เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประกาศว่าเครือซีพีตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของเครือให้ได้อย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสาขาของสยามแม็คโคร และศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่นๆ ในเครือซีพี
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
ประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน เครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งอยู่ในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา ภายใต้แบรนด์และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมจำนวนประมาณ 337 ร้านค้า
ศุภชัยกล่าวว่า “ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ นี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งในเครือซีพี”
เพิ่มความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพ
“เพื่อที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกที่ซับซ้อน เราต้องตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำบริษัทในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพีขยายธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจในเวทีระดับโลก หากเมื่อมีการปรับโครงสร้างธุรกิจต่างๆ หลังได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว จะทำให้สยามแม็คโครกลายเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
“การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการตัดสินใจต่างๆ และยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย คือจะช่วยทำให้แม็คโคร และโลตัสส์ มีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว (Agility) ในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับนานาชาติ” ศุภชัยกล่าว
เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป
ในการประชุมคณะกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 31 สิงหาคม คณะกรรมการมีมติเห็นชอบที่จะนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคม เพื่อให้อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จากปัจจุบัน 2,400 ล้านบาท เป็น 5,586 ล้านบาท โดยการเปิดขายหุ้นใหม่ จำนวน 6,372,323,500 หุ้น ที่ราคาพาร์ หุ้นละ 0.5 บาท ซึ่งในจำนวนนั้นจะเป็นการเปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 1,362,000,000 หุ้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเดินหน้าตามแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และแผนธุรกิจอื่นๆ
สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร กล่าวว่า “เราต้องการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจที่มีอนาคตการเติบโตที่น่าตื่นเต้นบนเวทีระดับนานาชาติ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนที่มากขึ้นให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของแม็คโคร โดย บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการเป็นเจ้าของบริษัทให้กับประชาชนทั่วไปถึง 2 เท่า จากเดิมสัดส่วนที่ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเจ้าของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 7% จะเพิ่มเป็นมากกว่า 15% ในขณะที่จำนวนการถือหุ้นของเครือซีพีใน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จะลดลงจาก 93% เหลือประมาณ 85%”
การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทต่างๆ ครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่
“พนักงานทั้งหมด ผู้บริหาร การจัดการและงานประจำวัน ฟอร์แมตธุรกิจ การวางตำแหน่งทางธุรกิจ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และซัพพลายเออร์ จะยังคงอยู่และดำเนินการเช่นเดิม โดยการปรับโครงการธุรกิจครั้งนี้จะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องบุคลากร และจะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของบริษัท ทั้งนี้การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ตามแนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ยังคงต้องผ่านการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น รวมถึงการอนุมัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป” ศุภชัยกล่าว
‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’
นายศุภชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงสร้างใหม่ของธุรกิจค้าปลีกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือซีพีบนเวทีนานาชาติครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ ที่เครือซีพีเพิ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤตโควิด ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้กับบริษัทอื่นๆ จากประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจของพวกเขาให้ได้มากที่สุด
“เราต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกของเราทั่วโลกทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SMEs ไทยนับหมื่นๆ ราย ให้สามารถนำผลผลิตและสินค้าไปขายในต่างประเทศ
“การขยายช่องทางค้าปลีกในตลาดโลกให้มากขึ้นสำหรับสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสด คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสานฝันของประเทศไทยในการเป็น ‘ครัวของโลก (Kitchen of the World)’ โดยร้านค้าของเครือซีพีจะทำหน้าที่เสมือนท่อธุรกิจที่ลำเลียงนำธุรกิจขนาดเล็กๆ จากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดใหม่ได้ พร้อมกับนำผลผลิตและสินค้าของไทยไปนำเสนอ สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของเขาเอง ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์ (Resilience) ให้กับธุรกิจของเรา” ศุภชัยกล่าว
ความท้าทาย
หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับเกษตรกรและผู้ผลิตของไทยที่ต้องเผชิญในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ คือความยากลำบากในการเข้าสู่ระบบการจัดจำหน่ายของประเทศอื่นๆ ซึ่งระบบเหล่านั้นอาจจะสนใจเฉพาะแบรนด์ ผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์รายเดิมๆ นอกจากนั้นการอาศัยพ่อค้าคนกลางจำนวนมากอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย
“เราจะใช้ร้านค้าของเราเองเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศได้สัมผัสกับสินค้าไทยก่อน หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องพิสูจน์ตนเองด้วยคุณภาพ การกำหนดราคา และการตลาด เพื่อสามารถแข่งขันต่อไปได้
“เราสามารถช่วยเกษตรกร SMEs และผู้ผลิตจากประเทศไทย ให้เข้าใจกฎระเบียบท้องถิ่นที่ซับซ้อนของแต่ละประเทศมากขึ้น อันจะช่วยกำจัดอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งให้กับแบรนด์และซัพพลายเออร์จากประเทศไทย” ศุภชัยกล่าว
ยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ประเทศไทยได้รับการยอมรับในวงการค้าปลีกระดับสากล จากการที่ธุรกิจค้าปลีกของไทยสามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมจากสมาคมค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกระดับแลนด์มาร์กในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี อาจจะยังไม่สามารถเทียบกับยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกระดับโลกได้
“ขนาดของธุรกิจ (Scale) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก นั่นคือเหตุผลที่ในโลกปัจจุบัน บริษัทค้าปลีกระดับโลกจะเป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่างผู้ค้าปลีก 2 รายที่ใหญ่ที่สุดของโลก สามารถสร้างยอดขายของแต่ละรายได้มากกว่าขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกของไทยในการไปแข่งขันในระดับโลก
“ผมมั่นใจว่าการร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย การปรับโครงสร้างธุรกิจ และการก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ตลอดจนมีเงินทุนที่เพียงพอ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศที่ค่อนข้างใหญ่ และมีนัยสำคัญได้ในอนาคตอันใกล้นี้” ศุภชัยกล่าว
สุชาดากล่าวว่า “แม็คโครได้สนับสนุนลูกค้าผู้ประกอบการต่างๆ มากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย เช่น ร้านโชห่วย มินิมาร์ท ตลอดจนโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยงอย่างแข็งขัน มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 32 ปี ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เราได้คัดสรรสินค้าที่หลากหลาย ครบครัน มีคุณภาพดี ในราคาขายส่ง เพื่อให้ลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อยสามารถลดต้นทุน ประกอบธุรกิจได้อย่างมีกำไร และเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เรายังมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่คู่ค้าทุกคนวางใจ พร้อมสนับสนุนลูกค้าผู้ประกอบการของเราให้พัฒนาธุรกิจและเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเร่งขยายธุรกิจต่างประเทศของเราในอนาคตจะสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้ารายย่อย (SMEs) และเกษตรกร ผู้ผลิตอาหารสด สินค้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดและเติบโตในเวทีโลกต่อไป” สุชาดากล่าว