จากการสำรวจผลตอบแทนราคาของหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายใน SET และ mai ปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน) จำนวน 33 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายหุ้น IPO เท่ากับ 1.22 แสนล้านบาท โดยพบว่าส่วนมากราคาหุ้นยั่งยืนเหนือราคาจอง โดยมีเพียง 8 บริษัทเท่านั้นที่ราคาซื้อขายล่าสุด (10 พฤศจิกายน) ที่ราคาต่ำกว่าราคา IPO ด้านไอบีและนักวิเคราะห์เชื่อกระแสหุ้น IPO ปลายปีร้อนแรงต่อเนื่อง แนะเลือกลงทุนในหุ้นที่อยู่ในธุรกิจที่กำลังเติบโตสูง
THE STANDARD WEALTH สำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายใน SET และ mai ปี 2564 (เฉพาะหุ้นสามัญ) จำนวน 33 บริษัท พบว่าส่วนมากราคาหุ้นยังอยู่ระดับสูงกว่าราคา IPO โดยมีเพียง 8 บริษัทเท่านั้นที่ราคาซื้อขายล่าสุด (10 พฤศจิกายน) ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคา IPO ประกอบด้วย
DMT ต่ำจอง 22.50%
UBE ต่ำจอง 20%
CV ต่ำจอง 19.49%
ASW ต่ำจอง 17.52%
AMR ต่ำจอง 16.67%
STECH ต่ำจอง 12.95%
PIN ต่ำจอง 2.56%
TIDLOR ต่ำจอง 2.05%
ส่วนหุ้นที่ราคาซื้อขายล่าสุด สูงกว่าราคา IPO เกิน 100% มีดังนี้
TQR เหนือจอง 196.08%
BE8 เหนือจอง 195%
BBIK เหนือจอง 145.83%
PACO เหนือจอง 124.29%
DITTO เหนือจอง 122.67%
ADD เหนือจอง109.09
SVT เหนือจอง 104.72%
ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ว่า 4 ใน 7 (BE8, BBIK, DITTO, ADD) ล้วนทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัล
ส่วนหุ้นที่ราคาเปิดการซื้อขายวันแรกสูงกว่าราคา IPO เกิน 100% มีดังนี้
TQR ราคาเปิด +200%
DPAINT +200%
PROEN +200%
BE8 +160%
PACO +150%
DITTO +140%
WINMED +135%
BBIK +104%
PROS +100%
5 หุ้น IPO จ่อเข้าเทรดก่อนสิ้นปี
จากการรวบรวมข้อมูลไฟลิ่งพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ที่ยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าระดมทุนในตลาด SET และ mai อย่างน้อย 15 บริษัท โดยมี 5 บริษัทที่เริ่มเดินหน้ากระบวนการต่างๆ แล้ว และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาด SET และ mai ได้ภายในปีนี้ ประกอบด้วย
- บมจ.บริทาเนีย หรือ BRI ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยว ขาย IPO จำนวน 252.65 ล้านหุ้น
- บมจ.ที.อาร์.วี. รับเบอร์ โปรดักส์ หรือ TRV ผู้ผลิตชิ้นส่วนยางขึ้นรูป ขาย IPO จำนวน 54.565 ล้านหุ้น
- บมจ.ชิค รีพับบลิค หรือ CHIC ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ขาย IPO จำนวน 360 ล้านหุ้น
- บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง หรือ CIVIL ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขาย IPO จำนวน 200 ล้านหุ้น
- บมจ.โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต หรือ CMCF ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป ขาย IPO จำนวน 187.5 ล้านหุ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น บมจ.ไทยประกันชีวิต หรือ TLI, บมจ.ดีสโตน คอร์ปอเรชั่น หรือ DEE, บมจ.บีบีจีไอ หรือ BBGI, บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ TKC, บมจ.ฑีฆาก่อสร้าง หรือ TEKA
‘ไอบี-นักวิเคราะห์’ มองหุ้น IPO ร้อนแรงต่อ
สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้น IPO ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเสมอ ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ปกติยู่แล้ว ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาในวันเข้าซื้อขายช่วงแรกๆ จะร้อนแรงมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับดัชนีตลาดโดยรวมด้วย ถ้าบรรยากาศการลงทุนดี ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น IPO ก็จะจะดีไปด้วย แต่ถ้าบรรยากาศโดยรวมไม่ดีนัก ราคาหุ้น IPO ก็อาจจะหวือหวาน้อยลง
นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องจำนวนบริษัทที่เข้าซื้อขายในเวลาใกล้เคียงกันก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น IPO ด้วย โดยหากในช่วงนั้นมีบริษัทเข้าซื้อขายจำนวนมาก นักลงทุนก็จะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ความผันผวนของราคาหุ้นก็จะไม่มากนัก
สมภพ กล่าวว่า กรณีหุ้น DPAINT ที่หนึ่งในผู้ถือหุ้นเดิมขายหุ้นนั้น มองเป็นกรณีเฉพาะของบริษัทมากกว่า และที่ผ่านมาหุ้น IPO ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มากนัก ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคตนักลงทุนอาจจจะมีปัจจัยในการพิจารณาเลือกลงทุนหุ้น IPO มากขึ้น
วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น IPO ในช่วงที่เข้าซื้อขายวันแรกๆ จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีต่อเนื่อง แต่ราคาจะปรับตัวขึ้นมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับบรรยากาศโดยรวมในตลาดด้วย ซึ่งในช่วงนี้มองว่าหุ้นไทยมีปัจจัยบวกคอยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนอยู่พอควร
ขณะที่หมวดธุรกิจก็มีความสำคัญและเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้น IPO รายตัว โดยในช่วงที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าหุ้น IPO ในธุรกิจที่เกี่ยวกับ Technology, Digital, Data Analytic จะได้รับความสนใจสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นอยู่ในเมกะเทรนด์ในอนาคต จึงมีความคาดหวังเรื่องการเติบโตที่ก้าวกระโดด
“มองเฉพาะปัจจัยด้านบรรยากาศการลงทุน แนะนำให้เลือกหุ้น IPO ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรืออยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก และยังมีอัปไซด์เมื่อเทียบกับในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็จะได้หุ้น IPO ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง”
ส่วนกรณีที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมขายหุ้นในวันแรกที่เข้าซื้อขาย ก็ทำให้บรรยากาศลงทุนหุ้นนั้นๆ ซึมลง เพราะนักลงทุนทั่วไปเกิดความสงสัยและความเชื่อมั่นต่อบริษัทอาจจะลดลง แต่มองว่าเป็นผลกระทบรายบริษัทมากกว่า ไม่น่าจะมีผลต่อภาพรวมหุ้น IPO นัก ทั้งในมุมของนักลงทุนทั่วไปและมุมของบริษัทที่จะเตรียมเข้าระดมทุน
ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมขายหุ้นในวันเข้าซื้อขายวันแรกให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ หรือนักลงทุนที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งลักษณะการขายแบบนี้จะส่งผลดีต่อราคาหุ้นและปัจจัยพื้นฐาน จึงมองว่าการทำรายการขายไม่ใช่ปัจจัยกดดันเสมอไป
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP