×

ย้อนรอย Debt Ceiling 2011 และผลกระทบตลาดทอง

29.04.2023
  • LOADING...
Debt Ceiling 2011

“เพราะงบประมาณประจำปีของสหรัฐอเมริกามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้สหรัฐฯ ต้องใช้วิธีกู้ยืมหนี้ใหม่มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จึงทำให้หนี้สินของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลไม่ให้เกิดการก่อหนี้สะสมให้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป จึงทำให้มีการกำหนด ‘เพดานหนี้’ หรือ Debt Ceiling นั่นเอง”

 

สำหรับเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ และปัญหาคือเงินสดของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดลง และหากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องของงบประมาณรัฐบาลกลางและการเพิ่มเพดานหนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นสำหรับตราสารหนี้ (Bills, Notes and Bonds) ของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) นั่นเอง

 

คำถามคือ หากการพิจารณาเรื่องงบประมาณและการเพิ่มเพดานหนี้ในคองเกรสล่าช้าจนถึงวินาทีสุดท้าย จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? 

  1. ประการแรกคือ อาจทำให้เกิดการปิดหน่วยงานภาครัฐที่เป็นบางส่วน (Government Shutdown) 
  2. ประการที่สองและเป็นประเด็นสำคัญคือ การผิดนัดชำระหนี้ (Default) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจสั่นคลอนตลาดการเงินทั่วโลก  

 

ในอดีตมีการปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางหลายครั้งในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 1995-1996, 2013 และ 2018-2019 อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการบรรลุข้อตกลงในเรื่องงบประมาณหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่ถูกสั่งปิดจะกลับมาเปิดทำการตามปกติ ทำให้ประเด็น Government Shutdown ไม่ได้ทำให้ตลาดตื่นตระหนกมากนัก แต่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีเพียงช่วงปี 2011 เท่านั้นที่ประเด็นเรื่องของงบประมาณและเพดานหนี้ทำให้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงสำหรับการผิดนัดชำระหนี้  

 

วันนี้ YLG จึงอยากย้อนอดีตกลับไปในช่วงปี 2011 เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบว่าทองคำรวมไปถึงสินทรัพย์อื่นๆ เคลื่อนไหวอย่างไร เพื่อใช้ประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากการพิจารณาเรื่องงบประมาณและการเพิ่มเพดานหนี้ในคองเกรสครั้งนี้ล่าช้าจนถึงวินาทีสุดท้าย  

 

ในช่วงกลางปี 2011 สหรัฐฯ จำเป็นต้องอนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ครั้งนั้นกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตือนว่าสหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ได้ภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2011 ขณะที่ทั้งสองพรรคในสภาคองเกรสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ทำให้ความเป็นไปได้ในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นจนสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ปรับลดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ ลง 1 ขั้น จากระดับ AAA สู่ระดับ AA+ พร้อมให้แนวโน้มเชิงลบ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการปรับฐานอย่างรุนแรงในตลาดหุ้น นั่นทำให้ราคาพันธบัตรพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ครั้งนั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 3.73% ในต้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2011 สู่ระดับ 2.94% ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2011 จากนั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ลดลงอีก 122 bps สู่ระดับ 1.72% ในช่วงปลายเดือนกันยายน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปีลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน สิ่งที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับตัวลดลงคือ กระแสเงินทุนที่ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 

 

ด้านตลาดหุ้นเผชิญกับแรงขายอย่างรุนแรง S&P 500 ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในปลายเดือนเมษายน 2011 จนถึงจุดต่ำสุดในต้นเดือนตุลาคม 2011 โดยลดลง 19.4% ซึ่งจะเป็นการปรับฐานที่ลึกที่สุดครั้งหนึ่งของในช่วงตลาดกระทิงในปี 2009-2020 

 

“แน่นอนว่าทองคำตอบสนองในเชิงบวก ทั้งจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และแรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ทำให้ทองคำทะยานขึ้นในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2011 ทะลุ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นครั้งแรก และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์”

 

แม้ว่าล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากจะมีมติด้วยคะแนนเสียง 217 ต่อ 215 ผ่านร่างกฎหมาย ‘เพิ่มเพดานหนี้’ ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาที่พรรคโมแครตครองเสียงข้างมาก เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบไปด้วยมาตรการปรับลดการใช้จ่ายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งทำเนียบขาวและสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสยืนกรานมาตลาดว่าต้องการให้ปรับเพิ่มเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ พ่วงเข้ามาด้วย  

 

ขณะที่ช่วงการชำระภาษีได้สิ้นสุดลงแล้ว และรายได้การจัดเก็บภาษีที่ลดลงอาจทำให้วันที่เงินสดของรัฐบาลกลางจะหมดลง หรือที่เรียกว่า ‘X date’ มาเร็วกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารหลายแห่งได้เริ่มเลื่อนประมาณการของ X date เข้ามาใกล้มากขึ้น เช่น Bank of America ได้เลื่อนประมาณการของ X date มาเป็นวันที่ 1 สิงหาคม และอาจมีความเป็นไปได้ที่จะขยับมาเป็นปลายเดือนกรกฎาคม ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า X date อาจจะขยับขึ้นมาเป็นต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งถือว่ามาเร็วกว่าสำนักงานงบประมาณเคยระบุเอาไว้ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ว่างบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน  

 

“หากใช้สถิติเป็นแนวทาง ดูเหมือนประเด็นนี้จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทองมองข้ามไปไม่ได้ YLG จึงแนะนำนักลงทุนเกาะติดประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากการพิจารณาเรื่องงบประมาณและการเพิ่มเพดานหนี้ยืดเยื้อจนใกล้ X date อาจส่งผลให้สินทรัพย์ต่างๆ ตอบสนองคล้ายคลึงกับปี 2011 อย่างไรก็ดี หากประเด็นนี้ถูกแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ก็น่าจะคลายความวิตกในหมู่นักลงทุนเช่นกัน”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X