไม่ใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เลย

 

รูปแบบของ ‘ความผิดปกติ’ ที่กรมสรรพากรพบในกลุ่ม SMEs คือ การย่องบทางบัญชี นั่นคือ การจงใจทำให้รายได้ออกนอกระบบ นำค่าใช้จ่ายเท่าที่ต้องการใส่เข้ามาในบัญชีเพื่อให้งบดุล ส่วนนี้กรมสรรพากรยืนยันว่า Data Analytics ที่ใช้อยู่จะวิเคราะห์ได้ทั้งจากตัวเลขทรัพย์สินที่สูงผิดปกติ หรือมีพนักงานเงินเดือนสูงๆ เป็นต้น อีกกรณีคือ กลุ่มที่แสดงตัวเลขผิดปกติชัดเจน (Outliers) เช่น กิจการผลิตมีรายได้ต่ำ แต่สินค้าคงเหลือสูง สต๊อกเยอะหรือมีเงินกู้ยืมกรรมการสูง หรือธุรกิจบริการที่มีรายได้ต่ำ แต่มีเงินให้กรรมการกู้หรือค่าตอบแทนกรรมการสูงเช่นเดียวกับกิจการซื้อมาขายไปที่รายได้ต่ำ ขาดทุน แต่ก็ยังมีรายการที่กรรมการบริษัทกู้เงิน

 

เกรียงศักดิ์กล่าวว่า กรมสรรพากรจะมีข้อมูลของผู้ประกอบการคล้ายกับ ‘สมุดพก’ ของนักเรียน ที่นำเสนอในรูปแบบ Balance Scorecard ในชื่อ ‘Tax Payer Account’ โดยจะรวบรวมประวัติการเสียภาษีทุกรูปแบบร่วมกับข้อมูลจากภายนอก เช่น กรมการขนส่ง การไฟฟ้า และการประปา เป็นต้น จากนั้นนำมารวบรวมเพื่อคำนวณอัตราส่วนทางการเงิน และประเมินออกมาเป็นคะแนน หากรายใดคะแนนสูง ถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่ารายที่มีคะแนนต่ำกว่า

 

กรมสรรพากร

 

กรมสรรพากรยังเปิดเผย 10 สัญญาณอันตรายทางบัญชี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้สำรวจตนเองและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนี้

 

ส่วนสินทรัพย์

1. ใช้เงินสดเป็นหลัก มีแนวโน้มหลบเลี่ยงการตรวจสอบ เสี่ยงมากกว่าผู้ที่ใช้ e-Payment ของระบบธนาคาร

2. สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง สินค้าขาดหรือเกินซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ได้บันทึกรายได้ถูกต้อง

3. ไม่มีทรัพย์สินหรือมีสินทรัพย์มากผิดปกติ บางธุรกิจ เช่น โรงแรมมีค่าน้ำค่าไฟสูงขึ้น แต่รายได้กลับน้อยลง ถือว่าผิดปกติทั้งที่เป็นต้นทุนที่ผันแปรตามรายได้

 

ส่วนหนี้สินและทุน

4. เงินกู้ยืมกรรมการสูงมาก และไม่สามารถชี้แจงได้ มีแต่รายการยืมเงินมากขึ้นๆ แต่ไม่เคยคืนเงินเลย

5. ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน ขาดทุนจนเกินทุน ปกติจะปิดกิจการ แต่ยังมีเงินให้กรรมการกู้ยืมได้อยู่

 

ส่วนรายได้

6. บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ขายสินค้าและบริการหรือไม่

7. บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน มีรายได้อื่นๆ เช่น ประโยชน์จากการส่งเสริมการขายบางอย่างถือเป็นเงินได้พึงประเมิน พาไปเที่ยวก็ต้องบันทึกด้วย

 

ส่วนค่าใช้จ่าย

8. ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ ถ้ารายได้ไม่เพิ่มตามมีแนวโน้มผิดปกติ

9. ค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ กรมสรรพากรจะเปรียบเทียบกับกิจการของรายอื่นในประเภทธุรกิจเดียวกันด้วย ย้อนหลังถึง 3 ปี

10. สร้างค่าใช้จ่ายเท็จ เป็น ‘ค่าใช้จ่ายต้องห้าม’ อาจสร้างค่าใช้จ่ายปลอมขึ้นมาโดยใช้สำเนาบัตรประชาชนของผู้อื่น แล้วทำเรื่องหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมสรรพากรยังชี้แจงเรื่องที่ผู้ประกอบการรายย่อยกังวลว่าจะถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง จึงยังไม่กล้าปรับมาใช้รูปแบบบัญชีเดียว และทำข้อมูลให้ถูกต้อง โดยให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเลยประกาศ ‘พระราชกําหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558’ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งระบุเรื่องการยกเว้นการตรวจสอบย้อนหลังอย่างชัดเจนว่า

 

‘มาตรา 4 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกินห้าร้อยล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา และมีกําหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สําหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทํา ตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559’

 

กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการเคลียร์ทางให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามกำหนดว่าจะไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลังนับจากปี 2558 ย้อนกลับไป ดังนั้น สิ่งที่ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่สำหรับ SMEs คือการยื่นภาษีที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้องของปี 2559 และ 2560 ที่ผ่านมา และเข้าสู่กระบวนการบัญชีชุดเดียวกับทางกรมสรรพากร ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพื่อยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มถึง 30 มิถุนายนนี้ ก่อนที่ภาครัฐจะเปิดฉากตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไป

 

กรมสรรพากร

 

เบนจามิน แฟรงคลิน เคยกล่าวไว้ว่า “ในโลกนี้เราอาจจะหลบเลี่ยงอะไรก็ได้ยกเว้น ความตายและภาษี” เป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ สิ่งที่น่ากลัวกว่ายุคสมัยที่เขาพูดคือ ผู้คนยังล้มตายเหมือนเดิม แต่หน่วยงานด้านภาษีกลับมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ชาญฉลาด แยบยล และกลยุทธ์หลายชั้นในการจัดการผู้หลบเลี่ยงภาษียุค 4.0 ได้ดีกว่าเดิม โจทย์ที่สำคัญคือ เราจะหลบเลี่ยงภาษีได้ทั้งชีวิตหรือไม่ ธุรกิจจะซ่อนเร้นข้อมูลจากกรมสรรพากรไปได้อีกนานแค่ไหน บางทีการยอมรับและเผชิญหน้ากับความจริงของโลกธุรกิจอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า

 

ปัญหามีไว้ให้แก้

ไม่ใช่ให้กลัว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising