เมื่อวานนี้ (9 พฤศจิกายน) กลุ่มวิจัย Climate Action Tracker หรือ CAT ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลและติดตามการดำเนินมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลนานาประเทศ ได้เผยแพร่ผลวิเคราะห์ล่าสุด พบว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 2.4 องศาเซลเซียสภายในช่วงศตวรรษนี้ แม้ว่ารัฐบาลของทุกประเทศจะสามารถบรรลุเป้าหมายลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายภายในปี 2030
ผลวิเคราะห์ดังกล่าว ถูกเผยแพร่ออกมาในขณะที่ผู้แทนรัฐบาลของทั่วโลก กำลังอยู่ระหว่างการร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ โดย CAT ชี้ว่าคำมั่นสัญญาในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่นานาประเทศให้ไว้ในระหว่างการประชุมนั้น ยังคงไม่สามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ได้ภายในปี 2100 ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement)
“แม้จะมีคำสัญญาใหม่ๆ ของกลาสโกว์สำหรับปี 2030 แต่เราก็จะแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2 เท่าในปี 2030 การดำเนินนโยบายที่ทำอยู่นั้นคืบหน้าด้วยระดับการก้าวเดินของหอยทาก” ข้อมูลในผลวิเคราะห์ของ CAT ระบุ พร้อมชี้ว่า “ด้วยนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบัน โลกจะร้อนขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส”
จากการวิเคราะห์ของ CAT พบว่า ในทุกสถานการณ์อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ในศตวรรษนี้ ซึ่งสถานการณ์ในแง่บวก ที่เป้าหมายระยะยาวของบางประเทศ สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้เป็น 0 หรือ Net Zero ได้ภายในปี 2050 จะส่งผลให้สามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ที่ 1.8 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม CAT เตือนถึงความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายระยะยาว เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินนโยบายระยะสั้นหรือผ่านกฎหมายที่จำเป็นเพื่อลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะที่ บิลล์ แฮร์ ซีอีโอของ Climate Analytics หนึ่งในองค์กรวิจัยที่เข้าร่วมกับ CAT ชี้ว่าคำสัญญาของผู้นำในที่ประชุม COP26 ที่จะลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2030 นั้นไม่เพียงพอ ซึ่งตามเป้าหมายนี้ คาดว่าจะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นราว 2.4 องศาเซลเซียส
โดยแฮร์ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ระดับ 2.4 องศาเซลเซียสนั้นจะเป็นหายนะที่แท้จริง ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะคลื่นความร้อนที่อุณหภูมิสูงมาก ตลอดจนเกิดความแห้งแล้งที่รุนแรง กระทบต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตร และในระยะยาวจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นหลายเมตร
“ภาพรวมจะดีกว่าเล็กน้อย หากคุณเพิ่มเป้าหมายที่เหลือเชื่อ อย่างเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งจะทำให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ลดลงมาที่ 2.1 องศาเซลเซียส แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ คือนโยบายและการดำเนินการที่รัฐบาลต่างๆ มีอยู่ตอนนี้ จะผลักดันให้โลกร้อนขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างสิ่งที่รัฐบาลให้สัญญาและสิ่งที่พวกเขากำลังทำ” แฮร์ กล่าว
ภาพ: Photo by Lukas Schulze / Getty Images
อ้างอิง: