จากดัชนีของ Rare Whisky Icon 100 ที่ติดตามผลของวิสกี้หายาก 100 ขวดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าให้ผลตอบแทนถึง 398% เมื่อเทียบกับ S&P 500 ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 265% จึงไม่น่าแปลกใจที่วิสกี้หายากจะกลายเป็นของสะสมที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน อีกทั้งยังมีทางเลือกให้สะสมทั้งแบบขวดและการลงทุนในถังบ่มระยะยาวผ่านตัวแทน เพื่อช่องทางทำกำไรได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนประเภทนี้ก็มีความเสี่ยง แม้จะใช้เวลารอคอยอย่างยาวนาน แต่ผลตอบแทนอาจจะเป็นศูนย์ก็ได้
เมื่อไม่นานมานี้ The Macallan 1926 ทำสถิติสกอตช์วิสกี้ที่แพงที่สุดในโลกด้วยราคาที่มากกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 93.2 ล้านบาท ทำลายสถิติของวิสกี้ The Macallan 1926 เช่นกันที่เคยทำไว้ในปี 2019 ในราคา 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 65.5 ล้านบาท โดยเป็นหนึ่งใน 40 ขวดจากถังที่บ่มไว้นานถึง 60 ปี และเป็นวิสกี้ของ The Macallan ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยผลิตมา
ความโดดเด่นของวิสกี้ขวดนี้คือฉลากที่ออกแบบโดย Valerio Adami จิตรกรชาวอิตาลี ซึ่งมีเพียง 12 ขวดเท่านั้น โดยในจำนวนนี้ยังได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 จนปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 10 ขวดในโลก นอกจากนี้นี่ยังเป็น The Macallan 1926 ขวดแรกที่ได้รับการปรับปรุงใหม่โดยโรงกลั่น The Macallan ในสกอตแลนด์ ก่อนนำขึ้นประมูลอีกด้วย
โดยปกติแล้ววิสกี้บรรจุขวดสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ขึ้นอยู่กับความนิยมของแบรนด์และจำนวนขวดที่หมุนเวียน ยิ่งหายากเท่าไรราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบลงทุนระยะสั้น เพราะสามารถวัดความนิยมของตลาดและแนวโน้มการซื้อ-ขายได้ แต่ก็มีความเสี่ยงด้านความนิยมของแบรนด์ เพราะอาจมีความผันผวน ทำให้ผลกำไรมีความแน่นอนน้อยลง ซึ่งโรงกลั่นทุกยี่ห้อขายแบบบรรจุขวด แต่ส่วนใหญ่ไม่ขายเป็นถัง โดยเฉพาะกับแบรนด์ยอดนิยมอย่าง The Macallan หรือ Clynelish แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็ยังหาได้ในตลาดรอง และอาจจะหาได้ในโรงกลั่นอื่นๆ ที่มีความนิยมน้อยกว่า กลายเป็นช่องทางของตัวแทนในการระดมทุน
วิสกี้จากถังบ่มจะยังคงพัฒนารสชาติผ่านเวลาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามหลักการทั่วไปยิ่งวิสกี้มีบ่มนานเท่าไรก็ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น เพราะถังบ่มทำจากไม้ซึ่งมีรูพรุน และถังจะ ‘หายใจ’ เอาอากาศโดยรอบเพิ่มความซับซ้อนให้กับวิสกี้ ในขณะที่เมื่อบรรจุขวดแล้ววิสกี้จะคงสภาพเดิมอย่างถาวร โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาราคาถังบ่มวิสกี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างเช่น The Macallan ปี 1988 ถูกขายในราคา 1 ล้านปอนด์ในการประมูล จากเดิมที่ซื้อมาในราคาเพียง 5,000 ปอนด์ หรือ Cask No.3 ของโรงกลั่น Ardbeg ในสกอตแลนด์ ได้ขายแบบส่วนตัวให้กับนักสะสมผู้ไม่ประสงค์ออกนามไปในราคา 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 655 ล้านบาท
แนวคิดการลงทุนผ่านวิสกี้ในถังบ่มมีหลักการง่ายๆ คือ ลงทุน เก็บ และบรรจุขวดขาย มีข้อดีคืออาจจะได้วิสกี้ชั้นดีในราคาที่ถูกกว่าหลังบรรจุขวดมาก แต่ก็ต้องรอเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อน อย่างเช่น ก่อนซื้อต้องแน่ใจว่าในอนาคตจะสามารถบรรจุขวดได้โดยมีชื่อโรงกลั่นแสดงอยู่บนฉลากด้วยเพื่อใช้ชื่อเสียงของโรงกลั่น
นอกจากนี้ยังต้องเลือกแหล่งมาที่เชื่อถือได้และเก็บไว้ในคลังที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหลายแห่งมีบริการบรรจุขวดโดยคิดค่าใช้จ่าย สามารถเลือกรูปทรงขวด ฝาปิด ฟอยล์ และการติดฉลาก ฯลฯ หรือสามารถไปบรรจุขวดที่โรงงานอื่นก็ได้ ในขณะที่นักสะสมบางรายยินดีที่จะไม่มีชื่อโรงกลั่นบนฉลาก แต่มักเก็บไว้ดื่มเองส่วนตัวหรือมอบให้เฉพาะเพื่อนฝูงและคนสนิทก็ทำได้เช่นกัน
มองแวบแรกนี่อาจจะเป็นสิ่งที่น่าลงทุน แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีหลักประกันราคาในอนาคต ซึ่งอาจเป็นเวลา 20 หรือ 30 ปีข้างหน้าก็ได้ ยิ่งในปัจจุบันมีตัวแทนการลงทุนในระบบออนไลน์ใช้โฆษณาชวนเชื่อระดมทุนและบอกความจริงเพียงด้านเดียว เพราะวิสกี้ไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเสมอไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในระหว่างการหมักบ่มอาจมีการถ่ายเหล้าคุณภาพต่ำเข้าไปแทนที่ หรือบางครั้งก็เป็นถังวิสกี้ที่ไม่มีอยู่จริง
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องมีหลักฐานการเป็นเจ้าของถังวิสกี้ที่ลงนามโดยผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อตรวจสอบการมีอยู่และคุณภาพของวิสกี้ได้ รวมทั้งต้องเข้าใจด้วยว่าการบรรจุขวดวิสกี้หนึ่งถังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างเช่น ถังขนาด 250 ลิตร เมื่อหารราคาซื้อด้วยจำนวนขวดก็อาจจะได้ราคาต่อขวดที่ถูกมาก แต่นั่นยังไม่รวมภาษีและอากรต่างๆ ต้นทุนการบรรจุขวด ต้นทุนการติดฉลาก การออกแบบกล่อง ต้นทุนกล่อง ส่วนต่างของการจัดจำหน่าย หรือส่วนต่างการขายปลีก ฯลฯ ดังนั้นจึงอาจจะไม่ได้กำไรอย่างที่คิด อีกทั้งยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านวิสกี้จริงๆ การลงทุนประเภทนี้จึงเหมือนจะได้กำไรง่ายๆ แต่ก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน
The Macallan Valerio Adami 1926 ราคาประมาณ 93.2 ล้านบาท
นี่คือ The Macallan จำนวน 1 ใน 40 ขวดที่ได้รับจาก Cask 263 ในปี 1986 แต่ไม่เคยเสนอขายให้กับบุคคลทั่วไปยกเว้นแต่ลูกค้าที่ The Macallan เลือกไว้เท่านั้น ฉลากจาก 12 ขวดในจำนวนนี้ได้รับการออกแบบโดยศิลปินป๊อปชื่อดัง Sir Peter Blake อีก 12 ขวดออกแบบโดยศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอิตาลี Valerio Adami อีก 2 ขวดไม่มีฉลาก ขณะที่อีก 14 ขวดที่เหลือใช้ฉลากของโรงกลั่น ซึ่งขวดที่ได้รับการประมูลเป็น 1 ใน 10 ขวดที่เหลืออยู่ เชื่อกันว่าขวดหนึ่งนั้นได้รับความเสียหายตอนเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นและอีกขวดถูกเปิดดื่มแล้ว
The Macallan 1926 ราคาประมาณ 65.5 ล้านบาท
ในปี 2019 The Macallan 1926 ขวดนี้ถูกนำขึ้นประมูลที่ Sotheby’s และทำราคาได้สูงถึง 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 65.5 ล้านบาท โดยกลั่นครั้งแรกในปี 1926 และบรรจุขวดจาก Cask 263 เป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชัน The Macallan Fine and Rare ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งวิสกี้’ หลังจากบ่มในถังเชอร์รีเป็นเวลาถึง 60 ปี
Hanyu Ichiro Full Card Series ราคาประมาณ 52.3 ล้านบาท
แม้จะทำสถิติราคาด้วยการขายยกซีรีส์ถึง 54 ขวด เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากไพ่ในหนึ่งสำรับ แต่ก็มีที่มาที่ไปน่าสนใจ โดยโรงกลั่น Hanyu ได้เลิกกิจการไปแล้ว ทำให้วิสกี้ในคอลเล็กชันนี้หายากในปัจจุบัน ซึ่งก่อนที่จะปิดตัวลงมีวิสกี้เพียง 400 ถังที่เก็บรักษาไว้ได้จากโรงกลั่นแห่งนี้ จากนั้นก็ทดสอบรสชาติแล้วเลือกวิสกี้ 54 รสชาติตามคาแรกเตอร์ไพ่แต่ละใบ โดยวิสกี้ชุดนี้เปิดตัวช่วงปี 2005-2014 และถูกนำขึ้นประมูลในงาน Fine & Rare Wine and Whisky ของ Bonhams ในฮ่องกงเมื่อปี 2020
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/11/19/style/rare-whisky-sells-for-2-7-million-gbr-intl-scli/index.html
- https://www.theguardian.com/money/2023/apr/10/liquid-gold-heres-the-sobering-truth-about-investing-in-whisky
- https://www.forbes.com/sites/forbesfinancecouncil/2023/10/18/5-things-to-know-when-investing-in-whiskey-bottles-or-barrels/?sh=68f5ef25771f
- https://www.thedrinksbusiness.com/2023/11/dos-and-donts-of-whisky-cask-investment/