สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยของผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนมกราคม 2564 ปรับลดลงต่อเนื่อง อันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้น แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกที่ภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
เมื่อแยกดัชนีความเชื่อมั่นตามประเภทร้านค้า พบว่าทุกประเทศต่างลดลงเหมือนกันหมด ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม ยกเว้นร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคมมีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง
สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้างได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับวิถี New Normal ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐและวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ ไม้อัดต่างๆ จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ จึงดีกว่ากลุ่มอื่นๆ
“สมาคมฯ มองว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563” ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวพร้อมเสริมว่า “การฟื้นตัวในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจค้าปลีก ที่สำคัญหากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยการประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากมุมมองผู้ประกอบการ ได้แก่
1. ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขายที่ลดลง 10-30%
2. ผู้ประกอบการระบุว่า ด้วยยอดขายที่หายไปจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้วจนมาระลอกใหม่เมื่อต้นปีนี้ สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า
3. ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563
4. หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561-2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่ามียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%
5. ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง
6. ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน
7. ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์