เมื่อวานนี้ (25 เมษายน) ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ. ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ‘Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19’ ซึ่งจัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ วันที่ 5-9 เมษายน 2563, วันที่ 18-19 เมษายน 2563 และช่วงวันที่ 22-24 เมษายน 2563 แต่ถามความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มเดิม และพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ในช่วงแรกหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ก็พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกพื้นที่ให้ความร่วมมือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรียกว่าเป็น ‘ความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรม’ และมีถึงประมาณ 80% จากทั้ง 18 จังหวัด ที่คาดหวังว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองต่างๆ ลงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอาจจำเป็นต้องผ่อนคลายลงหรือเปิดเมืองบางพื้นที่ตามความคาดหวังของประชาชน และจำเป็นต้องอธิบายหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจนด้วยว่า เหตุผลที่เปิดหรือยังปิดบางจังหวัดเป็นเพราะอะไร
ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารในภาพรวมของประเทศ และรู้ข้อมูลในภาพรวมพอๆ กันทุกพื้นที่ แต่ไม่รู้ข้อมูลในระดับท้องถิ่นของตัวเอง เช่น สามารถตอบได้ว่ามีผู้ติดเชื้อในภาพรวมกี่คน เสียชีวิตกี่คน แต่ตอบไม่ได้ว่าในจังหวัดของเขาเองมีผู้ติดเชื้อกี่คน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประชาชนมีความคาดหวังว่าจะ ‘เปิดเมือง’ ได้เหมือนๆ กันทุกพื้นที่ เพราะไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกในแต่ละพื้นที่ว่ามีความอ่อนไหวแตกต่างกัน และงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบข้อมูลที่สำคัญว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการให้ความร่วมมือกับมาตรการทางสาธารณสุขอย่างมาก โดยพบว่าคนที่มีรายได้น้อย จะพร้อมยอมรับความเสี่ยงจากการต้องติดเชื้อได้มากกว่า และพร้อมจะเดินทางย้ายจังหวัดทันทีหากมีบางจังหวัดที่เปิดเมืองก่อน ซึ่งในทางกลับกันก็หมายความว่า หากรัฐบาลบริหารมาตรการช่วยเหลือทางการคลังได้ดี ก็จะช่วยลดการอพยพคนข้ามจังหวัด และช่วยระงับการแพร่ระบาดได้
“จากงานวิจัยเราจะเห็นว่า คนที่ยิ่งมีรายได้น้อย จะยิ่งยอมรับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มาก เมื่อเราถามต่อว่า หากมีการเปิดเมืองบางจังหวัดจะทำอย่างไร ได้คำตอบว่า ผู้มีรายได้น้อยเกือบทั้งหมดพร้อมจะย้ายไปทำงานยังจังหวัดที่ประกาศเปิดเมือง เพราะถ้าเขาไม่ออกนอกบ้านก็จะไม่มีกิน จึงยอมเสี่ยงกับโควิด-19 มากกว่าที่จะยอมอด และเมื่อถามว่าเงิน 5,000 บาทที่ได้รับเพียงพอไหม พบว่าคนมีรายได้น้อยบอกว่า 5,000-10,000 บาท เพียงพอ ดังนั้นจึงหมายความว่าเงิน 5,000 บาทที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยให้คนไม่อพยพย้ายเมืองได้ ดังนั้นเงินที่นำมาแจก เมื่อนำมาผนวกกับมิติของสาธารณสุข ก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ แต่คำถามคือ ถ้ามีคำสั่งให้เปิดบางจังหวัด จะยังจ่าย 5,000 บาทอยู่หรือเปล่า ถ้านำประเด็นทางสาธารณสุขไปผนวกกับมาตรการการคลังดีๆ ก็จะป้องกันการระบาดได้”
งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาแยกกลุ่มประชากรเป็น 4 กลุ่มคือ คนเมือง คนจนเมือง คนชนบท และคนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งพบว่าทั้ง 4 กลุ่มมีองค์ความรู้ต่อสถานการณ์ในภาพรวมไม่ต่างกัน ทัศนคติต่อการปฏิบัติต่างๆ ตามมาตรการไม่ต่างกัน แต่ ‘มีข้อจำกัดในการปฏิบัติต่างกัน’ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมือง มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกับครอบครัวซึ่งไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ เพราะมีจำนวนสมาชิกในบ้านสูงกว่าจำนวนห้องนอน และยังมีค่าเฉลี่ยจำนวนห้องน้ำต่อบ้านน้อยที่สุด ส่วนกลุ่มคนในชายแดนใต้ แม้จะมีจำนวนสมาชิกในบ้านมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็มีจำนวนห้องนอนในบ้านมากกว่าเมื่อเทียบกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มคนชนบท
งานวิจัยนี้จึงเสนอทางออกว่า ความพร้อมของแต่ละพื้นที่ที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องสำรวจความพร้อมของประชาชน โดยหากเปิดเมืองต้องปฏิบัติให้ได้ใน 3 แนวทางคือ หากพบผู้ติดเชื้อ ต้องมีมาตรการส่งตัวถึงแพทย์และกักตัวผู้ใกล้ชิดโดยเร็ว ต้องมีสถานที่กักตัวทั้งในระดับ State Quarantine และ Local Quarantine ซึ่งถือว่าจะมีบทบาทสำคัญมากในการแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาจากชุมชน และต้องมีกระบวนการสื่อสารให้สังคมเข้าใจผู้ติดเชื้อไม่ให้ถูกรังเกียจ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า