×

หวยเกษียณ ใกล้คลอด จ่อเข้าสภา วาระ 2-3 วันที่ 23 ก.ค.นี้ ย้ำระยะยาว ช่วยลดภาระรัฐ-สร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ

20.07.2025
  • LOADING...
หวยเกษียณ

หลังจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้จัดงาน “10 ปี กอช. ศุกร์ได้ลุ้น สุขได้ออม กับหวยเกษียณ” ในวันที่ 19 ก.ค. 68 ที่ผ่านมา โดยมีดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยว่า ในยุคที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความผันผวนของระบบการเงินของโลกและการค้าระหว่างประเทศ

 

ดังนั้นการสร้างวินัยการออมในระดับครัวเรือนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับการจัดงานดังกล่าวนับเป็นก้าวใหม่ที่ กอช. ได้นำเสนอ “หวยเกษียณ” ในฐานะนวัตกรรมทางการเงินภายใต้แนวคิด “ซื้อหวยเงินไม่หาย กลายเป็นเงินออม ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมที่คนไทยมีอยู่แล้ว เพื่อให้คนไทยได้ออมเงินกัน

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังมีนโยบายสนับสนุนการออมที่เข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่ง “หวยเกษียณ” จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้สามารถเพิ่มเงินออมของประชาชนทุกคน โดยปัจจุบันร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ กอช. มีหน้าที่และอำนาจในการออกและจำหน่ายหวยเกษียณ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน

 

สำหรับ “สลาก กอช.” หรือ “หวยเกษียณ” เป็นสลากขูดดิจิทัล ราคาฉบับละ 50 บาท เปิดจำหน่ายให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถซื้อได้สูงสุดเดือนละ 3,000 บาท (60 ฉบับ) ผ่านแอปพลิเคชัน “กอช.” โดยออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท (5 รางวัล) รางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท (10,000 รางวัล)

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกรางวัลจะได้รับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยเงินซื้อสลากทุกบาทจะถูกสะสมไว้เป็นเงินออม และผู้ซื้อสลากจะได้รับเงินออม พร้อมผลประโยชน์เป็นก้อนในครั้งเดียว 4 กรณีดังนี้ 

  1. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 
  2. อายุมากกว่า 60 ปี จะได้รับเงินคืนทั้งหมด 

 

ด้าน ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวต่อถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณของประเทศไทยว่า โดยอ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารโลก ว่ารายได้หลังเกษียณที่เพียงพอควรอยู่ที่อย่างน้อย 50–60% ของรายได้ก่อนเกษียณ

 

แต่แรงงานในระบบของไทยมีรายได้หลังเกษียณเฉลี่ยเพียง 41% ขณะที่แรงงานนอกระบบมีรายได้หลังเกษียณต่ำกว่า 5% และมีรายได้ไม่แน่นอน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ภาครัฐต้องหามาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการออม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ในยามเกษียณ

 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อโครงสร้างรายได้ รายจ่ายของภาครัฐ และอาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง

 

ขณะที่รัฐต้องใช้งบประมาณในการดูแลสวัสดิการด้านบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งเบี้ยยังชีพ เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ และเงินสมทบกองทุนการออมเพื่อการเกษียณต่างๆ โดยในปี 2567 ภาครัฐใช้งบประมาณด้านสวัสดิการบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุรวม 500.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2557 ที่ใช้งบประมาณ 253.4 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของงบประมาณ

 

เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว ภาครัฐจึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออมเงินด้วยตนเองผ่านหวยเกษียณ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้และลดภาระงบประมาณของรัฐ โดยโครงการหวยเกษียณ ใช้งบประมาณเงินรางวัลปีละ 780 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณให้กับประเทศปีละ 13,000 ล้านบาท หรือทุก 1 ล้านบาทที่รัฐใช้เป็นเงินรางวัล จะช่วยเพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณได้ถึง 16.6 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising