×

ตลาดรีเซลเฟื่องฟู จนแบรนด์หรูขอลงมาเล่นเอง

03.02.2023
  • LOADING...

อาจเป็นเพราะตลาดสินค้าหรูหรามือสองเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้แบรนด์หรูหลากหลายเจ้าเริ่มหันมามีส่วนร่วมในตลาดมือสองบ้างแล้ว แม้ว่าในปีที่แล้วจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ แต่ตลาดนี้ก็ยังมีมูลค่าสูงถึง 4.3 หมื่นล้านยูโร (ราวๆ 1.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 จากการศึกษาของ Bain-Altagamma และเติบโตเร็วกว่าตลาดสินค้าหรูหราหลักถึง 4 เท่า โดยอยู่ที่ 12% เทียบกับ 3% ต่อปี 

 

ในอดีตการขายต่อสินค้าหรูมักเกิดขึ้นในร้านบูติกเล็กๆ ในท้องถิ่น แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้เกิดแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มอบประสบการณ์การซื้อ-ขายที่ง่ายและครบวงจร และปฏิเสธไม่ได้ว่าการขายต่อทำให้สินค้าหรูหรากระจายวงออกไปกว้างขึ้นและเพิ่มโอกาสในการหารายได้พิเศษสำหรับผู้ค้า ที่สำคัญคือข้อได้เปรียบในแง่โอกาสสำหรับนักช้อปในการซื้อของหายาก เช่น สินค้าวินเทจ หรือรุ่นลิมิเต็ดเอดิชันที่จำหน่ายหมดเกลี้ยงไปแล้ว 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

ก่อนหน้านี้แบรนด์หรูส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตลาดการขายต่อ อีกทั้งยังลังเลที่จะกระตุ้นการขายซ้ำ เนื่องจากกลัวว่าจะแย่งยอดขายของใหม่และทำให้ความพิเศษของแบรนด์ลดลง แต่มีปัจจัยความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งความนิยมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืนและราคาย่อมเยาลง โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นสินค้าใหม่หรือเก่า รวมถึงความนิยมของลิมิเต็ดเอดิชันและการควบคุมอุปทานของแบรนด์ ยิ่งทำให้ตลาดมือสองยิ่งเติบโตขึ้น ซึ่งผู้เล่นหลักในปัจจุบันคือเว็บไซต์ขายต่อต่างๆ จนแบรนด์เริ่มปรับกระบวนการด้วยการลงมาเล่นเองหรือหาพันธมิตรทางธุรกิจ 

 

ปัญหาหลักๆ ของแพลตฟอร์มขายต่อคือเรื่องของความเชื่อมั่น และได้พยายามที่จะแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด อย่างเช่น Vestiaire Collective ก็จ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบสินค้าหรูหราและเปิดตัวโครงการ ‘Brand Approved’ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อรับรองความถูกต้อง ส่วนในปี 2021 eBay ก็เปิดตัว ‘Authenticity Guarantee’ หรือการรับประกันของแท้สำหรับรองเท้าผ้าใบและนาฬิการะดับไฮเอนด์ ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขาย ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงขยายไปที่กระเป๋าหรูในเดือนพฤษภาคม 2022 โดยสินค้าที่มีราคาสูงกว่า 500 ดอลลาร์ (ราวๆ 16,500 บาท) จะได้รับการตรวจสอบโดยทีมผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะส่งไปยังผู้ซื้อ 

 

ในขณะที่แบรนด์ก็รู้ถึงข้อได้เปรียบจุดนี้และลงมาเล่นในสนามเอง อย่างเช่น เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Rolex ประกาศทำโครงการซื้อ-ขายนาฬิการีเซลของตัวเอง และได้วางขายไปบ้างแล้วผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่าง Bucherer ในยุโรป แม้ราคาจะสูงกว่าตลาดนาฬิกามือสองทั่วไป แต่ก็สร้างความมั่นใจให้กับนักสะสมมือใหม่ ผนวกกับผลพลอยได้ที่ว่าผู้ที่เคยซื้อแบรนด์จากตลาดมือสองก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นลูกค้าหน้าใหม่ของตลาดหลักในอนาคตด้วย ปัจจุบันเริ่มมีผู้ผลิตนาฬิกาอิสระอีกหลายเจ้าหันมาทำโปรแกรมรีเซลของตัวเองแล้วเช่นกัน

 

และบางแบรนด์อาศัยความร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ ในรูปแบบการรับประกัน เช่น Balenciaga ที่ร่วมมือกับ Reflaunt บริษัทที่มีแพลตฟอร์ขายต่อถึง 25 แพลตฟอร์มรับซื้อและวางจำหน่ายสินค้าของ Balenciaga โดยมีการการันตีจากแบรนด์ ส่วน Valentino เน้นไปที่จุดประสงค์ด้านความยั่งยืนด้วยการจับมือกับร้านวินเทจตามหัวเมืองใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่เน้นรับซื้อสินค้าของตัวเองกลับมาบูรณะใหม่ให้ตรงกับมาตรฐานเดิม เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของแบรนด์เอาไว้อีกทางหนึ่ง 

 

Rolex Certified Pre-Owned (C.P.O.)

หลังเปิดตัวโปรแกรมรีเซลไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการรับรองนาฬิกา Rolex มือสองที่ผ่านการตรวจสอบ ปรับปรุงใหม่ และตรงตามข้อกำหนดมาตรฐานของแบรนด์ ตอนนี้ Rolex มือสองที่ได้รับการการันตี ก็เริ่มการวางจำหน่ายแล้วที่ร้าน Bucherer ในสวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, เดนมาร์ก และอังกฤษ สังเกตได้ว่านาฬิกา Rolex ในโปรแกรมมือสอง สูงกว่าในช่องทางการขายมือสองอื่นๆ ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับลูกค้ามือใหม่ที่ต้องการความมั่นใจ แต่สำหรับนักสะสมนาฬิกาที่ช่ำชองที่สามารถซื้อผ่านตัวแทนที่รู้จักในราคาที่ดีกว่า โปรแกรมนี้ก็อาจไม่มีผลสักเท่าไร ปัจจุบันผู้ผลิตนาฬิกาอิสระจำนวนหนึ่งก็จัดการโปรแกรมมือสองที่ผ่านการรับรองของตนเองแล้ว เช่น MB&F และ F.P. Journe 

 

 

Cartier Tradition

Cartier เริ่มต้นโครงการสินค้าวินเทจเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 1996 ในชื่อ Cartier Tradition ส่วนใหญ่จะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 20,000 ดอลลาร์ขึ้นไป (ราวๆ 650,000 บาท) และจะแสดงให้กับลูกค้าวีไอพีที่ได้รับเลือกในระหว่างการแสดงเครื่องประดับชั้นสูง โดยทุกชิ้นจะใช้วัสดุที่ถูกต้อง รวมทั้งเทคนิคการผลิตให้เหมือนหรือใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด แต่ละชิ้นมาพร้อมกับรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ ประวัติการออกแบบ และทุกขั้นตอนของกระบวนการบูรณะที่นำมาใช้ 

 

 

Gucci Vault 

พื้นที่ที่รวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ Gucci เอาไว้ด้วยกันในรูปแบบ WEB 3.0 ที่จะมีสินค้านอกเหนือจากที่วางจำหน่ายทั่วไป ทั้งแคปซูลคอลเล็กชัน NFTs ต่างๆ รวมทั้งสินค้าวินเทจที่กลายเป็นของหายากน่าสะสม และบางชิ้นก็จะถูกนำมาปรับใหม่ด้วยวัสดุที่ร่วมสมัยมากขึ้นอีกด้วย

 

 

Balenciaga Re-Sell Program

Balenciaga ร่วมกับ Reflaunt ทำโปรแกรมขายต่อ โดยลูกค้าสามารถฝากสินค้ามือสองในร้านที่ร่วมรายการ จากนั้นผลิตภัณฑ์จะได้รับการรับรองความถูกต้อง กำหนดราคา ถ่ายภาพ และลงรายการในเครือข่ายของ Reflaunt ซึ่งมีแพลตฟอร์มการขายต่อรองมากกว่า 25 แพลตฟอร์ม เมื่อซื้อ-ขายสินค้าแล้ว ลูกค้าสามารถรับชำระด้วยเงินสดหรือแลกรับเครดิตร้านค้าในมูลค่าที่สูงขึ้น 20% และใช้เครดิตได้ที่ร้าน Balenciaga 15 แห่ง

 

 

Valentino Vintage

แบรนด์แฟชั่นจากอิตาลีเปิดตัวโครงการรับซื้อคืนสินค้าวินเทจในชื่อ Valentino Vintage โดยลูกค้าสามารถนำสินค้าของ Valentino ไปยังร้านบูติกที่รวมโครงการทั้ง Madame Pauline Vintage (มิลาน), The Vintage Dress (โตเกียว), New York Vintage (นิวยอร์ก) และ Resurrection Vintage (ลอสแอนเจลิส) เพื่อรับการประเมินและนำมาแลกกับของอื่นๆ โดยมีจุดประสงค์ทั้งตอบสนองความต้องการของมือสองที่เพิ่มขึ้นและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X