×

หนี้เสียรายย่อยแตะ 2.99% สูงกว่าช่วงก่อนโควิด แบงก์ชาติพร้อมทบทวน ก่อนเพิ่มจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 10%

21.05.2024
  • LOADING...

จากการแถลงสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) ภาพรวมของ NPL หรือหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยนานติดต่อกันตั้งแต่ 91 วันขึ้นไป ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 2.66% มาเป็น 2.74% เป็นผลจากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

 

ในส่วนของ NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งปล่อยให้กับบุคคลรายย่อยเร่งตัวขึ้นจาก 2.88% มาเป็น 2.99% ถือเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 2.90% โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และส่วนบุคคล 

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้เราเห็นภาพ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ 

 

ทั้งนี้ ภาพรวม NPL ในปัจจุบันคิดเป็นมูลค่า 5.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8 พันล้านบาท โดย NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนมากมาจากกลุ่มของบัตรเครดิต ซึ่งอยู่ที่ 4.13% โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางซึ่งรายได้ฟื้นตัวช้า 

 

“โดยภาพรวมกลุ่มหลักของลูกหนี้ NPL ที่เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มรายได้น้อยประมาณ 15,000-20,000 บาท ส่วนลูกหนี้บ้านที่เป็น NPL เป็นกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท”​

 

ในส่วนของภาพรวมของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศ GDP ไทย ไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อ GDP น่าจะลดลงมาต่ำกว่า 91% หลังจากที่เพิ่มขึ้นเป็น 91.3% เมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมา 

 

ด้วยคุณภาพหนี้โดยรวมที่ด้อยลง ทำให้แบงก์ชาติพยายามผลักดันมาตรการแก้หนี้ ทั้งในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเน้นย้ำให้สถาบันการเงินต่างๆ ให้พยายามติดต่อลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังมีปัญหา ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย และติดต่อหลังจากที่กลายเป็นหนี้เสียแล้ว 

 

ขณะเดียวกันในกลุ่มลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรังและลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ซึ่งมีจำนวน 1.33 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 6.08 หมื่นล้านบาท และจำนวน 4.8 แสนบัญชี ยอดหนี้รวม 1.44 หมื่นล้านบาท แบงก์ชาติพยายามแนะนำให้หลีกเลี่ยงการจ่ายหนี้ด้วยยอดขั้นต่ำ พร้อมกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการ ‘ปิดจบหนี้เรื้อรัง’ เพื่อลดการจ่ายดอกเบี้ยลงในระยะยาว

 

นอกจากเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้ สิ่งที่แบงก์ชาติดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การกระตุ้นการเข้าถึงสินเชื่อ จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ 

 

“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อและแก้หนี้เราเป็นห่วงทั้งคู่ แต่หนี้จะแก้ด้วยหนี้ไม่ได้ ต้องเห็นรายได้กลับมาเหมือนกัน”​ สุวรรณีกล่าว 

 

สำหรับประเด็นการกำหนดอัตราส่วนการจ่ายหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิตเพิ่มเป็น 8% จากที่เคยปรับลดลงไปเหลือ 5% ก่อนหน้านี้ กระทบต่อ NPL บ้างในบางส่วน แต่ไม่ใช่ส่วนหลักที่ทำให้ NPL เพิ่มขึ้น 

 

ส่วนการที่แบงก์ชาติเตรียมปรับเพิ่มตัวเลขการชำระขั้นต่ำจาก 8% เป็น 10% ในช่วงสิ้นปีนี้ สุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด คุยกับผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา และยังมีเวลาจนกว่าจะถึงวันที่มีผลบังคับใช้ในช่วงสิ้นปี”

 

สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมกลับมาเติบโต 0.7% ในไตรมาสแรก จากที่หดตัว 0.3% เมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัว 0.4% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้วมาเหลือ 1.1% ในไตรมาสล่าสุด 

 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจที่วงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาทยังคงหดตัว 5.1% หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising