บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เปิดเผยรายงานการศึกษาฉบับล่าสุดที่พบว่า อุตสาหกรรมตลาดอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีแนวโน้มจะขยายตัวเติบโตมากกว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ถ้าหากว่าบรรดาร้านค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในภูมิภาคให้การสนับสนุนผู้ประกอบการผู้หญิงในอาเซียนมากขึ้น
เอมี ลูนสตรา (Amy Luinstra) ผู้จัดการโครงการเพศสภาพประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของ IFC กล่าวต่อสถานีโทรทัศน์ CNBC ระบุว่า ด้วยคุณสมบัติที่ไม่ต้องเผยตัวตนของตลาดอีคอมเมิร์ซ จึงช่วยลดอุปสรรคต่อการก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจที่ผู้ประกอบการผู้หญิงมักต้องประสบเจอ กระนั้นการเป็นผู้หญิงในวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็ยังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่นักธุรกิจชายดูจะมีโอกาสมากกว่า
ทั้งนี้ ตัวแทนจาก IFC ได้เรียกร้องให้บรรดาอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ในอาเซียนหาทางให้การสนันสนุนผู้ค้าที่เป็นผู้หญิงให้สามารถจับตลาดได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายการให้ทุนแก่ผู้ประกอบการหญิง การให้การฝึกอบรม และการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าร่วมในธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับอีคอมเมิร์ซที่มีบริการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ เอมีระบุชัดว่าจะถือเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากที่อีคอมเมิร์ซทั้งหลายจะให้โอกาสผู้ประกอบการหญิงให้มากขึ้น โดยให้การช่วยเหลือและทำให้หญิงแกร่งเหล่านี้ตระหนักว่ามีความช่วยเหลือด้านเงินทุนในส่วนนี้อยู่ และสมควรต้องใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างเต็มที่
ความเห็นครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางอุตสาหกรรมธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ผู้หญิงเป็นกลุ่มประชากรที่เสียโอกาสและเสียประโยชน์จากการระบาดมากกว่าผู้ชาย
ผลการศึกษาในครั้งนี้ ทาง IFC ดำเนินการเก็บข้อมูลจาก Lazada โดยพบว่าในปี 2019 มีผู้ประกอบการหญิงเข้าร่วมธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทว่าตัวเลขดังกล่าวลดอย่างมากในช่วงปี 2020 ที่มีการระบาด เนื่องจากผู้หญิงต้องแบกรับภาระหน้าที่ดูแลครอบครัว ทำให้มีเวลาจำกัดจนต้องลดกิจกรรมค้าปลีกออนไลน์ของตนเองลง ยกตัวอย่างเช่น กรณีฟิลิปปินส์ ที่ในช่วงปี 2019 พบว่า 64% ของผู้ค้า หรือ Seller ใน Lazada คือผู้หญิง ทว่าการระบาดทำให้ผู้ค้าผู้หญิงลดลงไปถึง 27%
เอมีสรุปว่า ผู้หญิงถือเป็นกลุ่มผู้ค้าที่แอ็กทีฟ และมีแนวโน้มจะทำให้อีคอมเมิร์ซของอาเซียนกลับมาคึกคักได้หลังยุคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคึกคักที่จะทำให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคโตกว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้อีคอมเมิร์ซทั้งหลายเห็นความสำคัญของผู้ค้าผู้หญิงด้วย
ทั้งนี้ IFC เป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก หรือ World Bank Group ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1956 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่มีส่วนหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ครอบคลุมทั้งด้านการเงิน เทคนิค และด้านการจัดการ ปัจจุบัน IFC มีสมาชิกรวม 174 ประเทศ
อ้างอิง: